GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 24 ส.ค. 2017 02.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1284 ครั้ง

อุปสงค์เครื่องประดับทองทั่วโลกแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบจากฐานปี 2016 ซึ่งมีระดับต่ำ แต่ก็ยังไม่เท่าตัวเลขในระยะยาว โดยมีปัจจัยบวกมาจากความต้องการของประเทศผู้บริโภครายสำคัญทั้งอินเดีย จีน และตุรกี ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/ccjqC5 หรือบทความอื่นๆ ได้ที่ http://infocenter.git.or.th


ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกฟื้นตัวในไตรมาสที่สอง ปี 2017

 

อุปสงค์เครื่องประดับทองทั่วโลกแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบจากฐานปี 2016 ซึ่งมีระดับต่ำ แต่ก็ยังไม่เท่าตัวเลขในระยะยาว โดยมีปัจจัยบวกมาจากความต้องการของประเทศผู้บริโภครายสำคัญทั้งอินเดีย จีน และตุรกี

•    ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอินเดียนำไปสู่การฟื้นตัว โดยเหตุผลหลักมาจากการหดตัวลงของอุปสงค์การบริโภคเครื่องประทองในช่วงปี 2016
•    ผู้ขายเครื่องประดับจีนปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วยแนวทางใหม่ๆ ตามรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
•    ตุรกีตอบสนองอย่างชัดเจนต่อราคาทองในประเทศที่ลดดิ่งลง

ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อยู่ที่ 480.8 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ความต้องการในไตรมาสที่สองของปี 2016 นั้นต่ำมากอยู่แล้ว ความต้องการยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วงห้าปีซึ่งอยู่ที่ 586.2 ตันอยู่มาก ขณะที่ภาพรวมของความต้องการเครื่องประดับทองในครึ่งปีแรกนั้นใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 เติบโตขึ้นร้อยละ 5 จากจุดที่ต่ำมากในปี 2016 ซึ่งอยู่ที่ 922.4 ตัน แต่ความต้องการเครื่องประดับทองในครึ่งปีแรกของปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 967.4 ตันนั้นก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 1,000 ตัน ซึ่งนับเป็นครั้งที่สี่เท่าที่เคยมีมาในชุดข้อมูลของ World Gold Council


อินเดีย



อินเดียแทบจะเป็นภาคเศรษฐกิจเดียวที่ขับเคลื่อนความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกในไตรมาสที่สองของปี 2017 ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 126.7 ตันจากเดิม 89.8 ตัน ในไตรมาสที่สองของปี 2016 เป็นที่คาดหมายกันในวงกว้างว่าความต้องการจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากมีรายงานตัวเลขการนำเข้าทองคำสูงเป็นพิเศษ จนทำสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมาที่ 104.6 ตันในเดือนพฤษภาคม 2017 เนื่องจากตลาดพยายามกักตุนทองคำไว้ล่วงหน้าก่อนการประกาศอัตราภาษีสินค้าและบริการ (GST) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้มีการคาดการณ์กันว่าอัตราภาษี GST จะสูง ผู้ขายเครื่องประดับและผู้บริโภคจึงต่างพากันรีบซื้อสินค้าในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาส แล้วค่อยชะลอตัวลงเมื่อรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้อัตราภาษีที่ร้อยละ 3 ผู้คนจึงรีบซื้อสินค้ากันอีกครั้งเป็นช่วงสั้นๆ ระหว่างปลายเดือนมิถุนายน 2017 ก่อนที่ภาษี GST จะเริ่มบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ราคาทองคำภายในประเทศเพิ่มสูงกว่าราคาในตลาดสากลราว 3 - 4 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แต่ผู้ค้าบางรายก็รายงานว่าต้องจ่ายสูงกว่าถึง 10 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในบางกรณี


ความต้องการเครื่องประดับทองของอินเดียได้รับแรงกระตุ้นจากช่วงเทศกาลงานแต่งงาน และบรรยากาศที่ดีขึ้นในตลาดชนบท เทศกาล Akshaya Tritiya ซึ่งเป็นเทศกาลหลักตามปฏิทินฮินดูที่ชาวอินเดียมักจะซื้อทองกันนั้น ได้ช่วยกระตุ้นความต้องการเครื่องประดับทองดังเช่นที่เคยเป็นมา แต่การที่เทศกาลในปีนี้มาอยู่ในช่วงสุดสัปดาห์และบังเอิญตรงกับช่วงที่ราคาทองลดต่ำลงพอดียิ่งช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเป็นพิเศษ ตามตัวเลขโดยประมาณการยอดขายที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล Akshaya Tritiya เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ตลาดชนบทปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากรัฐบาลยังคงนำธนบัตรมาแทนที่เงินตราซึ่งถูกดึงออกจากระบบอันเป็นผลจากการยกเลิกธนบัตร 500 และ 1,000 รูปีในเดือนพฤศจิกายน 2016 แม้ว่าอัตราการนำธนบัตรใหม่กลับเข้ามาในระบบยังคงช้าอยู่ (โดยเหตุผลสำคัญมาจากการทำธุรกรรมทางดิจิตัลได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น) มูลค่าเงินตราหมุนเวียนในระบบกลับมาอยู่ที่ราว 15.4 ล้านล้านรูปีหรือประมาณร้อยละ 86 ของมูลค่าก่อนการยกเลิกธนบัตร สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคชนบท ร่วมกับการคาดหมายว่าจะมีปริมาณฝนตกอย่างเหมาะสมในช่วงฤดูมรสุม และผลดีจากการที่ปฏิทินฮินดูมีจำนวนวันมงคลสำหรับการแต่งงานมากขึ้นในช่วงนี้ (มีวันมงคล 26 วันในไตรมาสที่สองของปีนี้ ขณะที่มีเพียง 8 วันในไตรมาสที่สองของปี 2016)

สำหรับแนวโน้มอุปสงค์เครื่องประดับทองในช่วงครึ่งปีหลังนี้อยู่ในระดับปานกลาง แม้ว่าอัตราภาษีสินค้าและบริการที่ร้อยละ 3 นั้นต่ำกว่าที่หลายฝ่ายในอินเดียคาดการณ์ไว้ แต่ World Gold Council มองว่าภาษีใหม่น่าจะก่อให้เกิดการหยุดชะงักเป็นเวลาสั้นๆ เพราะผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก ผู้นำเข้า และผู้บริโภค ต้องปรับตัวกับระเบียบใหม่ เนื่องจากผู้บริโภคและผู้นำเข้าได้ขยับการซื้อของตนให้เร็วขึ้นมาอยู่ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ความต้องการจึงน่าจะชะลอตัวลงเป็นเวลาสองสามสัปดาห์ มีสินค้าคงคลังจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อุปทานและผู้บริโภคที่เพิ่งซื้อสินค้าไปก็ไม่น่าจะซื้ออีกในระยะอันใกล้นี้ ระหว่างที่ตลาดค่อยๆ ย่อยสินค้าทองคำส่วนนี้และปรับตัวตามภาษี GST “เรามองว่าบรรยากาศในตลาดน่าจะทรงตัวไปจนถึงช่วงปลายปี 2017 เราเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีต่อความต้องการทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงเทศกาลหลัก Diwali ในเดือนตุลาคมมาถึง”

จีน

ความต้องการเครื่องประดับทองในจีนลดลงอีกครั้ง แต่มีอัตราการชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ ความต้องการเครื่องประดับทองที่ 137.7 ตัน (ลดลงร้อยละ 5 จากปีก่อน) นับว่าเป็นตัวเลขในไตรมาสที่สองที่ต่ำที่สุดของจีนในช่วงห้าปี แต่แนวโน้มการลดลงในช่วงสามปีที่ผ่านมาได้ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาของปี 2017 โดยความต้องการในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2016

การหันเหความสนใจจากทองคำบริสุทธิ์ 24 กะรัตไปเป็นเครื่องประดับทองที่มีกะรัตต่ำกว่า เน้นการออกแบบมากกว่า และมีอัตรากำไรสูงกว่า ยังคงเป็นแนวโน้มที่เด่นชัด การลดความสนใจต่อเครื่องประดับทองล้วน 24 กะรัตแบบดั้งเดิมนั้นส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเองและสร้างความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ขณะเดียวกันก็เป็นแนวโน้มที่ขับเคลื่อนโดยภาคอุตสาหกรรมด้วย ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตต่างหากลยุทธ์สร้างความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงโดยการดึงดูดผู้บริโภคด้วยสินค้าใหม่ที่นำเสนอนวัตกรรม และที่สำคัญคือทำอัตรากำไรสูง ตัวอย่างเช่น Chow Tai Fook ได้เปิดตัวชุดเครื่องประดับทอง 22 กะรัตในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เครื่องประดับชุดนี้มีค่าความบริสุทธิ์ของทองคำสูงและมีการออกแบบอันล้ำสมัย มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้บริโภคหนุ่มสาว และตั้งราคา ‘ต่อชิ้น’ แทนที่จะวัดตามน้ำหนักทองคำ

บริษัทอื่นๆ ได้เปิดตัวธุรกิจใหม่เพื่อดึงดูดผู้บริโภคหนุ่มสาวเช่นกัน ตัวอย่างที่น่ากล่าวถึงคือการร่วมมือกันระหว่าง Luk Fook กับเกมออนไลน์บนสมาร์ตโฟนของบริษัท Tencent ที่มีชื่อว่า ‘Honour of Kings’ เพื่อผลิตแหวนสำหรับผู้ชนะการแข่งขัน King Pro League ของเกมนี้ เกมดังกล่าวมีผู้เล่นต่อเนื่องอยู่ 50 ล้านคน (ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 25 ปี) โดยหลักๆ เป็นผลมาจากการส่งเสริมการขายที่ประสบความสำเร็จผ่านทาง WeChat (สื่อสังคมออนไลน์ของ Tencent ที่มีผู้ใช้กันอย่างแพร่หลาย) แม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะดึงดูดความสนใจในวงกว้าง แต่การมีปริมาณทองคำค่อนข้างต่ำทำให้สินค้าดังกล่าวไม่อาจช่วยกระตุ้นความต้องการเครื่องประดับทองที่กำลังลดลงได้

 

Luk Fook


กระแสที่เป็นอุปสรรคต่อความต้องการเครื่องประดับทองในจีนอาจสงบลง หากแต่อุปสงค์การบริโภคเครื่องประดับทองต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้บริโภครุ่นใหม่เริ่มไม่สนใจธรรมเนียมการซื้อเครื่องประดับทอง 24 กะรัต สินค้าเครื่องประดับทองที่มีเนื้อทองน้อยกว่าและทำอัตรากำไรสูงกว่าจึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อถมช่องว่างนี้ แต่เท่าที่ผ่านมาในปีนี้ ความต้องการเครื่องประดับทองมีอัตราการลดที่ชะลอตัวลง และภาคอุตสาหกรรมก็เล็งเป้าหมายไปยังผู้บริโภคกลุ่มหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงมองว่าตลาดนี้อาจใกล้แตะจุดต่ำสุด หลังจากความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดสูงสุดในปี 2013

ตลาดอื่นๆ ในเอเชีย

ตลาดขนาดรองลงมาในเอเชียส่วนใหญ่มีความมั่นคงมากกว่า ยกเว้นเพียงไม่กี่กรณี เวียดนามนำทางมาก่อนด้วยความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความต้องการเครื่องประดับทองในเวียดนามไปแตะที่ 3.9 ตันในไตรมาสที่สองของปีนี้ นับเป็นความต้องการในไตรมาสสองซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากตลาดยังคงฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงปี 2012 การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นก็เป็นฉากหลังที่ช่วยสนับสนุนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าความต้องการเครื่องประดับทองในเวียดนามจะได้รับแรงกระตุ้นจากการแข่งขันอันดุเดือดระหว่างผู้ผลิตเครื่องประดับชั้นนำ Phu Nhuan Jewelry กับ DOJI Jewelry Group ทำให้ทั้งสองบริษัทขยายเครือข่ายสาขาภายในประเทศออกไป

ตะวันออกกลางและตุรกี

ราคาทองคำในประเทศที่ลดต่ำลงนำไปสู่การตอบสนองอย่างชัดเจนในตุรกี กล่าวคือ ความต้องการเครื่องประดับทองเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2016 เงินลีร่าของตุรกีแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐตลอดไตรมาส ทำให้ราคาทองคำในประเทศลดต่ำลงในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาทองคำในหน่วยเงินลีร่าลดลงจนทำสถิติต่ำสุดในเดือนมีนาคม 2017 จึงนับเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าเครื่องประดับทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฤดูกาลแต่งงานใกล้เข้ามา ความต้องการได้รับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลตุรกี แม้ว่าจะเน้นไปยังการซื้อทองเพื่อจุดประสงค์ด้านการลงทุนก็ตาม

ความต้องการเครื่องประดับทองในตะวันออกกลางอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อคิดรวมทั้งภูมิภาค แต่เมื่อพิจารณาในระดับประเทศก็จะเห็นความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ความต้องการในอียิปต์ลดฮวบถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2016 ไปแตะจุดต่ำสุดที่ 4.7 ตัน เงินปอนด์อียิปต์ยังคงอ่อนค่ามาก ทำให้ราคาทองคำในประเทศพุ่งสูงขึ้น ธนาคารกลางเพิ่มอัตราภาษีระหว่างไตรมาสเพื่อพยายามหยุดยั้งการตกต่ำของค่าเงิน แต่การกระทำดังกล่าวกลับบั่นทอนความต้องการเครื่องประดับทองของผู้บริโภค ในทางตรงกันข้าม ตลาดเครื่องประดับทองของอิหร่านเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ความต้องการในไตรมาสที่สองของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 มาอยู่ที่ 10.2 ตัน ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นจากชัยชนะถล่มทลายของ Hassan Rouhani ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมถึงความคาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลดลงในช่วงหลังของปีนี้ ส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองของอิหร่านในครึ่งแรกของปี 2017 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 มาอยู่ที่ 22.9 ตัน นับเป็นความต้องการในช่วงครึ่งปีแรกที่สูงที่สุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

ภูมิภาคตะวันตก

ตลาดสหรัฐอเมริกายังคงทะยานตัวสูงขึ้นจากฐานเดิมตั้งแต่ปี 2012 ความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สองของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขยับขึ้นมาเป็น 26.9 ตัน แต่ก็ยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วงห้าปีที่ 28.9 ตันอยู่เล็กน้อย โดยในภาพรวมความต้องการเครื่องประดับทองในครึ่งแรกของปี 2017 สูงขึ้นจากความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ส่งผลให้ความต้องการในครึ่งปีแรกนี้เติบโตร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นเป็น 49.9 ตัน นับว่าเป็นความต้องการช่วงครึ่งปีแรกที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2009 เป็นต้นมา

ความต้องการเครื่องประดับทองของยุโรปในไตรมาสที่สองของปีนี้ยังหดตัว โดยลดลงร้อยละ 4 ทั่วทั้งภูมิภาค ความต้องการแผ่วลงมากในสหราชอาณาจักร เนื่องจากสภาวะความไม่แน่นอนอันยาวนานในประเด็น Brexit ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่รู้สึกกังวล ความต้องการเครื่องประดับทองของสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่สองของปี 2017 จึงลดลงร้อยละ 10 ไปอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบสามปีที่ 3.8 ตัน ขณะที่ความต้องการของอิตาลีคงตัวที่ 4 ตันในไตรมาสที่สองของปีนี้ มีการคาดหมายกันว่าแนวโน้มความต้องการที่ลดต่ำลงมาเป็นเวลานานในตลาดนี้จะมาถึงจุดสิ้นสุด และอาจถึงขั้นเป็นไปได้ว่าตลาดจะเติบโตขึ้นบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

------------------------------------------
ที่มา: “Gold Demand Trends Q2 2017.” WORLD GOLD COUNCIL. Available from http://www.gold.
org/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-q2-2017. (August 3, 2017: pp. 2-5).
 
 
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที