อ.สมิต

ผู้เขียน : อ.สมิต

อัพเดท: 07 ก.พ. 2007 09.38 น. บทความนี้มีผู้ชม: 160909 ครั้ง

ต้องมีอะไรบ้าง


การธำรงรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ

การธำรงรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ

                                                                                                       สมิต  สัชฌุกร

           

            ความคิดในการธำรงรักษาบุคลากรเป็นบทบาทของผู้บริหารที่จะต้องทำ  เพื่อให้บุคลากรที่ดีมีคุณภาพได้อยู่ทำคุณประโยชน์ให้แก่องค์กรได้นานเท่าที่จะนานได้  เพราะหากไม่รักษาคนดีมีความสามารถเอาไว้  องค์การย่อมจะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองเติบโตไปได้ยาก  การธำรงรักษาบุคลากรเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาและผู้บริหาร  มิใช่เป็นงานของฝ่ายบุคคลโดยลำพัง  การธำรงรักษาบุคลากรจะช่วยให้เกิดการเพิ่มผลผลิตได้ในที่สุด

            การธำรงรักษาบุคลากรจะต้องส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของบุคคลให้สูงยิ่งขึ้น  เพื่อให้บุคลากรอยู่กับองค์การอย่างมีคุณค่าและมีแผนพัฒนาความก้าวหน้าในงานอาชีพของผู้ซึ่งมีศักยภาพสูง  บุคลากรก็จะมีความรักองค์การและรักงานที่ทำ  ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจทำงานเต็มความสามารถ  ผลิตผลงานที่ดีออกมา  ฝ่ายบริหารก็จะต้องดูแลให้ความเป็นธรรมและยอมรับในผลงานของผู้ปฏิบัติงานงานดี

            การรับพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน  จะต้องใช้เวลาฝึกสอนงาน  ให้ความรู้และทักษะในการทำงานซึ่งมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล  ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าจะได้ผลงานที่เกิดประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพเท่าคนเดิมที่เป็นผู้ที่มีความสามารถพร้อมที่จะทำงานให้เกิดผล

 

            ความสำคัญของการธำรงรักษาพนักงาน

 

            การธำรงรักษาพนักงานมีคุณค่าเป็นพิเศษ  ทำให้องค์การมีบุคลากรที่ดีมีความสามารถและความชำนาญจัดเจนเพิ่มจำนวนมากขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ลดอัตราการเข้าออกงาน  ทำให้ไม่ต้องมีภาระในการสอนงานพนักงานใหม่  เกิดทีมงานที่มั่นคงมีความรักความผูกพันและเข้าใจกัน  พนักงานที่มีทักษะในงานสูงสามารถช่วยแบ่งเบาหน้าที่งานให้แก่ผู้บังคับบัญชาได้มากกว่าพนักงานที่อยู่ระหว่างการเรียนรู้งาน  ทำให้ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติงานหรือมีปัญหาน้อยมาก  เพราะพนักงานจะมีความชำนาญมากกว่าพนักงานเข้าใหม่  องค์การจะเกิดการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง  เพราะมีพนักงานที่รู้งานเป็นงานมีความชำนาญสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในงานใหม่ ๆ ได้  ทำให้สามารถปลูกฝังทัศนคติที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ  ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา  อันจะเป็นผลให้สามารถลดเวลาและค่าใช้จ่าย  ทำให้ไม่เกิดความติดขัดหยุดชะงัก  งานสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง  สร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานรักงานที่ทำและรักองค์การ  เป็นการเตรียมกำลังคนสำหรับอนาคต  ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีเพราะมีพนักงานที่ทำงานอยู่กับองค์การเป็นเวลานาน  แสดงให้เห็นว่าองค์การให้ความเป็นอยู่ที่ดีมีความอบอุ่นมั่นคง  เป็นผลให้มีผู้ต้องการมาสมัครงานใหม่มาก  โดยอาศัยพนักงานเก่าช่วยแนะนำกันมา

           

สาเหตุที่พนักงานลาออก

           

การออกงานมีหลายสาเหตุ  ถ้าเป็นการไล่ออก  ปลดออก  หรือให้ออก  ก็ย่อมมีสาเหตุมาจากการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน  แต่การที่พนักงานลาออกก็จะมีสาเหตุที่ต้องค้นหาความจริงให้พบ  เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้พนักงานคนอื่นต้องลาออกไปด้วยสาเหตุเดียวกันอีก  เพราะตราบใดที่สาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข  ผลของสาเหตุก็จะต้องเกิดตามมาอีก  และปัญหาก็จะยังคงอยู่  ไม่หมดสิ้นไป

            สาเหตุที่พนักงานลาออกตามที่พนักงานได้ตอบแบบสอบถาม  หรือให้เหตุผลในหนังสือขอลาออกหรือจากการสัมภาษณ์พนักงานที่ลาออกจากงาน (Exit Interview) มีทั้งที่เป็นจริง  และอาจไม่เป็นจริง  เนื่องจากเหตุผลหลายประการ  อาจเป็นด้วยผู้ขอลาออกเห็นว่าตนจะลาออกอยู่แล้วไม่ต้องการเสียเวลาอะไรก็ตอบไปพอให้เสร็จเรื่อง  เว้นเสียแต่ว่าได้มีการทำความเข้าใจกันได้ว่าเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนพนักงานที่ยังอยู่จะได้ไม่ต้องลาออกด้วยสาเหตุเดียวกันอีก  เป็นการช่วยเพื่อนที่เคยร่วมงานกันมา

            สาเหตุของการลาออกจากงานเท่าที่ประมวลได้จากการสอบถามและการสัมภาษณ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  มีดังต่อไปนี้

1.      ไม่พอใจอัตราค่าจ้าง

2.      งานไม่ตรงกับสายวิชาที่เรียนมา

3.      งานหนัก

4.      ที่พักอยู่ไกลที่ทำงาน  และเดินทางไม่สะดวก

5.      ที่ทำงานอบอ้าวอุดอู้  คับแคบอากาศร้อน

6.      เสียงดัง

7.      ไม่มีค่าล่วงเวลา

8.      ผู้บังคับบัญชาไม่เอาใจใส่พนักงาน

9.      เข้ากับผู้ร่วมงานไม่ได้

10.  ผู้บังคับบัญชาตำหนิรุนแรงหรือดุด่า

11.  ทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิ

12.  ไม่พอใจสวัสดิการ

13.  ไม่มีความก้าวหน้าในงานที่ทำ

14.  สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี

15.  ผู้บังคับบัญชาไม่สอนงานดีแต่ดุว่า

16.  มีความคาดหวังในงานสูงและผิดหวัง

17.  มีแต่ตำหนิไม่มีคำชม

18.  ขาดความอบอุ่นใจ

19.  ผู้บังคับบัญชามีอคติ

20.  กลับไปช่วยงานที่บ้านต่างจังหวัดในฤดูทำนา

21.  การชักจูงจากเพื่อนในที่ทำงานซึ่งมีรายได้สูง

22.  เบื่องานและผู้บังคับบัญชา

23.  ได้งานที่ดีกว่า  ค่าตอบแทนสูงกว่า

24.  ได้รับข้อเสนอตำแหน่งสูงกว่าเดิม

 

ถ้าจะประมวลสาเหตุใหญ่ ๆ ก็อาจสรุปได้ว่า  ไม่พอใจงาน  ผู้บังคับบัญชา  ค่าตอบแทนและสภาพการจ้าง  แต่การป้องกันปัญหาจะต้องวิเคราะห์เจาะลึกไปถึงข้อเท็จจริงแต่ละกรณี

สาเหตุที่มักใช้เป็นข้ออ้างซึ่งมีทั้งจริงและไม่จริง  แต่เป็นการตอบแบบสอบถามเพื่อให้เกิดความสบายใจด้วยกันทุกฝ่าย ได้แก่

1.      ศึกษาต่อ

2.      ประกอบอาชีพส่วนตัว

3.      เป็นไปตามความต้องการของครอบครัว

4.      บ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน  เดินทางไม่สะดวก

5.      สุขภาพร่างกายไม่สามารถทำงานประเภทนี้ได้

 

นอกจากที่กล่าวถึงข้างต้นแล้วก็มีการอ้างสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้อีกมาก  ซึ่งจะต้องอาศัยเทคนิคการสัมภาษณ์ที่แยบยล  จึงจะค้นพบสาเหตุที่แท้จริงนำมาปรับปรุงสภาพการจ้างเพื่อรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพและองค์การไม่ต้องการจะสูญเสียไป

 

การแก้ไขสาเหตุที่พนักงานลาออก

 

ทุกคนในองค์การมีส่วนช่วยแก้ไขหรือขจัดสาเหตุที่พนักงานลาออกได้  ไม่ควรผลักภาระให้คนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใด  การแก้ไขที่ดีก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดสาเหตุที่จะทำให้พนักงานลาออก  ในส่วนของพนักงานหากมีความคิดที่จะช่วยแก้ไขสาเหตุของการลาออก  ก็สามาถทำได้ด้วยการทำงานกันเป็นทีม ส่วนผู้บังคับบัญชาก็ต้องปรับปรุงวิธีการปกครองบังคับบัญชาให้ถูกต้องเหมาะสม  ให้ความเป็นธรรม  แบ่งงานอย่างยุติธรรม  ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  และไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา  ระมัดระวังการเกิดอคติและความลำเอียง  ประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเชื่อถือได้และเที่ยงตรง  ส่งเสริมความก้าวหน้าให้แก่พนักงานผู้มีศักยภาพสูง  และมีผลการปฏิบัติงานสูง  เป็นพี่เลี้ยงเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน  เสริมสร้างขวัญกำลังใจ  ให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความสุขจากความสำเร็จในการทำงาน  และให้ได้รับเกียรติและการยกย่องจากการปฏิบัติตนและปฏิบัติงานดีเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้สึกตนว่ามีคุณค่าต่อทีมงาน  สร้างความยึดเหนี่ยวทางจิตใจ  และให้ความเป็นกันเอง  ทำให้ทุกคนสนุกกับงาน  ให้คำชึ้แนะสอนงานให้ทำงานได้ถูกต้องสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย  ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องต่างๆ เท่าที่สามารถจะทำได้  หมั่นสังเกตความเป็นอยู่การดำเนินชีวิตการงาน  และสอบถามความไม่สบายใจ  พร้อมทั้งความคิดในการแก้ไขปัญหา  ให้ความเห็นใจในความทุกข์ร้อน  มีความเมตตากรุณา  ทำตัวเหมือนพี่เหมือนน้อง  ไม่ข่มขู่ข่มเหงบีบคั้นจิตใจ  สร้างแรงจูงใจในการทำงาน  ให้โอกาสแสดงความคิดเห็น ถ้านำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์มากน้อยเท่าใดก็แจ้งให้ทราบ

ในฐานะเพื่อนพนักงานก็มีส่วนช่วยแก้ไขสาเหตุที่พนักงานลาออกได้มาก  จากความใกล้ชิดและความไว้วางใจที่มีต่อกัน  สามารถให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานร่วมกัน  ช่วยปลอบโยนและให้ความหวังให้เกิดกำลังใจในยามทุกข์ยาก  ผิดหวัง  สร้างแรงจูงใจให้โอกาสแสดงความคิดเห็นในการทำงานร่วมกันเป็นทีม  ช่วยให้เพื่อนที่ท้อแท้ต่องานซึ่งยากลำบากได้ทำงานจนสำเร็จ  และถ้าเห็นว่าปริมาณงานมากในบางครั้งก็นำมาช่วยทำเป็นการแบ่งเบา  แต่ถ้าเห็นว่างานมากและหนักเกินกำลังจริง ๆ ก็ควรจะเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาว่าปริมาณงานมาก  เกินกว่าที่จะทำลำพังผู้เดียวได้  ควรแบ่งงานเสียใหม่  และเฉลี่ยกระจายงานไปทั่วๆ ถ้าเกลี่ยงานไม่ได้ต้องเสนอให้พิจารณาเพิ่มอัตรากำลังหรือนำงานบางอย่างส่งให้บุคคลภายนอกรับจ้างทำ  เพื่อนพนักงานที่รักและหวังดีต่อกัน  จะช่วยยึดเหนี่ยวไม่ให้พนักงานลาออกโดยง่าย  เพราะติดเพื่อนและทำงานเข้าทีมกันได้อยู่แล้ว

ในฐานะฝ่ายจัดการ  จะต้องค้นหาสาเหตุของการลาออกของพนักงานให้พบ  และสามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้  เพื่อจะหาทางแก้ไขที่สาเหตุ  เพราะการแก้ไขที่ปลายเหตุหรือแก้ไขด้วยการหว่านล้อม  เกลี้ยกล่อม  ชักจูงให้เห็นแก่ส่วนรวม  ที่จะขาดกำลังคนที่ดีมีความสามารถอาจจะไม่ได้ผล  เพราะผู้ที่ลาออกจะนึกย้อนว่าเมื่อก่อนหน้าที่ตนจะตัดสินใจลาออก  ทำไมไม่เห็นคุณค่าของตน  เพิ่งจะมาคิดถึงคุณค่าเมื่อจะจากไปอยู่แล้ว  จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเหนี่ยวรั้งผู้ซึ่งตัดสินใจแล้วให้กลับใจเพิกถอนการลาออก  การธำรงรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายจึงจะได้ผล


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที