ด้วยความโดดเด่นด้านทักษะฝีมือของช่างฝีมือไทย (Craftsmanship) และความสามารถในการพัฒนารูปแบบสินค้าได้อย่างหลากหลายตลอดจนการรักษาคุณภาพสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นที่จับตามองของกลุ่มเป้าหมายจากทั่งโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 3 สร้างรายได้ให้ประเทศถึง 499,065 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้การสร้างมูลค่าการส่งออกให้แก่อุตสาหกรรมในกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) ถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจ โดยมี 5 กลุ่มโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องประดับสำหรับงานแต่งงานและวันครบรอบ (The Moment) กลุ่มสินค้าเครื่องประดับสำหรับผู้ชาย (Metro Men) ซึ่งเป็นตลาดที่ขยายฟตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ สนใจเรื่องการแต่งกาย กลุ่มสินค้าเครื่องประดับศิลปะหัตถกรรม (Heritage & Craftsmanship) สำหรับผู้ชื่นชอบงานฝีมือ งานออกแบบเครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรากเหง้าทางวัฒนธรรม รวมถึงเทคนิคเชิงช่างที่สืบทอดกันมา กลุ่มสินค้าเครื่องประดับแนวโชคลาง (Spiritual Power) ความเชื่อและของขลัง ซึ่งเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ทั้งในแง่ศาสนา โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ การบำบัด การเชิดชูจิตใจ และป้องกันภัย และ กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Beyond Jewelry) อาทิ ของใช้และของประดับที่ตกแต่งด้วยอัญมณี หินพลอยสี โลหะมีค่า ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคระดับบนทั่วโลก
มร.แมทธิว แคมป์เบล ลอเรนซา ดีไซน์เนอร์และเจ้าของแบรนด์ M.C.L. by Matthew Campbell Laurenza ซึ่งมีวางจำหน่ายสินค้าบนห้างสรรพสินค้าชื่อดังใน 36 ประเทศทั่วโลกและได้รับความนิยมอย่างมากจากเหล่าเซเลบริตี้ฮอลลีวู้ด ได้ให้มุมมองเกี่ยวการสร้างแบรนด์ในตลาด Niche Market ว่า “ถือเป็นการโฟกัสกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มย่อยที่สุด ต้องรู้ให้ได้ว่าคนเหล่านั้นต้องการอะไร เพื่อพัฒนาสินค้าที่ดีที่สุดมาตอบสนองความต้องการเหล่านั้น การสร้างแบรนด์ใน Niche Market คือ การหากลุ่มเฉพาะของแบรนด์ อาทิ ผู้ชายวัย 40 ปี ไม่มีครอบครัว รักสุขภาพและดูแลตัวเอง หรือผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่แต่งงาน ไม่มีลูก มีรายได้ต่อปี 2 ล้านบาท ชอบเดินทางท่องเที่ยว ชอบลงทุน และสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อได้ข้อมูลของลูกค้ามาแล้ว ต้องทำความเข้าใจกับไลฟ์สไตล์ให้มากที่สุด ว่าเขามีมุมมอง พฤติกรรม ความคิด การใช้ชีวิตอย่างไร สินค้าที่ออกแบบไปนั้น ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก แล้วนำเอาจุดแข็งมาสร้างสไตล์ของตนเองให้ได้ แล้วคู่แข่งก็จะหายไปเอง สิ่งสำคัญหากพบว่ามีจุดอ่อนต้องหาความช่วยเหลือต้องรีบทำทันที อาจจะเป็นการหาพาร์ทเนอร์ หรือการจ้างคนเข้ามาเพิ่มเพื่อปิดจุดอ่อนของแบรนด์
ส่วนเครื่องมือชั้นดีในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ คือ ช่องทางออนไลน์เพราะเป็นช่องทางที่สำคัญมากในยุคนี้ และหาร้านค้าในต่างประเทศให้ได้ หากเป็นแบรนด์ค้าปลีกที่มีชื่อเสียงก็จะยิ่งช่วยรับรองแบรนด์ให้มีระดับความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการหาคู่ค้าเพื่อขยายฐานลูกค้าระหว่างกัน หรือการรวมกลุ่มของแบรนด์ประเภทเดียวเพื่อออกไปทำตลาดต่างประเทศด้วยกัน”
ด้าน นายศรัณญ์ อยู่คงดี นักออกแบบและเจ้าของ แบรนด์ ศรัณย์ (SARRAN) ผู้ผันตัวเองจากแวดวงดีไซน์เนอร์ของแต่งบ้าน เข้ามาอยู่ในวงการจิวเวอรี่เป็นปีที่ 3 ด้วยความที่สร้างแบรนด์ให้มี Identity แบบไทย จึงโฟกัสไปยังความเป็นไทยที่สามารถจับใจคน ซึ่งคือเรื่องของผู้หญิงไทย “ตลาด Niche Market ของแบรนด์ SARRAN คือ Women On Top เป็นเจ้าของธุรกิจที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ สนใจสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ไม่สนใจราคาสินค้า และให้ความสำคัญกับความพึ่งใจในสิ่งที่จะเลือกซื้อ
การออกแบบสินค้าของ SARRAN แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ Everyday Use ชิ้นงานทั่วไปทำซ้ำได้ง่าย Limited10 เป็นชิ้นงานที่ทำเงินให้มากที่สุด มีเพียง 10 ชิ้นต่อหนึ่งแบบ และทำด้วยมือ โดยจะมี Serial Number Code ใบการันตี และลายเซ็นทุกชิ้น ซึ่งมีลูกค้าชาวฝรั่งเศสกับอิตาลีสั่งไปเก็บสะสมเป็นประจำ และ Limited3 ในหนึ่งแบบจะมีชิ้นงานเพียง 3 ชิ้น วางจำหน่ายแค่ชิ้นเดียว ชิ้นที่สองจะเก็บไว้เองสำหรับใส่ออกงานหรือถ่ายภาพให้กับสื่อ และชิ้นที่สามจะมอบให้พิพิธภัณฑ์ ซึ่งราคาขายอยู่ที่ชิ้นละ 500,000 - 700,000 บาท”
ส่วน นายสุพจน์ สุวรรณสิงห์ และ น.ส.สิริการย์ จิรัฎฐ์ภาสกรกุล นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ สะพรั่ง (Saprang) เครื่องประดับที่เน้นงานทำมือหรืองานคราฟท์ เล่าว่า “เทคนิคในงานเครื่องประดับของสะพรั่งนั้นค่อนข้างหลากหลาย ศักยภาพของทักษะที่ใช้ในงานยิ่งใหญ่มาก จึงรู้สึกว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่าการเป็นเครื่องประดับ จึงนำทักษะเหล่านี้ไปสร้างเป็นของแต่งบ้านได้ ทำ Wall Art หรือผลงานศิลปะเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ที่หลายครอบครัวฐานะยากจน และหลังจากที่นำไปปตกแต่งร้านที่เอกมัย ก็ได้ยินเสียงตอบรับที่ดีมาก ดังเช่นผลงานช้อนกรองชาที่ทำขึ้นมา ซึ่งเกิดมาจากการไปนั่งจิบน้ำชาแล้วคิดถึงการออกแบบช้อนกรองชาขึ้นมา ซึ่งบางคนไม่ได้ซื้อไปใช้ แต่นำไปเป็นของขวัญ หรือสะสม ส่วนงานเข็มกลัดไม้ไผ่นี้เกิดจากการที่จะตัดต้นไผ่ทิ้ง แต่ขณะที่รู้สึกว่ามันเป็นวัสดุธรรมชาติที่สวยมากจึงนำมาเก็บไว้ แล้วค่อยๆ ออกแบบจนเป็นเข็มกลัด ซึ่งไม้ไผ่แต่ละข้อนั้นถูกออกแบบมาด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ละข้อจะไม่เหมือนกันเลย จึงตัดออกมาแล้วก็ใช่ทักษะของเราในการทำต้นแบบ สำหรับเครื่องประดับจากวัสดุทั่วไปเมื่อทำถึงชิ้นที่ 9 ก็จะรู้แล้วว่าชิ้นที่ 10 จะเป็นอย่างไร แต่ทำงานไม้ไผ่สนุกมาก เพราะไม่รู้เลยว่าแต่ละชิ้นจะออกมาหน้าตาอย่างไร รู้สึกเหมือนทำงานชิ้นใหม่ตลอดเวลา สิ่งที่เราสื่อสารออกไปผ่านเครื่องประดับนี้ ทำให้คนที่เห็นเกิดความรู้สึกอยากทำตามบ้าง ช่วยกระตุ้นให้คนเกิดไอเดียไปทำต่อ แน่นอนว่าสะพรั่งไม่ได้อยากขายอย่างเดียว แต่ถ้ามันส่งเสริมให้คนเกิดไอเดียขึ้นมาได้ต่อไปก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี”
สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาในเรื่องราวของจิลเวลรี่ที่ออกแบบมาเพื่อจับกลุ่มตลาดเฉพาะ ซึ่งอาจจะมีเพียง 3 ชิ้นบนโลก หรือเป็นงานจิลเวลรี่ทำเน้นการทำมือเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็ได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วย ต้องไม่พลาดที่จะไปร่วมชมนิทรรศการ The Niche Showcase ทั้ง 5 กลุ่ม ร่วมด้วยนิทรรศการ The New Faces ที่เต็มไปด้วยแบรนด์เครื่องประดับที่น่าสนใจในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับครั้งที่ 60 ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2560 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที