GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 11 ต.ค. 2017 01.54 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1640 ครั้ง

การปฏิรูปภาษีในอินเดียได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการซื้อขายและการเรียกเก็บเงินในร้านทองและร้านเครื่องประดับชั้นนำทั่วประเทศ โดยการเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ของอินเดีย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการใช้ระบบเดียวครอบคลุมทั้งหมดแทนการเก็บภาษีระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่มีความซับซ้อน อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/zJ25rg หรือติดตามบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://infocenter.git.or.th


อินเดียเรียกเก็บภาษี GST ทองคำและเครื่องประดับทอง

การปฏิรูปภาษีในอินเดียได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการซื้อขายและการเรียกเก็บเงินในร้านทองและร้านเครื่องประดับชั้นนำทั่วประเทศ โดยการเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ของอินเดีย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการใช้ระบบเดียวครอบคลุมทั้งหมดแทนการเก็บภาษีระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่มีความซับซ้อน
 
 
 
ทั้งนี้ การปฏิรูปภาษีและเรียกเก็บภาษี GST ร้อยละ 3 สำหรับทองคำและเครื่องประดับทอง ทำให้อัตราภาษีที่เรียกเก็บขณะนี้สูงกว่าอัตราภาษีเดิม อีกทั้งสำหรับเครื่องประดับทองนอกจากเก็บภาษี GST แล้ว ยังคิดภาษีค่าบริการร้อยละ 18 สำหรับค่ากำเหน็จเพิ่มจากเดิมด้วย ฉะนั้น อัตราภาษีใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้ราคาขายทองคำและเครื่องประดับทองแพงขึ้นสำหรับผู้บริโภคชาวอินเดีย แต่ก็ไม่น่าจะกระทบต่อธุรกิจการค้าในประเทศมากนัก โดยเฉพาะอุปสงค์การซื้อทองคำในช่วงเทศกาลดิวาลีในเดือนตุลาคมนี้ตามธรรมเนียมดั้งเดิม เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวอินเดียมาหลายสิบปีและยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป
 
ดังนั้น ทองคำและเครื่องประดับทองที่ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดอินเดีย หรือผู้ประกอบการไทยที่มีบริษัทและฐานการค้าในอินเดียก็จะต้องเสียภาษีตามระบบภาษีใหม่นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะส่งสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอินเดียที่กำลังจะจัดขึ้น ณ เมืองจัยปูร์ ระหว่างวันที่ 22-25 ธันวาคมนี้ จะไม่มีการเรียกเก็บภาษี GST ดังกล่าว เนื่องด้วยภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ประกอบต่างชาติเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศเพิ่มมากขึ้น
 
 
อย่างไรก็ดี การเรียกเก็บภาษีด้วยวิธีนี้นำมาซึ่งปฏิกริยาตอบรับที่หลากหลายในแวดวงธุรกิจเครื่องประดับทองและเพชร ผู้ขายเครื่องประดับบางส่วนคิดว่าการใช้ระบบภาษีนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับบริษัท Crisil ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s มองว่า ระบบนี้จะส่งผลดีต่อผู้ขายเครื่องประดับที่วางโครงสร้างกิจการไว้ชัดเจน เนื่องจากจะช่วยให้สามารถจัดการกับภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ขณะที่บางฝ่ายแสดงความคิดเห็นตรงกันข้าม อย่างหน่วยงาน The Gem & Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) แสดงความกังวลว่าระบบนี้อาจส่งผลกระทบต่อสถานะการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียในตลาดโลก ส่วน World Gold Council (WGC) ก็เห็นว่า ผู้ขายเครื่องประดับอิสระรายย่อยจะถูกบังคับให้ทำบัญชีแบบเป็นทางการ และระบบภาษีนี้ก็อาจทำให้ผู้บริโภคและผู้ขายเครื่องประดับพยายามซื้อขายเครื่องประดับเก่าโดยไม่แจ้งต่อหน่วยงานราชการด้วย
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1) “Impact of GST on gold and gold jewellery prices.” Available from http://timesofindia.indiatimes.com (September 29, 2017).
2)  “Taxing issues: Breaking down India’s GST.” RAPAPORT. (August 2017: p. 18)
 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที