GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 26 ก.ย. 2017 08.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2334 ครั้ง

ทำความรู้จักกับเครื่องประดับเงินแบบยัดลายจากคุณอัญชลี อุปนันท์ ครูช่างเงินแห่งบ้านกาด และ คุณอังคาร อุปนันท์ ทายาทช่างเงินผู้สืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาสู่ความร่วมสมัยและเป็นสากลยิ่งขึ้น ได้ที่ https://goo.gl/zh9zjj หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ http://infocenter.git.or.th


เปิดมุมมองช่างเงินบ้านกาดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ความร่วมสมัย

ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่มีฐานการผลิตกระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด แต่สำหรับการผลิตเครื่องประดับเงินของตำบลแม่วาง อำเภอบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าชิ้นงานมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์และมีความโดดเด่นแตกต่างไปจากพื้นที่อื่นถือเป็นสินค้าหัตถศิลป์ที่ควรค่าแก่การส่งเสริม ในครั้งนี้ทางศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณอัญชลี อุปนันท์ ครูช่างเงินแห่งบ้านกาด และ คุณอังคาร อุปนันท์ ทายาทช่างเงินผู้สืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาสู่ความร่วมสมัยและเป็นสากลยิ่งขึ้น ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมทำความรู้จักกับเครื่องประดับเงินแบบยัดลายได้จากบทสัมภาษณ์ ข้างล่างนี้
 
 
 
ขอให้เล่าถึงความเป็นมาของเครื่องเงินบ้านกาด
 
ย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่มีชาวจีน และชาวเมียนมาอพยพเข้ามาทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอบ้านกาด ในบรรดาผู้อพยพเหล่านี้มีช่างเงินรวมอยู่ด้วย จนต่อมาได้มีการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำเครื่องเงินระหว่างคนในชุมชน ซึ่งกลุ่มช่างที่เป็นชาวจีนได้สอนการทำเครื่องเงินแบบยัดลายเพิ่มเข้ามาจากรูปแบบการทำเครื่องเงินทั่วไป จนชาวบ้านกาดยึดเอาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องเงินที่ผลิตจากบ้านกาด และด้วยความที่ดิฉันมีความสนใจ ประกอบกับการมีใจรักในการทำเครื่องเงิน จึงสืบทอดการทำ “เครื่องประดับเงินแบบยัดลาย” มาจากบรรพบุรุษ และยึดเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงชีพมาจนถึงทุกวันนี้
 
การผลิตและการค้าเครื่องประดับเงินบ้านกาดในปัจจุบัน
 
ขณะนี้จำนวนช่างเงินในบ้านกาดเหลืออยู่น้อยมากมีไม่ถึงสิบคน เนื่องจากคนในชุมชนนิยมเดินทางไปทำงานในโรงงานเครื่องประดับที่อยู่ไม่ไกล ซึ่งมีเนื้องานที่ไม่ซับซ้อนและมีค่าจ้างสวัสดิการแน่นอน แต่ถึงกระนั้นการผลิตเครื่องประดับเงินยัดลายก็ยังคงมีอยู่ ปัจจุบันด้วยความที่ทางร้านได้ขึ้นทะเบียน OTOP ไว้ในปี 2547 และถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสินค้าเด่นของจังหวัด จึงทำให้มีคนรู้จักและสนใจในชิ้นงาน แต่เดิมการค้าเครื่องประดับเงินยัดลายจะผลิตส่งหน้าร้านย่านถนนวัวลาย และร้านค้าในอำเภอสันกำแพง แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการขายผ่านหน้าร้านของตนเองและเน้นการตระเวนออกขายตามงานจัดแสดงสินค้าต่างๆ เนื่องจากทำให้มีโอกาสได้พบผู้บริโภคที่หลากหลาย ได้ทราบถึงความต้องการและมีโอกาสในการถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องประดับเงินยัดลายของบ้านกาดให้เป็นที่รู้จักด้วย
 
แรงบันดาลใจในการผลิตเครื่องประดับเงินแบบยัดลายของบ้านกาด
การผลิตเครื่องประดับเงินยัดลายอาศัยแรงบันดาลใจจากทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่งดงาม ประเพณีและวัฒนธรรมของเชียงใหม่ ตลอดจนสิ่งต่างๆ รอบตัวที่มีความหมายดี ก่อให้เกิดการผลิตชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์อันงดงามและมีความอ่อนช้อยในตัว
 
เครื่องประดับเงินยัดลายในปัจจุบันมีอะไรที่พิเศษและแตกต่างไปจากเดิม
 
เครื่องประดับเงินยัดลายแบบดั้งเดิมจะเป็นแนวล้านนา ที่เน้นลวดลายจากธรรมชาติ ในปัจจุบันลวดลายแบบเดิมก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่มีการเพิ่มเติมเทคนิคต่างๆ เข้าไป เช่น การชุบทองขาวเพื่อเพิ่มมูลค่าและอายุการใช้งาน การใช้เทคนิคเขียนทองเข้าไปในลวดลายเพื่อช่วยเพิ่มมิติให้แก่ชิ้นงาน และการยืดอายุใช้งานของตะขอเกี่ยวโดยการใส่บานพับเข้าไปตรงจุดเชื่อมต่อของเครื่องประดับ รวมทั้งการออกแบบเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
 
 
เหตุผลในการสร้างแบรนด์เครื่องประดับบ้านกาด
 
ปัจจุบันเครื่องประดับเงินบ้านกาดมีการสร้าง แบรนด์เป็นของตนเอง ได้แก่ แบรนด์ Anchalee และแบรนด์ Angsa ซึ่งจุดประสงค์หลักในการสร้างแบรนด์สินค้าก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวต่างชาติสามารถเข้าใจและจดจำชิ้นงานได้ง่ายขึ้น เพราะหากใช้คำว่า “กลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านกาด” อาจทำให้จดจำได้ยากและเกิดความไม่เข้าใจในความหมายของคำ ซึ่งการมีสิ่งเรียกภายใต้ชื่อแบรนด์ จะทำให้เป็นที่จดจำแก่คนหมู่กว้างมากขึ้น
 
ปัจจุบันมีการขยายฐานลูกค้าชาวต่างชาติด้วย 
 
แต่เดิมเครื่องประดับเงินบ้านกาดมีฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการออกงานแสดงสินค้าในหลายพื้นที่จึงทำให้ฐานลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย ประกอบกับการพยายามทำความเข้าใจถึงความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคชาติต่างๆ ทำให้มีคนสนใจและติดตามผลงานมากขึ้น เป็นการขยายฐานลูกค้าไปในตัว จากประสบการณ์ในการค้าเครื่องประดับเงินกับลูกค้าชาวต่างชาติพบว่าลูกค้าแต่ละชาติมีรสนิยมความชื่นชอบในงานศิลปะที่ถ่ายทอดออกมาผ่านชิ้นงานเครื่องประดับแตกต่างกันออกไป เช่น คนเอเชีย (จีน ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย) จะชอบเครื่องประดับยัดลายแบบดั้งเดิม ชาวยุโรป (ฝรั่งเศส และเยอรมัน) ชื่นชอบงานร่วมสมัยแนว Geometry และงานที่มีมิติจากการใช้เทคนิคเขียนทอง และชาวอเมริกันที่ชื่นชอบงานสไตล์โมเดิร์นที่มีความเรียบง่ายแต่โก้หรู เป็นต้น
 
ในฐานะที่เป็นช่างเงินรุ่นใหม่มีมุมมองเกี่ยวกับเครื่องประดับเงินอย่างไร  
 
การออกแบบและผลิตชิ้นงานต้องไม่ทำลายของดั้งเดิมที่บรรพบุรุษปูทางมาให้ ซึ่งก็คือการทำเครื่องประดับเงินยัดลายทั้ง 36 ขั้นตอน แต่จะเป็นการนำภูมิปัญญาเหล่านั้น มาพัฒนาและเพิ่มเติมสิ่งที่ทำให้ชิ้นงานดีขึ้นกว่าเดิมเข้าไป เพราะการรื้อทิ้งสิ่งดั้งเดิมที่ดีอยู่แล้วออกไปก็ไม่ต่างจากการทำลายรากเหง้าของตนเอง
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที