การแจ้งเกิดของเครื่องประดับสมาร์ทไฮเทค
นาฬิกาสมาร์ทวอตช์ (Smartwatches) และเครื่องติดตามกิจกรรมของร่างกาย (Activity Trackers) กลายเป็นกระแสของฤดูกาลก่อนไปแล้ว Talia Paz รายงานถึงเครื่องประดับสมาร์ท (Smart Jewellery) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเหตุผลที่ผู้ขายควรใส่ใจกระแสนี้
ตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับสวมใส่พัฒนาไปไกลกว่าสมาร์ทวอตช์และเครื่องติดตามที่เกะกะเทอะทะเมื่อหลายปีก่อน นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมนี้ชี้ว่างานออกแบบสมาร์ทวอตช์ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่อุปกรณ์สำหรับสวมใส่อีกรูปแบบหนึ่งก็กำลังได้รับความสนใจ
เครื่องประดับสมาร์ทเริ่มปรากฏขึ้นจากการผสมผสานความหลงใหลในการเชื่อมต่อเข้ากับสไตล์ เครื่องประดับสมาร์ทหมายถึงกลุ่มสินค้าประเภทแหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ และต่างหู ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพ ความสามารถในการทำงาน และการสื่อสาร ทั้งนี้โดยยังคงให้ความสำคัญกับแฟชั่นเป็นอันดับแรก ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดในกลุ่มนี้ลดลูกเล่นให้น้อยลงและเน้นให้สวมใส่ได้ง่ายขึ้น เพื่อทำลายความคิดที่ว่าสินค้ากลุ่มนี้ไม่สามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้ และช่วยยืนยันถึงเหตุผลในการจัดให้สินค้ากลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มเครื่องประดับ
Bellabeat เป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งนำเสนออุปกรณ์เทคโนโลยีที่เน้นด้านรูปลักษณ์ความงาม เครื่องประดับชุด Leaf ของ Bellabeat เปิดตัวในปี 2014 เป็นจี้รูปใบไม้ที่ทำจากไม้สังเคราะห์กับเงินหรือสเตนเลสสตีลชุบทองสีกุหลาบ โดยสามารถใส่เป็นสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอก็ได้ ผลิตภัณฑ์ชุดนี้ได้รับการประชาสัมพันธ์ว่าเป็น ‘อุปกรณ์สวมใส่ชิ้นแรกของโลกที่ทำนายความเครียดได้’ โดยจะคอยติดตามกิจกรรมประจำวันของผู้สวมใส่ เช่น จำนวนก้าว การเผาผลาญแคลอรี รูปแบบการนอน และสุขอนามัยเจริญพันธุ์
เครื่องประดับชุด Leaf ของ Bellabeat
ในขณะเดียวกัน กำไล Eyecatcher ของ Looksee Labs ก็เป็นเครื่องประดับสมาร์ทที่พัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงแฟชั่นและความเชื่อมโยงทางอารมณ์ สร้อยข้อมือนี้ออกแบบมาทั้งสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย และสามารถปรับแต่งให้แสดงผลได้ทั้งรูปถ่ายส่วนตัว การแจ้งเตือนจากโทรศัพท์แบบเรียลไทม์ รวมถึงหน้าปัดนาฬิกาแบบต่างๆ
Per Ljung ผู้ก่อตั้ง Looksee Labs เชื่อว่า ตลาดยังมีช่องว่างสำหรับอุปกรณ์เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้และเน้นแฟชั่นเป็นหลัก
“ปัจจุบันนี้อุปกรณ์สวมใส่แทบทุกแบบเน้นเรื่องการใช้งานเป็นหลัก” Ljung กล่าว “หมายความว่าบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้เพิ่มเซนเซอร์แบบต่างๆ ลงไปเพื่อติดตามข้อมูลกิจกรรม สุขภาพ สถานที่ และการนอนหลับของผู้สวมใส่ แต่ตัวผลิตภัณฑ์ยังมีมูลค่าต่ำและไม่ค่อยเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้ใช้”
Looksee Labs
Ljung อธิบายว่าการเน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกระหว่างตัวเจ้าของกับสินค้าเป็นแก่นสำคัญในการพัฒนาสร้อยข้อมือ Eyecatcher
“ด้วยการผสมผสานศิลปะ แฟชั่น และเทคโนโลยี เราตระหนักว่าสามารถสร้างสิ่งที่เป็นมากกว่าส่วนขยายจากสมาร์ทโฟน” เขากล่าว “เราแน่ใจว่าคนอื่นๆ จะตระหนักในไม่ช้าว่าสินค้าที่ผสมผสานการใช้งานขั้นสูงเข้ากับความผูกพันทางอารมณ์นั้นย่อมมีระดับเหนือกว่า”
แนวทางนี้น่าจะตรงใจบรรดาเจ้าของร้านเครื่องประดับแบบดั้งเดิม เครื่องประดับเป็นสินค้าทางอารมณ์และการเน้นความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเครื่องประดับกับผู้สวมใส่ก็นับเป็นเทคนิคการขายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเทคนิคหนึ่ง
ธุรกิจเครื่องประดับสมาร์ทที่ประสบความสำเร็จรายหนึ่งในตลาดนี้ก็คือ Ringly หลังจากเปิดตัวเมื่อราวสี่ปีก่อน บริษัทเทคโนโลยีที่เน้นความทันสมัยรายนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่าง Vogue และ InStyle จากการผลิตงานออกแบบที่ทันเทรนด์
ผลิตภัณฑ์เริ่มต้น ได้แก่ แหวนชุบทอง 18 กะรัตหรือชุบโรเดียมที่สามารถแสดงการแจ้งเตือนสายเรียกเข้าและข้อความ นับจากนั้นบริษัทก็ได้ขยายผลิตภัณฑ์ให้มีสร้อยข้อมือสมาร์ทที่มีคุณสมบัติต่างๆ เช่น การติดตามข้อมูลกิจกรรม การสอนทำสมาธิและเทคนิคการหายใจ ทั้งแหวนและสร้อยข้อมือตกแต่งด้วยอัญมณีหลากหลายประเภท เช่น ฮาวไลต์ ลาบราดอไรต์ หยกสีม่วง และมูนสโตน
Christina Mercando d’Avignon ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ringly กล่าวว่า การสร้างอุปกรณ์ที่ผสมผสานเทคโนโลยีกับสไตล์เข้าไว้ด้วยกันนับเป็นความท้าทายเสมอมา แต่ปัจจุบันสิ่งนี้มีความจำเป็นในสังคมที่มีการติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา
Ringly
“Ringly ก่อตั้งขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีสามารถประสานรวมกับชีวิตของเราได้อย่างกลมกลืนเพื่อที่คุณจะได้เชื่อมโยงถึงกันโดยไม่ต้องเสียสไตล์ส่วนตัวไป” เธออธิบาย
Mercando d’Avignon กล่าวด้วยว่า อุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับสวมใส่มีจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์ในอุตสาหกรรมสินค้าหรูหรา “แนวคิดเรื่องสินค้าหรูหราและความสัมพันธ์กับสินค้าเทคโนโลยีสำหรับสวมใส่นั้นน่าสนใจ เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถมอบประสบการณ์ที่แตกต่าง ไม่เหมือนกับเครื่องประดับหรือสินค้าตกแต่งร่างกายแบบดั้งเดิม อุปกรณ์ใหม่ๆ เหล่านี้ช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างสมดุล และมีสุขภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งในความเห็นของฉันถือเป็นความหรูหราขั้นสูงสุด”
ความสัมพันธ์ระยะยาว
Maia Adams เป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยสากลที่ Adorn Insight บริษัทวิจัยผู้ให้บริการข้อมูลทางการตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เธอเชื่อว่าเครื่องประดับสมาร์ทเป็นมากกว่ากระแสที่ผ่านมาแล้วผ่านไปและเป็นสินค้าที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง เนื่องจากเทคโนโลยีการย่อส่วนซอฟต์แวร์ก็มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“การที่ Richline Group และ Fossil เพิ่งซื้อกิจการอุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับสวมใส่อย่าง Viawear และ Misfit ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้เล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของตลาดนี้” Adams กล่าว
นอกจากนี้ Adams เสนอว่าเครื่องประดับสมาร์ทอาจเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างยอดขายจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ “เมื่อพูดถึงการเจาะตลาดชาวมิลเลนเนียลไปจนถึงคนรุ่น Gen Z ที่ใช้จ่ายกับอุปกรณ์เทคโนโลยีมากกว่าแต่ก่อน การผสมผสานระหว่างความรู้ทางแฟชั่นกับความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในอุปกรณ์สำหรับสวมใส่อาจช่วยดึงคนกลุ่มนี้กลับมายังตลาดเครื่องประดับ” เธออธิบาย
Paola De Luca นักวิเคราะห์คาดการณ์และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ TrendVision Jewellery and Forecasting เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้าหมวดนี้กับคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน “เครื่องประดับสมาร์ทมุ่งเป้าหมายไปยังคนรุ่นมิลเลนเนียลเป็นหลัก” De Luca กล่าว โดยเสริมว่าสินค้าหมวดนี้ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับเพศและวัยด้วย
ขยายอาณาเขต
ขณะที่เครื่องประดับสมาร์ทมักเน้นไปยังชิ้นงานซึ่งสามารถแสดงผลการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนและติดตามข้อมูลด้านสุขภาพ ก็ยังมีการใช้งานด้านอื่นๆ ที่ช่วยลดเส้นแบ่งระหว่างเครื่องประดับและเทคโนโลยีด้วย
Leah Heiss เป็นนักออกแบบในเมลเบิร์นที่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายแวดวงเพื่อสร้างเครื่องประดับสมาร์ทซึ่งมีจุดประสงค์ทางการแพทย์ ตามรายงานใน Jeweller เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 ผลงานหนึ่งของ Heiss ได้แก่ สร้อยคอและแหวนที่มีเข็มฉีดอินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
Heiss กล่าวว่าโครงการสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานยังไม่ได้รับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ แต่ได้กลายเป็น “วัตถุสำหรับจัดแสดงและสร้างบทสนทนา” ที่ช่วยเปิดประเด็นว่าเทคโนโลยีนี้น่าจะมีหน้าตาและการใช้งานในชีวิตประจำวันในลักษณะใด
Leah Heiss
นักออกแบบรายนี้เคยทำงานในโครงการต่างๆ มากมาย เช่น สร้อยคอ Smart Heart ที่ช่วยตรวจจับการทำงานของหัวใจ และเครื่องช่วยการได้ยินที่มีจุดประสงค์เพื่อนำความงามและความเป็นเครื่องประดับมาใช้กับเทคโนโลยีซึ่งแต่เดิมถูกนำไปเชื่อมโยงกับความแก่ชรา
“งานของฉันอยู่นอกแวดวงการขายทั่วไปค่ะ” Heiss กล่าว โดยเสริมว่าโครงการของเธอนั้นมักตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีทางการแพทย์ หน้าที่ใช้สอย และความงามของผลิตภัณฑ์ “ทำไมเราถึงไม่สามารถมีอุปกรณ์ที่ประสานเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของเรา อย่างเช่นสร้อยข้อมือหรือแหวนที่เราชอบ ทำไมอุปกรณ์ทางการแพทย์ถึงจะต้องสนใจแต่เรื่องการใช้งานและการทำความสะอาดโดยไม่คำนึงถึงเอกลักษณ์ส่วนบุคคลของเราเลย” เธอถาม
อุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่มีประโยชน์ใช้สอยทางการแพทย์ก็คือต่างหูที่จัดการกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ แนวคิดซึ่งพัฒนาโดย Tamara Mills และ Courtney Condren ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในรัฐควีนสแลนด์ ร่วมกับ Abhishek Appaji วิศวกรเวชศาสตร์ชีวภาพ เพิ่งชนะรางวัลในงาน Global Entrepreneurship Bootcamp ซึ่งจัดโดย Massachusetts Institute of Technology (MIT) Mills กล่าวว่ายังคงมีที่ทางสำหรับเครื่องประดับสมาร์ทในร้านเครื่องประดับแบบดั้งเดิมในอนาคต “อุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับสวมใส่ได้ซึ่งถูกจัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์และเบิกจ่ายได้ในระบบสาธารณสุขของรัฐหรือเอกชนนั้น มักจัดจำหน่ายผ่านทางร้านขายยา” เธออธิบาย “แนวทางนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตเมื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์รวมเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เสื้อผ้า และเครื่องประดับ”
ต่างคนต่างมุมมอง
ดูเหมือนว่าเครื่องประดับสมาร์ทจะมีหนทางให้นำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่สิ้นสุด มีแม้กระทั่งสร้อยข้อมือสเตนเลสสตีลสำหรับผู้ชายที่มีเครื่องมือชนิดต่างๆ มาให้ด้วย ทั้งประแจหกเหลี่ยม ไขควง และที่เปิดขวด จึงนำไปสู่คำถามที่ว่าสิ่งเหล่านี้ควรจัดเป็นเครื่องประดับหรือไม่
Adams เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น “ฉันคิดว่าอุปกรณ์สำหรับสวมใส่สามารถเรียกว่าเป็นเครื่องประดับได้ สำหรับฉันกุญแจสำคัญคือการถอยห่างจากรูปลักษณ์เครื่องประดับที่ดูเป็น ‘สินค้าแฟชั่น’ และค่อนข้างเน้นลูกเล่น ซึ่งดูเหมือนจะครองแวดวงเทคโนโลยีอยู่ในเวลานี้ สิ่งที่น่าตื่นเต้นเป็นพิเศษคือการได้เห็นอุตสาหกรรมเครื่องประดับนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องประดับระดับสูงเพื่อใส่เทคโนโลยีลงไป”
Ljung กล่าวว่าเครื่องประดับสมาร์ทมาจากแนวคิดที่ว่า เราสามารถใส่ “ความมหัศจรรย์” ลงไปในเครื่องประดับแบบดั้งเดิมได้ ขณะที่ De Luca เชื่อว่าความหมายของเครื่องประดับนั้นถูกกำหนดโดยผู้สวมใส่
“เครื่องประดับคือสิ่งที่ผู้คนมองว่าเป็นเครื่องประดับ มันอาจเป็นกระดาษ ไม้ โลหะมีค่า หรือพลาสติกก็ได้” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า “เครื่องประดับสมาร์ท ซึ่งเป็นการประสานเทคโนโลยีลงไปในวัตถุสำหรับสวมใส่ ก็นับได้ว่าเป็นเครื่องประดับเช่นเดียวกัน”
ข้อโต้เถียงที่ว่าเครื่องประดับควรมีลักษณะอย่างไรบ้างนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และผู้คนต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าเครื่องประดับคือวัตถุที่มีจุดประสงค์เพื่อการตกแต่งเป็นอันดับแรก เนื่องจากจุดประสงค์อันดับแรกของอุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับสวมใส่นั้นไม่ใช่การตกแต่ง ผู้เชี่ยวชาญบางรายในอุตสาหกรรมนี้จึงเชื่อว่าเครื่องประดับสมาร์ทไม่ใช่เครื่องประดับตามความหมายแบบดั้งเดิม
ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าอุปกรณ์เชื่อมต่อเหล่านี้จะมีที่ทางอยู่ในร้านเครื่องประดับแบบดั้งเดิมหรือไม่ แม้ว่าผลิตภัณฑ์บางชิ้น อย่างเช่น Bellabeat จะมีวางขายตามร้านค้าแบบดั้งเดิมอยู่แล้วก็ตาม ไม่ว่าอย่างไร การติดตามพัฒนาการของตลาดนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
------------------------------------------
ที่มา: “The smart jewellery breakthrough.” by Talia Paz. JEWELLER. (August 2017).
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : การแจ้งเกิดของเครื่องประดับสมาร์ทไฮเทค