GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 09 ต.ค. 2017 04.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4767 ครั้ง

อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน โดยอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอเชีย และอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในอาเซียน แรงงานชาวอินโดนีเซียมีทักษะฝีมือดี และค่าจ้างแรงงานค่อนข้างถูก นอกจากนี้ยังเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในเกือบทุกสาขา รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับ โดยต่างชาติสามารถถือหุ้นได้สูงสุดถึง 100% หรือร่วมลงทุนกับคนในท้องถิ่น ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/LR9Ygk หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


อินโดนีเซีย…อีกหนึ่งฐานการผลิตเครื่องประดับสำคัญของอาเซียน

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) นับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน โดยอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอเชีย และอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก ด้วยขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) 9.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (World Bank, 17 April 2017) ในปี 2559 โดยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจประกอบด้วยภาคเกษตร 32% ภาคอุตสาหกรรม 21% และภาคบริการ 47% ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สร้างรายได้มหาศาล ทั้งนี้ การผลิตเครื่องประดับก็เป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาซึ่งสามารถทำรายได้ทั้งในประเทศและจากการส่งออกไปต่างประเทศในแต่ละปีไม่น้อย ส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้และพยายายามจะสร้างอินโดนีเซียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับของภูมิภาคและเชื่อมโยงเครือข่ายกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ประเทศไทย เป็นต้น

อินโดนีเซีย...อีกหนึ่งฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค
         
อินโดนีเซียมีประชากรมากที่สุดในอาเซียนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในอาเซียน (เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา) โดยมีประชากรสูงถึง 264.33 ล้านคน (United Nations, 1 July 2017) ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 25-54 ปี และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 28.6 ปี ส่วนมากอาศัยอยู่ในเมืองสำคัญ เช่น กรุงจาการ์ตา เมืองสุราบายา เมืองบันดุง เมืองเมดาน และเมืองเซมารัง
           
แรงงานชาวอินโดนีเซียมีทักษะฝีมือดี และค่าจ้างแรงงานค่อนข้างถูก จากสถิติของ National Wages and Productivity Commission ( 24 April 2017) พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนของแรงงานชาวอินโดนีเซียอยู่ระหว่าง 1.1 – 3.1 ล้านรูเปียห์ (82 - 232 เหรียญสหรัฐ) (http://th.exchange-rates.org, 5 July 2017) ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำจะแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดและสาขาอาชีพ
           
จากปัจจัยทั้งแรงงานจำนวนมาก แรงงานมีทักษะฝีมือที่ดี และค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งนายโจโก วิโดโด เป็นประธานาธิบดีได้วางเป้าหมายให้อินโดนีเซียเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก จึงเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนที่เพิ่มสัดส่วนหุ้นต่างชาติมากขึ้น การผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุน และออกมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ จากรายงานของ Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM) พบว่า ในปี 2559 มีต่างชาติเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่า 396.6 ล้านล้านรูเปียห์ (2.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.4% โดยประเทศที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย 3 อันดับแรกคือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน (ไทยอยู่ในอันดับที่ 12) ส่วนสาขาที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 4 อันดับแรกคือ 1) อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ (Metal, Machinery and Electronic Industry) 2) อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยา (Chemical and Pharmaceutical Industry) 3) อุตสาหกรรมกระดาษและการพิมพ์ (Paper and Printing Industry) และ 4) เหมืองแร่ (Mining)
           
อินโดนีเซียเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในเกือบทุกสาขา รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับ โดยต่างชาติสามารถถือหุ้นได้สูงสุดถึง 100% หรือร่วมลงทุนกับคนในท้องถิ่น และด้วยชื่อเสียงการเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินชั้นดี ทำให้มีบริษัทต่างชาติจากหลายประเทศเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับในอินโดนีเซียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ John Hardy แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติอเมริกันที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับเงินอยู่ในหมู่บ้าน Mambang บนเกาะบาหลี หรือ Pranda Group ของไทยได้เข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการชาวอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตา ภายใต้ชื่อบริษัท P.T. Sumberkreasi Ciptalogam ผลิตเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เป็นต้น

แหล่งทรัพยากรอัญมณีและโลหะมีค่า
         
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ในส่วนของอัญมณีนั้นอินโดนีเซียมีแหล่งเพชรและพลอยเนื้อแข็งที่สำคัญอยู่ในจังหวัดกาลิมันตันใต้ (South Kalimantan) โดยเฉพาะที่เมืองมาร์ตาปุระ (Martapura) หรือที่ชาวอินโดนีเซียรู้จักกันดีว่าเป็น “The Diamond City” ซึ่งมีเหมืองผลิตเพชรหลายเหมืองอยู่ในเขต Cempaka (Cempaka District) ปัจจุบันเมืองมาร์ตาปุระถือเป็นศูนย์กลางการเจียระไนเพชรและเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย

สำหรับพลอยเนื้ออ่อนนั้น สามารถพบได้เกือบทุกจังหวัดตั้งแต่ Nangroe Aceh Darussalam ทางฝั่งตะวันตกของอินโดนีเซียไปจนถึงเกาะปาปัว ฝั่งตะวันออกของประเทศ อาทิ แอเมทิสต์ และควอตซ์ ในจังหวัดสุมาตราใต้ ทางชวาตะวันตก พบคริโซเพรส ปะการัง แจสเปอร์ ในส่วนกาลีมันตันใต้ พบแอเมทิสต์ ควอตซ์ และคาลซิโดนี เป็นต้น อีกทั้ง อินโดนีเซียยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตไข่มุกเซาท์ซีรายใหญ่ที่สุดของโลกมาตั้งแต่ปี 2548 โดยครองส่วนแบ่งการผลิตไข่มุกโลกถึง 50% แหล่งผลิตไข่มุกเซาท์ซีอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ เกาะบาหลี เกาะลอมบ็อก เกาะซัมบาวา เกาะมาลูกู และเกาะสุลาเวสี เป็นต้น
         
นอกจากนี้ อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตทองคำและเงินที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ จากรายงานของ U.S. Geological Survey (USGS) พบว่า ในปี 2559 อินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตทองคำในอันดับที่ 10 ของโลกด้วยปริมาณการผลิต 100 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.1% สำหรับเหมืองผลิตทองคำขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่เกาะปาปัว (Papua) เกาะซัมบาวา (Sumbawa) จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก (East Kalimantan) และจังหวัดกาลิมันตันกลาง (Central Kalimantan) โดยปริมาณการผลิตทองคำกว่าครึ่งหนึ่งมาจากเหมือง Grasberg เหมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่เมืองทิมิกา (Timika) บนเกาะปาปัว ซึ่งมีบริษัท Freeport-McMoRan Copper & Gold Inc (PT Freeport Indonesia) ของสหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วนเหมืองที่เป็นของรัฐบาลถือหุ้นในนามของรัฐวิสาหกิจ PT ANTAM (Persero) TBK มีเหมืองผลิตทองคำอยู่ 2 แห่ง คือ Pongkor ตั้งอยู่ที่จังหวัดชวาตะวันตก (West Java) และ Cibaliung ซึ่งอยู่ในจังหวัด Banten     

สำหรับการผลิตโลหะเงินนั้น ในปี 2559 อินโดนีเซียผลิตโลหะเงินเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ด้วยปริมาณการผลิต 11.2 ล้านออนซ์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12% (The Silver Institute’s World Silver Survey 2017 publication) โดยบริษัทที่ผลิตโลหะเงินส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ทำเหมืองทองคำด้วย อาทิ PT ANTAM, Sumatra Copper & Gold plc และ PT Newmont Nusa Tenggara เป็นต้น แหล่งผลิตเงินที่สำคัญของอินโดนีเซีย อาทิ เกาะซัมบาวา และจังหวัดชวาตะวันตก เป็นต้น

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับ

 


ปัจจุบันอินโดนีเซียมีบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับแท้และเทียมรวมราว 30,000 ราย มีจำนวนแรงงานไม่น้อยกว่า 300,000 คน โดยอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับอินโดนีเซียพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษหลัง เนื่องจากมีการแข่งขันสูงทั้งจากแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างชาติ เพื่อรักษาพื้นที่ตลาดของตนและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ ผู้ผลิตชาวอินโดนีเซียจึงต่างเร่งพัฒนาการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้และสินค้าได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อินโดนีเซียก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังตลาดโลกเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียนแทนที่มาเลเซีย (ผู้ส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของอาเซียนคือ ไทย และสิงคโปร์) นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีปริมาณการค้าเครื่องประดับภายในประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.3% โดยในปี 2559 ประมาณการว่าจะมีปริมาณการค้าอยู่ที่ 4.5 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4.5% ส่วนมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับคิดเป็น 6,368.67 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักในสัดส่วนกว่า 63% เป็นเครื่องประดับทองซึ่งขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 45%

 


 
Ø การผลิตเครื่องประดับทอง

           

เนื่องด้วยค่านิยมการสวมใส่เครื่องประดับแท้โดยเฉพาะเครื่องประดับทองตามรากเหง้าของวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม ชาวอินโดนีเซียจึงบริโภคเครื่องประดับทองในสัดส่วนที่มากกว่าเครื่องประดับแท้อื่นๆ (คาดว่ามีการบริโภคเครื่องประดับทอง 60% ของการบริโภคเครื่องประดับทั้งหมด) ส่งผลให้มีผู้ผลิตจำนวนมากเข้ามาช่วงชิง ส่วนแบ่งในตลาดเครื่องประดับทองขนาดใหญ่นี้ โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม จำหน่ายสินค้าแบบมีแบรนด์และไม่มีแบรนด์ การผลิตส่วนใหญ่เป็นการทำด้วยมือ รูปแบบสินค้าเป็นเอกลักษณ์ที่ มีกลิ่นอายวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตทองสีเหลือง ความบริสุทธิ์ 18, 22 และ 24 กะรัต ส่วนบริษัทผลิตเครื่องประดับทองขนาดใหญ่จะมีการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตจำนวนมากส่งออกไปต่างประเทศ โดยรูปแบบสินค้าก็จะมีทั้งออกแบบเองโดยผสมผสานลายท้องถิ่นและรูปแบบสากล และผลิตรูปแบบตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ส่วนการจำหน่ายในประเทศยังคงเป็นลายท้องถิ่นที่ใช้ฝีมือแรงงานเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งทองสีขาว 14 และ 18 กะรัต และทองสีเหลือง 18, 22 และ 24 กะรัต วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง นอกจากนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่บางรายยังมีการจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องประดับทองแบบขายส่งให้แก่ร้านค้าปลีกเครื่องประดับรายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ แหล่งผลิตเครื่องประดับทองกระจายอยู่ในหลายจังหวัด โดยแหล่งผลิตเครื่องประดับทองที่สำคัญ อาทิ กรุงจาการ์ตา เกาะบาหลี และเกาะชวา เป็นต้น
 

 

Ø การผลิตเครื่องประดับเงิน

เครื่องประดับเงินอินโดนีเซียมีชื่อเสียงมาเป็นเวลายาวนานและได้รับการยอมรับในตลาดโลกในปัจจุบัน ด้วยเอกลักษณ์โดดเด่นจากการผลิตชิ้นงานด้วยมือในทุกขั้นตอนโดยช่างเครื่องประดับเงินที่ได้รับการถ่ายทอดเทคนิคมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ รูปแบบเครื่องประดับเงินที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสไตล์ดั้งเดิมตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น แต่ที่มีชื่อเสียงมากคือสไตล์ balinese และ batik ซึ่งเป็นลวดลายที่ขึ้นตัวเรือนด้วยโลหะที่ค่อนข้างซับซ้อน ทั้งนี้ การผลิตเครื่องประดับเงินด้วยมือมีอยู่ในหลายส่วนของประเทศ แต่แหล่งที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับเงินด้วยมือของอินโดนีเซียอยู่ในจังหวัดจาการ์ตา ยอร์กจาการ์ตา กาลีมันตันใต้ นูซาเต็งการาตะวันตก ชวาตะวันตก สุลาเวสีเหนือ สุลาเวสีใต้ และเกาะบาหลี โดยเฉพาะเครื่องประดับเงินทำมือจากบาหลีและชวาเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก จนสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกไปยังอเมริกา ยุโรป และฮ่องกง ในแต่ละปีไม่น้อยทีเดียว


เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับเงินอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นการผลิตด้วยมือ จึงนับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยการผลิตสินค้า 300 – 400 ชิ้นจะใช้เวลาราว 2 -3 สัปดาห์ หากเป็นดีไซน์ที่มีความซับซ้อนก็จะใช้เวลานานมากกว่านี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการการส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยโรงงานขนาดเล็กจะมีช่างฝีมือ 10 – 20 คน ผลิตสินค้าในแต่ละเดือนไม่เกิน 10,000 ชิ้น ส่วนโรงงานขนาดกลางจะมีช่างฝีมือตั้งแต่ 20 – 100 คน สามารถผลิตสินค้าเดือนละกว่า 10,000 ชิ้น สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่ไม่กี่รายและมีแรงงานมากกว่า 100 คน แม้ว่าจะมีการนำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้ามากขึ้น หากแต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ช่างฝีมือในการผลิตสินค้า รวมถึงมีการผสมผสานรูปแบบสินค้าดั้งเดิมกับรูปแบบสากลมากขึ้นด้วย สามารถผลิตสินค้าได้เดือนละกว่า 30,000 ชิ้น

            Ø การผลิตเครื่องประดับตกแต่งอัญมณี
           
เนื่องจากชาวอินโดนีเซียชนชั้นกลางและผู้มีฐานะดีเพิ่มจำนวนขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีแนวโน้มบริโภคเครื่องประดับเพชรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคู่รักคู่แต่งงานมักนิยมซื้อแหวนเพชรสำหรับใช้ในวันแต่งงาน ในส่วนของเครื่องประดับพลอยสี เป็นที่นิยมของคนบางกลุ่มซึ่งเชื่อว่ามีพลังเหนือธรรมชาติช่วยเหลือผู้สวมใส่ อาทิ อำพัน ช่วยในเรื่องความรัก หรือแอเมทิสต์ช่วยป้องกันจากความเหนื่อยล้า เป็นต้น โดยการผลิตตัวเรือนเครื่องประดับใช้โลหะทองคำและเงินซึ่งมาจากเหมืองที่ผลิตได้ในประเทศ ส่วนเพชรและพลอยสี มีข้อจำกัดทั้งปริมาณการผลิตและคุณภาพอัญมณีภายในประเทศ จึงทำให้ต้องมีการนำเข้าเพชรและพลอยสีบางส่วนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ล้วนแล้วแต่ออกแบบด้วยตนเองและผลิตเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีโดยใช้แรงงานมีฝีมือ รูปแบบสินค้าที่ผลิตมีทั้งเป็นแบบดั้งเดิมที่เป็นลวดลายเรียบๆ กับรูปแบบที่ทันสมัย แต่ยังคงความประณีตเพราะใช้ทักษะแรงงานฝีมือดี

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอินโดนีเซียยังคงพัฒนาก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในส่วนของผู้ผลิตเองต่างก็เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต และดึงจุดแข็งเรื่องฝีมือแรงงานมาผลิตสินค้าด้วยการผสมผสานฝีมือช่างแบบดั้งเดิมเข้ากับรูปแบบสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศที่มีลักษณะเป็นสังคมเมือง ชื่นชอบความทันสมัย รวมถึงขยายสู่ตลาดต่างประเทศในวงกว้างมากขึ้น ในส่วนของรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ จึงได้มีนโยบายออกมาช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ อาทิ การสร้างศูนย์การค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น การอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานและการออกแบบ และการส่งเสริมให้ออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

จากปัจจัยดังกล่าวรวมถึงความได้เปรียบในด้านฝีมือแรงงาน การมีค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ และมีวัตถุดิบทั้งโลหะมีค่าและอัญมณีหลากหลายภายในประเทศ ทำให้อินโดนีเซียสามารถผลิตสินค้าได้คุณภาพดีด้วยต้นทุนต่ำ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่อินโดนีเซียจะกลายเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอาเซียน และอาจจะขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับแซงหน้าไทยและสิงคโปร์ในอนาคตก็เป็นได้
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที