ที่มา: http://dubaicityofgold.com
|
อุตสาหกรรมการค้าอัญมณีและเครื่องประดับจัดเป็นตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE แต่ละปีคาดว่ามีมูลค่าการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในประเทศราว 6 หมื่นล้านเดอร์แฮม (AED) หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของภาคการค้าที่มิใช่น้ำมัน (non-oil trade) ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทยนั้น UAE จัดเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกของไทยไปยัง UAE ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 คิดเป็นเป็นมูลค่าราว 340 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
ทั้งนี้ในปี 2018 ที่กำลังจะมาถึงได้มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญต่อการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของ UAE ที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลก 2 เรื่อง ได้แก่ การออกกฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศ รวมทั้งการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับเครื่องประดับทอง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การออกกฎหมายควบคุมคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับใน UAE
ดูไบ ได้รับสมญานามว่าเป็น City of Gold โดยเฉพาะที่ตลาดค้าทอง หรือ Gold Souk เพียงย่านเดียว ก็มีร้านเครื่องประดับเรียงรายราว 300 ร้านค้า โดยเกือบทั้งหมด (95%) จำหน่ายเครื่องประดับทอง โดยกว่าจะประสบความสำเร็จแบบปัจจุบันได้นอกจากปัจจัยเรื่องคุณภาพของเครื่องประดับทองที่เป็นเรื่องสำคัญแล้ว ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการโปรโมทและการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมก็มีความสำคัญยิ่งเช่นกัน ในการส่งเสริมให้ UAE มีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ในด้านมาตรฐานของเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าทั้งของ UAE และดูไบก่อนจะตราเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ มีข้อกำหนดให้เครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน และแพลทินัม จะต้องได้รับการประทับตรา (Stamp) รับรองค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าลงบนเครื่องประดับก่อนออกจำหน่าย โดยแต่ละร้านสามารถประทับตรารับรองค่าความบริสุทธิ์เองได้ จึงทำให้เกิดข้อแคลงใจในมาตรฐานดังกล่าวว่าสามารถเชื่อถือได้หรือไม่
การสุ่มตรวจเครื่องประดับจึงเป็นการแก้ปัญหาทางหนึ่ง โดยร้านขายปลีกเครื่องประดับถูกควบคุมมาตรฐานโดยรัฐบาล กล่าวคือ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพของอัญมณีและเครื่องประดับมีบริการตรวจสอบ 2 แบบ ได้แก่ ลูกค้าทั่วไปส่งมาตรวจเอง (Private Sample) และการสุ่มตรวจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Inspection Sample) ซึ่งทางร้านจะถูกปรับหากการสุ่มตรวจพบว่าเครื่องประดับที่วางขายไม่มีการประทับตรารับรองค่าความบริสุทธิ์ หรือค่าความบริสุทธิ์ไม่ตรงกับที่ระบุไว้ แต่การควบคุมดังกล่าวใช้เฉพาะที่ดูไบเท่านั้น
ยกระดับมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับของทั้งประเทศด้วยการตราเป็นกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและรักษาระดับมาตรฐานเครื่องประดับของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก จึงมีการตราเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการภายใต้ Federal Law No.11 of 2015 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2018 มีเนื้อหาสาระว่าเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าทุกชิ้นจะต้องได้รับการประทับตราสัญลักษณ์ Hallmark โดยระบุทั้งค่าความบริสุทธิ์ และน้ำหนักลงบนเครื่องประดับ ส่วนอัญมณีทุกเม็ดที่วางจำหน่ายต้องได้รับการรับรองคุณภาพ (Certificate) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน รวมทั้งอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างร้านค้าปลีกก็ต้องมีป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน
หากไม่ปฎิบัติตามมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ภายใต้กฎหมายดังกล่าวหากมีการลอกเลียนหรือปลอมแปลง Hallmark สำหรับเครื่องประดับจากโลหะมีค่า รวมทั้งปลอมแปลงเอกสารการรับรอง (Certificate) คุณภาพอัญมณี จะมีโทษจำคุกอย่างน้อย 2 ปี และปรับ 5 แสนเดอร์แฮม ถึง 1 ล้านเดอร์แฮมหรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่มีสัญลักษณ์ Hallmark และไม่มีเอกสารการรับรอง จะมีโทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี และปรับ 2.5 แสนเดอร์แฮม ถึง 5 แสนเดอร์แฮม หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากข้อความใน Hallmark และเอกสารการรับรองไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้วจะถูกปรับระหว่าง 1 แสนเดอร์แฮม ถึง 5 แสนเดอร์แฮม
UAE เตรียมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) สำหรับเครื่องประดับทอง 5%
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที