GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 27 พ.ย. 2017 07.57 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7660 ครั้ง

“เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์” มณีนพเก้า ที่สุดแห่งอัญมณีเสริมมงคล ติดตามบทความอื่นๆ ของศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มเติมได้ที่ http://infocenter.git.or.th


มณีนพเก้า ที่สุดแห่งอัญมณีเสริมมงคล

มนุษย์เรานั้นรู้จักการนำอัญมณีมาใช้ประดับตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงามมาแต่ครั้งโบราณกาล ทั้งยังนิยมนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง ด้วยมีความเชื่อว่าอัญมณีชนิดต่างๆ มีคุณสมบัติในทางมงคล สามารถปกป้องคุ้มครองภัยและนำพาความผาสุกสวัสดีมีโชคมาสู่ผู้สวมใส่ ความเชื่อดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่แผ่กระจายอยู่ทั่วทุกสารทิศ ทั้งในแถบตะวันตก ตะวันออก หรือแม้แต่ในอารยธรรมกรีก และอียิปต์โบราณ ก็ล้วนแต่มีความเชื่อในพลังของอัญมณีด้วยกันทั้งสิ้น

สำหรับในประเทศไทยนั้นคาดว่าความเชื่อในพลังของอัญมณีได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยอัญมณีซึ่งจัดว่าเป็นสิริมงคลสูงสุดในบรรดาอัญมณีทั้งปวงในตำราความเชื่อของไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 9 ชนิด ซึ่งรู้จักกันในนามของ ‘นพเก้า’ หรือ ‘นพรัตน์’ ประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์ หรือที่เราท่องจำกันจนติดหูติดปากว่า

“เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์”

 

  แหวนนพเก้า

 

ทั้งนี้ คำว่า “นพรัตน์” นั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของชื่อกรุงเทพมหานคร* เมืองหลวงของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระราชทานนามโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โดยทรงเปรียบให้กรุงเทพเป็นดั่งเมืองสวรรค์ เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ไปด้วยแก้วเก้าประการ

และด้วยความเชื่อที่ว่านพเก้าเป็นของสูง ในอดีตอัญมณีทั้ง 9 นี้จึงมีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เท่านั้น ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้กำหนดให้นำนพเก้ามาประดับตกแต่งบนเรือนแหวนเรียกว่า แหวนนพเก้า สำหรับพระราชทานให้แก่พระราชวงศ์ รวมถึงเพื่อปูนบำเหน็จให้แก่ขุนนาง ข้าราชการ และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน

ปัจจุบันเครื่องประดับตกแต่งด้วยนพเก้าโดยเฉพาะแหวนนพเก้า เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยเชื่อกันผู้ที่มีนพเก้าไว้ในครอบครองก็เท่ากับมีมงคลติดตัว ด้วยเหตุที่ว่าอัญมณีทั้ง 9 ชนิดนี้ มีคุณสมบัติในทางมงคลที่แตกต่างกัน ดังนี้
 

เพชรยิ่งใหญ่ไพรีไม่มีกล้ำ                ทับทิมนำอายุยืนเพิ่มพูนผล
     อุดมลาภยศศักดิ์ประจักษ์ดล                  มรกตกันภัยพ้นผองเล็บงา
            บุษราคัมฉาบเสน่ห์ไม่เสแสร้ง          โกเมนแจ้งแคล้วพาลภัยใจสุขา
     ไพลินย้ำความร่ำรวยช่วยนำพา               มุกดาหารเสน่หาน่าเมียงมอง
            อันเพทายช่วยกันโทษที่โฉดเขลา     ไพฑูรย์เล่ากันฟอนไฟภัยทั้งผอง
     ดลบันดาลให้เทวามาคุ้มครอง                 สบสนองคุณค่าแจ้งแห่งนพรัตน์      

 
แม้ว่ามณีนพเก้าจะนำพาความเป็นสิริมงคลมาสู่ผู้ครอบครอง แต่การจะหวังพึ่งพาพลังของอัญมณีแต่เพียงอย่างเดียวก็ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก เนื่องจากสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นผลมาจากกรรม หรือการกระทำของแต่ละบุคคลด้วยกันทั้งสิ้น มนุษย์เรานั้นหากประพฤติดี ก่อกรรมดี ก็ย่อมส่งผลดีอันจะนำมาซึ่งความสุขกายสบายใจ แต่หากก่อกรรมชั่วแล้วไซร้ ก็ย่อมส่งผลลัพธ์ในทิศทางที่กลับกัน ดั่งคำพระท่านว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี่คือสัจธรรม
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 
--------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. นพรัตน์ หรือนพเก้า อัญมณีมงคล 9 ชนิด คู่อารยะธรรมไทย. GIT Magazine. ฉบับที่ 20 เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2560.
2. นพรัตน์: ความเชื่อแห่งเครื่องประดับ. กรมธนารักษ์. (13 กันยายน 2560). http://emuseum.treasury.go.th/article/368-nopparat.html
3. อัญมณีสิริมงคล 9 อย่าง. (6 กุมภาพันธ์ 2557). http://id5615066001039.blogspot.com/2014/02/diamond-10-magma-ruby-corundum-ratanraj.html
4. กรรมดีและกรรมชั่ว: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี. ธรรมะไทย. http://www.dhammathai.org/karma/dbview.php?No=57
 

 


*กรุงเทพมหานคร มีชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที