ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเร่งปรับตัวให้ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ไทย
หนึ่งในความท้าทายที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยต้องเผชิญในการทำตลาดภายในประเทศคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากพลวัตในมิติต่างๆ ของโลกที่เข้ามามีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศ และยังมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปอีกในอนาคตข้างหน้า ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หรือเมกะเทรนด์ (Megatrends) ของตลาดในประเทศนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระยะต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเติมความรู้ให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดผู้บริโภคในประเทศ เพื่อจะได้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดให้ตอบโจทย์ได้ตรงใจลูกค้า และจะยังสามารถคงพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดในประเทศต่อไปได้ในอนาคต
Gen Y ขยายตัว...เกาะกระแสดีมานด์เฉพาะตัวเพิ่มโอกาสธุรกิจ
เช่นเดียวกับทิศทางตลาดโลก คนกลุ่ม Gen Y หรือกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วงปี 1981-2000 ซึ่งเป็นหนุ่มสาววัยทำงานและเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ กำลังเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดไทย จากงานวิจัยของ SCB Economic Intelligence Center ประเมินว่า จำนวนคนกลุ่ม Gen Y ในไทย (ซึ่งหมายถึงกลุ่มประชากรอายุ 15-34 ปี ในปี 2015) มีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ราวร้อยละ 28 ของประชากรไทยทั้งหมด อีกทั้งจะยังคงเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดของไทยในอนาคตอีกด้วย ขณะที่รายได้ของคนกลุ่ม Gen Y ไทยค่อนข้างสูงแม้จะอยู่ในวัยหนุ่มสาว กอปรกับยังมีอัตราการใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่ม Gen Y ไทยมีส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 5 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของรายได้รวมประเทศ โดยคน Gen Y ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท และมีรายจ่ายในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของรายได้
ด้านพฤติกรรมการบริโภคของคนกลุ่ม Gen Y ของไทยค่อนข้างคล้ายคลึงกับชาวตะวันตกในแง่ของความคล่องตัวทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารไร้สายพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คน Gen Y ไทยสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลและหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้บริโภค Gen Y ไทยมักใช้เวลาไปกับการท่องโลกอินเทอร์เน็ต ชื่นชอบการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นกลุ่มคนช่างเลือก และมักแสวงหาข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าอยู่เสมอ ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องความรู้ส่อง โอกาส สร้าง อาชีพ โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ร่วมกับบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซ็นต์ จำกัด ระบุว่าคนกลุ่ม Gen Y ไทยมีระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ต 3 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวันถึงร้อยละ 85 ของจำนวนกลุ่มตัวอย่าง และร้อยละ 45 มีระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งช่องทางการรับรู้ข่าวสารอันดับ 1 คือ Facebook มีสัดส่วนถึงร้อยละ 73 รองลงมา คือ เว็บไซต์ข่าวต่างๆ ร้อยละ 11 และโทรทัศน์ร้อยละ 8 นอกจากนี้ กลุ่มคน Gen Y ยังให้ความสำคัญกับการเสพประสบการณ์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะต้องการบ่งบอกตัวตนและสร้างความแตกต่างจากคนอื่น อีกทั้งยังต้องการสินค้าและบริการที่สามารถปรับแต่งตามความต้องการได้เอง เนื่องจากมีความต้องการที่ซับซ้อนและช่างเลือกมากขึ้นเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง
ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของคนกลุ่ม Gen Y ไทยซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคในประเทศขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งยังมีอัตราการใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้และมีความต้องการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นมากขึ้นกว่าในอดีต จึงนับว่าเป็นโอกาสอย่างมากต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับตลาดศักยภาพกลุ่มนี้ และปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะตัวของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y ไทย ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม Gen Y ไทยได้เป็นอย่างดี อาทิ การเพิ่มช่องทางการทำตลาดผ่านช่องทางสื่อใหม่ๆ อย่างจริงจังมากขึ้น เช่น สื่อสังคมออนไลน์ โฆษณาออนไลน์และบล็อก เพื่อเสริมสื่อช่องทางเดิมและช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งผู้ประกอบการอาจอาศัยประโยชน์จากสื่อออนไลน์ในการโปรโมทสินค้าให้มีความน่าสนใจและทันสมัย เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำเสนอสินค้าและดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ทั้งยังสามารถแชร์ข้อมูลให้ผู้อื่นได้รับรู้เป็นวงกว้างได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการตลาดแบบบอกต่อ (Viral Marketing) ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ควรเน้นดีไซน์และความพิถีพิถันให้เหนือความคาดหวังของ Gen Y แต่ยังต้องอยู่ในราคาที่เอื้อมถึง ขณะเดียวกันการทำให้แบรนด์สามารถครองใจและเป็นที่สะดุดตาเพื่อสร้างความประทับใจครั้งแรกต่อสินค้า พร้อมตอกย้ำความประทับใจนั้นให้ต่อเนื่องด้วยการให้บริการหลังการขายที่ดี เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยมัดใจผู้บริโภค Gen Y ให้กลับมาซื้อซ้ำและยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อว่าสินค้านั้นดีเพียงใด เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นคนช่างเลือก มีความลังเลใจต่อการเลือกซื้อสินค้าและมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตัวเลือกได้ง่าย นอกจากนี้ การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการเลือกซื้อสินค้า เช่น การผูกโยงเรื่องราวต่างๆ เข้ากับสินค้า การบอกประวัติความเป็นมาหรือนำไปอิงกับเรื่องราวความเชื่อของคนเพื่อทำให้เกิดคุณค่าทางใจที่สูงขึ้น การออกแบบเว็บไซต์ให้ลูกค้าสามารถเลือกชมและลองเครื่องประดับแต่ละแบบผ่านทางออนไลน์ได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างประสบการณ์เสมือนจริงหรือ VR (Virtual Reality) เข้ามาใช้ ทำให้ผู้ซื้อได้มีประสบการณ์ร่วมและได้สัมผัสแบรนด์ในแง่มุมที่แปลกใหม่มากขึ้น
ที่มา: Artemis Crafted
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเครื่องประดับชาวไทยที่เจาะตลาดลูกค้ากลุ่ม Gen Y ไทยโดยเฉพาะ และใช้กลยุทธ์การผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคของกลุ่ม Gen Y อย่างเหมาะสม อาทิ Artemis Crafted ที่นำเสนอแหวนที่ออกแบบสไตล์ Art Deco ที่ให้กลิ่นอายของความเรียบหรู คลาสสิคในยุคปี 1920 พร้อมการผสมผสานรูปทรงเรขาคณิตและศิลปะสมัยใหม่ลงในชิ้นงาน อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ของแหวนที่ผู้สวมใส่ต้องประกอบเองและยังสามารถปรับไซส์ของแหวนเองได้ด้วยการไขน๊อต ทำให้แบรนด์สามารถตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการแต่งตัวอย่างมีสไตล์และดูดีมีมูลค่าด้วยเครื่องประดับดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังมีลูกเล่นของชิ้นงานที่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ โดนใจคนรุ่น Gen Y ที่นิยมประสบการณ์ใหม่ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
กลุ่มผู้สูงอายุ...อีกหนึ่งตลาดศักยภาพไทยที่ไม่ควรมองข้าม
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2005 (องค์การสหประชาชาตินิยามว่าสังคมผู้สูงอายุหมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ) ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี 2005 ไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10.4 และมีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (ประเทศที่มีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงปี 2024-2025 อันเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และโภชนาการอาหารที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยอายุยืนยาวขึ้น สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดผู้สูงอายุในไทยจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับแนวโน้มการขยายอายุเกษียณทำให้ผู้สูงอายุทำงานนานขึ้น การทำงานยืดหยุ่นขึ้น รายได้และกำลังซื้อมากขึ้น ฉะนั้นสินค้าที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุในไทยจึงยังมีความต้องการรออยู่ข้างหน้าอีกมาก
หากเจาะไปถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้สูงอายุไทย มักต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรงยาวนาน สนใจการดูแลตัวเองมากขึ้น ต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ต้องการประสบการณ์ใหม่ให้กับชีวิต รวมถึงต้องการความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นในการจับจ่ายซื้อสินค้า นอกจากนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุไทยเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาและสนใจค้นหาข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งแนวโน้มที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเช็คข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตก่อนตัดสินใจซื้อสินค้ามีอัตราสูงขึ้น สอดคล้องกับการที่กลุ่มผู้สูงอายุเริ่มใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น เช่น แท็บเล็ตหน้าจอใหญ่ เพื่อการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นและค้นหาข้อมูลในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ที่มา: CUFF
นอกเหนือจากสินค้าและบริการที่ช่วยดูแลสุขภาพและเสริมความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงของตลาดผู้สูงอายุแล้ว สินค้าประเภทแฟชั่น รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ยังสามารถตอบโจทย์ผู้สูงวัยยุคนี้ได้ดี เพราะยังต้องการเกาะกระแสแฟชั่นและยังอยากคงความหนุ่มสาวอยู่เสมอ ดังนั้น การเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ให้ตรงใจ ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยควรเน้นการสร้างความน่าเชื่อถือด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ตลอดจนคำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น ติดป้ายสินค้าด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่และสีเด่นชัดเหมาะสมต่อการมองเห็น เพิ่มระดับความสว่างของแสงไฟในร้านค้าเพื่อทำให้ลูกค้ามองเห็นสินค้าได้ชัดเจนขึ้น มีทางเดินกว้างเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดิน และสินค้าควรวางบนชั้นที่ระดับความสูงพอเหมาะต่อการเอื้อมหยิบ เป็นต้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับบริการก่อนและหลังการขายเพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อสินค้า อีกทั้งการนำเสนอสินค้าผ่านสื่อออนไลน์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ส่งสารไปถึงผู้สูงอายุได้ เนื่องจากผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์มากขึ้น โดยมุ่งเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่สื่อสารตรงเป้าไปยังผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เช่น การเลือกนายแบบ/นางแบบรุ่นใหญ่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์สวมใส่เครื่องประดับ เพื่อสร้างความรู้สึกพิเศษให้กับลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ขณะที่การซื้อขายผ่าน E-Commerce ที่มีบริการจัดส่งถึงบ้านยังเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกต่อการเดินทางออกจากบ้านได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้าให้เชื่อมโยงกับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุยังเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าสนใจของสินค้าแฟชั่น ซึ่งมีผู้ประกอบการต่างชาติเริ่มเจาะตลาดประเภทนี้แล้ว อาทิ บริษัทจิวเวลรี่ไฮเทคอย่าง Cuff ที่ผลิตเครื่องประดับฝังชิปขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นความปลอดภัยให้กับเหล่าผู้สูงอายุ เป็นต้น
E-Commerce ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคดิจิทัล
เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับโครงข่ายการสื่อสารด้านโทรคมนาคมในประเทศที่ขยายตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคในไทยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การแชร์ข้อมูลและการซื้อสินค้าที่ผู้บริโภคไทยยุคใหม่อาศัยช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ดังนั้น การขยายช่องทางการตลาดใหม่ในรูปแบบ E-Commerce จึงสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ จากรายงานการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในปี 2016 โดย PayPal (ผู้นำด้านการชำระเงินแบบดิจิทัลระดับโลก) และ Ipsos เปิดเผยว่าผู้บริโภคชาวไทยมียอดใช้จ่ายออนไลน์ (ทั้งในประเทศและข้ามประเทศ) ราว 325.6 พันล้านบาทในปี 2016 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 376.8 พันล้านบาทในปี 2017 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านอุปกรณ์มือถือ 141.7 พันล้านบาทในปี 2016 และ 173.6 พันล้านบาทในปี 2017 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนอุปกรณ์มือถือที่เพิ่มมากขึ้น ผนวกกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุปกรณ์มือถือใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากแบ่งตามประเภทสินค้าที่มีการซื้อออนไลน์ข้ามประเทศของผู้บริโภคไทยแล้วจะพบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 เป็นการซื้อสินค้าแฟชั่น อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ทั้งยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่จะขยายช่องทางการตลาดทางออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ รวมถึงยังสนองตอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีวัตถุประสงค์ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ Value–Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งมีการศึกษาว่าหากผู้ประกอบการแบบดั้งเดิมสามารถยกระดับตนเองสู่องค์กรดิจิทัลได้จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนและทำให้ประสิทธิภาพและผลผลิตในการทำงานดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยเพิ่มผลกำไรให้แก่ผู้ประกอบการได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สินค้าประเภทเครื่องประดับมีมูลค่าสูง ผู้บริโภคส่วนมากจะยังคงนิยมใช้ร้านค้าเป็นช่องทางหลักในการซื้อสินค้า เนื่องจากต้องการไปเห็นสินค้าจริงด้วยตัวเองจากร้านค้ามากกว่า แต่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยอาจใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายในระยะเวลาที่รวดเร็ว และยังให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่าด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าช่องทางโฆษณาผ่านสื่อแบบดั้งเดิม ขณะที่เครื่องประดับแฟชั่นที่มูลค่าไม่สูงนักสามารถใช้ช่องทาง E-Commerce เข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการความสะดวกรวดเร็วของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตลอดจนถึงการชำระเงินและขนส่ง ซึ่งส่งผลให้ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจจากการซื้อสินค้าลดลง ทั้งนี้ นอกจากการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ของตนเองแล้ว การสื่อสารผ่าน Platform ที่ตรงกับพฤติกรรมลูกค้าในไทยก็ยังเป็นช่องทางที่น่าสนใจและเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว เช่น Facebook, Line, Instagram รวมถึง Market Place ที่มีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก เช่น Alibaba Group, Tarad.com และ Weloveshopping เป็นต้น
นอกจากนี้ การพัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถรองรับการทำงานบนโทรศัพท์มือถือยังมีความสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคไทยยุคใหม่เข้าถึงช่องทางออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น ทำให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดรูปภาพและข้อมูลสินค้าที่อยู่ในรูปมัลติมีเดียต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือการทำตลาดที่จะกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ เช่น เครื่องมือโฆษณาของ Google และ Facebook ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการได้มาก พร้อมทั้งต้องหาช่องทางในการนำเสนอสินค้าและบริการแบบใหม่ๆ ให้ตรงใจผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งนิยมการหาข้อมูลและรีวิวจากบล็อกหรือวีดีโอมากขึ้น หรืออาจนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดความแปลกใหม่ต่อแบรนด์ อาทิ VR (Virtual Reality) ซึ่งสามารถจำลองสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้สมจริง หรือจำลองจากจินตนาการด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้บริโภคได้อย่างเหนือระดับ และสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
เปิดเสรีการค้าเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคของตลาดไทย
นอกจากแนวโน้มกระแสการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว กระแสการเปิดเสรีทางการค้าของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้า ทั้งที่มีการบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน และความตกลงที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอนาคต ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีส่วนสร้างแรงกดดันต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม และการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าต่างๆ แม้ว่าด้านหนึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการค้าของผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจากการได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดอุปสรรคด้านภาษีศุลกากรแล้ว แต่ในขณะเดียวกันไทยก็ต้องให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่สินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าเช่นกัน ซึ่งหากเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับนำเข้ามาเพื่อนำมาผลิตเป็นส่วนประกอบในชิ้นงานเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในแง่ของการมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงและอาจก่อให้เกิดกำไรได้มากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะทำให้สินค้าจากประเทศคู่ค้าเข้ามาแข่งขันในตลาดในประเทศได้ในราคาที่ต่ำลงเช่นเดียวกัน และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ตัวอย่างมีให้เห็นจาก ภายหลังความตกลงการค้าเสรีไทย-อาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) มีผลบังคับใช้ ทำให้เครื่องประดับทองจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์เข้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องประดับทองของไทยภายใต้ข้อตกลงทางการค้า และส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจสินค้าที่มีความแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่มีอยู่ในตลาด ทำให้สินค้านำเข้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคไทยและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับตัวให้ทันกับกระแสการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และอยู่ในระดับราคาที่จับต้องได้ อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการนำนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิต ส่งผลให้ส่วนต่างกำไรให้ของบริษัทเพิ่มขึ้น และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดในประเทศได้เช่นกัน
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเร่งปรับตัวให้ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ไทย