GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 21 ก.ย. 2017 07.12 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1888 ครั้ง

นอกจากที่ปีนัง ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซียที่ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งตะวันออก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงนิเวศแล้ว ปีนังยังมีแหล่งค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับกว่า 40 ร้านนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับทองคำเพื่อการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอีกด้วย ติดตามเรื่องราวของปีนังฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/bTBzzx หรือติดตามบทความเรื่องอื่นๆ ได้ที่ http://infocenter.git.or.th


อัญมณีและเครื่องประดับเมืองปีนัง

 
ปีนัง รัฐหนึ่งของมาเลเซียที่ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งตะวันออก ที่แม้ว่าจะเล็กกว่าประเทศไทยหลายเท่า แต่สามารถสร้าง GDP ให้กับประเทศมาเลเซียได้อย่างมหาศาล โดยเศรษฐกิจของปีนังขยายตัวปีละเกือบ 6% จากการพึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก ทำให้รัฐบาลมาเลเซียเร่งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของปีนัง ด้วยการชูคอนเซ็ปต์การท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาปีนังเพียงเมืองเดียวแต่สามารถเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวได้อย่างหลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/มรดกโลก การมีรูปแบบอาหารที่หลากหลาย รวมทั้งยังเป็นย่านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับทองเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันออกกลางอีกด้วย
 
หากได้ไปเยือนเมืองปีนังจะพบว่าประชากรส่วนใหญ่ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 41% เป็นชนพื้นเมืองชาวมาเลเซีย 40% เป็นชาวจีน และอีก 10% เป็นชาวอินเดีย จากความหลากหลายของประชากรทั้งทางเชื้อชาติและศาสนา ส่งผลให้ปีนังกลายเป็นสังคมเชิงพหุวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งรูปแบบของอาหาร และสถาปัตยกรรม ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของปีนังเอง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง ส่งผลให้ปีนังกลายเป็นอีก 1 เมืองที่น่าไปเยือนเพื่อเปิดประสบการณ์ได้อย่างไม่ยาก
 
 
รูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายของปีนังทั้งถนนสายศิลปะ สวนผีเสื้อ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
 
ย่านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และแหล่งผลิตและส่งออกเครื่องประดับทองคำ
 
นอกจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงนิเวศแล้ว ย่าน Gorge Town ยังเป็นแหล่งค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับกว่า 40 ร้านตั้งอยู่ตลอดแนวถนน Lebuh Campbell, Lebuh Buckingham, Lebuh Queen, Lebuh King, Lebuh Pasar และ Lebuh Penang มีทั้งร้านอัญมณีอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไนทั้งทับทิม ไพลิน และมรกต และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน แต่จะไม่มากนักโดยจะเน้นจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เพราะคนมาเลเซียไม่ค่อยนิยมอัญมณี รวมทั้งร้านขายเครื่องประดับ ทั้งเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม โดยเน้นที่เครื่องประดับทองคำ ขณะที่ย่าน Little India จะเป็นแหล่งรวบรวมเครื่องประดับสำหรับแต่งงานอย่างหลากหลาย  
 
 
ย่านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ณ ย่าน Gorge Town ประเทศมาเลเซีย
 
นอกจากนี้ ปีนังยังเป็นแหล่งโรงงานผลิตเครื่องประดับทองคำเพื่อการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นหลัก โดยตั้งอยู่รวมกันที่ตึก The Penang Gold and Jewellery Exchange Centre กว่า 30 โรงงานภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม มาเลเซียนับว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมในด้านการรับรองมาตรฐานของเครื่องประดับทอง เนื่องจากมี Assay Office ควบคุมมาตรฐานของเครื่องประดับเป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละโรงงาน โดยมี Assay Office ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ ที่กัวลาลัมเปอร์ ยะโฮร์บาห์รู และปีนัง โดยศูนย์ที่ปีนังนั้นก็ตั้งอยู่ภายในตึก The Penang Gold and Jewellery Exchange Centre เช่นกัน
           
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยสามารถใช้รูปแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวของปีนังเป็นแบบอย่างได้ เพราะไทยเองก็มีเยาวราชที่เป็นถนนสายวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของอาหาร และเป็นแหล่งร้านทองที่เก่าแก่ที่สามารถใช้เวลาร่วมกับครอบครัวได้อย่างลงตัว หรือหากต้องการสัมผัสกับธรรมชาติเมืองไทยก็มีเชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ ที่เป็นแหล่งรวบรวมทั้งการผจญภัยในธรรมชาติ ความหรูหราที่สัมผัสได้ รวมทั้งยังเป็นย่านการค้าเครื่องประดับที่น่าไปเปิดประสบการณ์เช่นกัน
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที