‘ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ในฮอลลีวูด’ ดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเอาเสียเลย เพราะขนาดไดโนเสาร์ สิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ซึ่งสูญพันธ์ไปแล้วเมื่อราว 65 ล้านปีก่อน ยังสามารถถูกชุบชีวิตให้กลับมาโลดแล่นอยู่บนจอเงินได้อย่างน่าอัศจรรย์... ใช่แล้ว เรากำลังพูดกันถึงเรื่อง ‘จูราสสิค ปาร์ค’ บทประพันธ์ของจอห์น ไมเคิล ไครช์ตัน นายแพทย์และนักเขียนนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2534 ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ในปี 2536 โดยเป็นผลงานการกำกับของสตีเว่น สปีลเบิร์ก พ่อมดแห่งฮอลลีวูด
เรื่องราวของจูราสสิค ปาร์ค เริ่มต้นขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์ไดโนเสาร์ด้วยกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยการสกัดเอาดีเอ็นเอจากเลือดของไดโนเสาร์ที่พบในซากยุงซึ่งติดอยู่ในก้อนอำพัน เหตุการณ์ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างราบรื่น หากไม่เป็นเพราะความโลภของมนุษย์ที่เป็นต้นเหตุของเรื่องวุ่นวายและหายนะในครั้งนี้
อำพัน (Amber) ถูกจัดอยู่ในหมวดของอัญมณีอินทรีย์ เนื่องจากเป็นฟอสซิลของยางไม้โบราณที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนานถึง 20-60 ล้านปี จนกลายสถานะเป็นของแข็ง อำพันมีได้หลายสีหลายเฉด แต่ที่พบได้มากคือ สีเหลือง ส้ม และน้ำตาล มีทั้งเนื้อขุ่นและเนื้อใส นอกจากนี้ เรายังสามารถพบสิ่งแปลกปลอมอื่นในเนื้อของอำพันได้ เช่น เศษไม้ ซากแมลง หรือแม้กระทั่งชิ้นส่วนของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
อัญมณีสีเหลืองทองผ่องอำพันชนิดนี้เป็นที่รู้จักในหมู่มนุษย์มาอย่างยาวนาน ดังหลักฐานปรากฎในบทประพันธ์มหากาพท์กรีกโบราณของโฮเมอร์ เรื่อง โอดิสซีย์ (The Odyssey) ซึ่งได้ถูกประพันธ์ขึ้นเมื่อราว 800 ปี ก่อนคริสตกาล โดยได้กล่าวถึงการมอบเครื่องประดับทำจากอำพันเพื่อเป็นของขวัญ
ชาวกรีกในยุคโบราณเชื่อกันว่าอำพันเป็นแหล่งรวบรวมพลังสุริยะ อัญมณีชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า อิเล็กตรอน (Elektron) แปลว่า สิ่งที่เกิดจากดวงอาทิตย์ อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ผูกโยงอำพันเข้ากับอะพอลโล เทพแห่งแสงสว่างและดวงอาทิตย์ อำพันจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของอะพอลโลผู้ซึ่งเป็นดั่งแสงสว่างนำทางชีวิตให้แก่ผู้ครอบครอง และด้วยอะพอลโลยังถูกยกย่องให้เป็นเทพแห่งการแพทย์ ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าอำพันช่วยเสริมพลังชีวิต และบำบัดรักษาบรรเทาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยได้อีกด้วย
เครื่องประดับอำพันจาก House of Amber
ห้องอำพัน สิ่งมหัศจรรย์ที่ 8 ของโลก
ที่พระราชวังแคทเธอรีน เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีห้องอยู่ห้องหนึ่งที่ผนังห้องทั้งห้องถูกตกแต่งด้วยอำพัน แผ่นทองคำเปลว และกระจก ด้วยความวิจิตรบรรจงและงดงามเหนือคำบรรยายทำให้ห้องนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์ที่ 8 ของโลก”
ห้องอำพันนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1701 ตามพระบัญชาของพระเจ้าฟรีดริชที่ 1 แห่งปรัสเซีย ด้วยความตั้งใจเดิมที่จะสร้างไว้ในพระราชวังชาล็อตเทนเบิร์ก แต่สุดท้ายกลับถูกนำมาไว้ที่พระราชวังเบอร์ลิน ต่อมาในปี 1716 พระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ได้เสด็จเยือนปรัสเซียและชื่นชอบในความงดงามของห้องอำพันนี้ พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์ม ที่ 1 พระโอรสในพระเจ้าฟรีดริชที่ 1 จึงได้มอบเป็นของขวัญให้แก่พระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช ในโอกาสที่ทั้งสองชาติร่วมเป็นพันธมิตรในการต่อต้านสวีเดน
ผนังห้องอำพันถูกแยกส่วน บรรจุใส่ลังขนาดใหญ่จำนวน 18 ลัง และลำเลียงมายังพระราชวังแคทเธอรีน ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และได้มีการต่อเติมเพิ่มแต่งอีกหลายครั้ง จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 1755 ห้องอำพันนี้มีพื้นที่ 55 ตารางเมตร และประดับประดาไปด้วยอำพันมากถึงกว่า 6 ตัน
จนกระทั่งในปี 1941 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองกำลังนาซีได้เดินทัพเข้าสู่สหภาพโซเวียต เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ได้พยายามเคลื่อนย้ายห้องอำพันไปซ่อนในที่ปลอดภัย หากแต่อำพันไม่สามารถทนทานต่อการเคลื่อนย้ายได้ จึงต้องหาวิธีอำพรางโดยการปิดทับด้วยวอลล์เปเปอร์ แต่ความพยายามครั้งนี้เป็นอันสูญเปล่าเมื่อทหารนาซีได้ตรวจค้นจนพบห้องอำพันนี้ และใช้เวลาเพียง 36 ชั่วโมง ในการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายห้องอำพันไปไว้ที่ปราสาทโคนิกสเบิร์ก ในปรัสเซียตะวันออก ต่อมาในปี 1945 เมื่อกองกำลังนาซีเพลี่ยงพล้ำ ฮิตเลอร์ได้สั่งให้เคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าทั้งหมดรวมถึงห้องอำพันไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาห้องอำพันนี้ก็หายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย บ้างก็ว่ามันถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดใส่ปราสาทโคนิกสเบิร์ก บ้างก็ว่ามันถูกซ่อนไว้ในห้องลับใต้ดิน และบ้างก็ว่ามันถูกจมหายไปในทะเลระหว่างการขนย้ายทางเรือ และถึงแม้ว่าทางการรัสเซียจะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการค้นหาห้องอำพันชนิดที่เรียกได้ว่าพลิกแผ่นดินก็ยังไม่สามารถหาได้พบ
ห้องอำพันได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ณ พระราชวังแคทเธอรีน โดยอาศัยเพียงภาพถ่ายขาวดำทางประวัติศาสตร์เป็นข้อมูลอ้างอิง การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 1979 และใช้เวลาดำเนินการรวมทั้งสิ้น 24 ปี จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมกลับมาอวดโฉมความงามอีกครั้งในปี 2003 ซึ่งพอดีกับปีที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 300 ปี ของมหานครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที