ปัจจัยบวกในการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดเกิดใหม่
โดย รศ.ดร.สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส
อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : https://flatworldbusiness.wordpress.com/flat-education-marketing-in-emerging-markets/
เรามักได้ยินกูรูทางด้านธุรกิจกล่าวอยู่เสมอว่าให้มองหาโอกาสในการเจาะเข้าตลาดเกิดใหม่ หรือ ที่เรียกว่า “Emerging Market” เพราะเป็นตลาดที่ยังมีคู่แข่งไม่มากนัก และมีความต้องการซื้อสูง แต่เราเคยถามกลับหรือไม่ว่า ตลาดเกิดใหม่หมายถึงอะไร เพราะคำจำกัดความของตลาดเกิดใหม่เองมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตลาดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ตลาดที่มีมูลค่าตลาดรวมของหุ้น (Market Capitalization หรือที่นิยมเรียกย่อๆ ว่า มาร์เก็ตแคป) ต่ำเมื่อเทียบกับขนาดของ GDP หรือตลาดที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง หรือตลาดที่ยังไม่จัดเป็นประเทศอุตสาหกรรม (Industrialized) เป็นต้น แต่คำจำกัดความเหล่านี้กลับสร้างความสับสนมากกว่าความชัดเจน เพราะไม่มีเกณฑ์ตัวเลขที่แน่นอนในการวัดค่าต่างๆ เหล่านั้น และหลายสำนักก็มักกล่าวว่าตลาดเกิดใหม่ประกอบไปด้วยประเทศ BRICS (Brazil, Russia, India, China และ South Africa) ซึ่งก็ยิ่งคลุมเครือมากขึ้นไปอีก เพราะประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่ม BRICS หลายประเทศก็มีลักษณะเป็นตลาดเกิดใหม่เหมือนกัน เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น
ถึงแม้แก่นของบทความนี้จะไม่ได้อยู่ที่การจำกัดความของคำว่า ตลาดเกิดใหม่ แต่ผู้เขียนก็ขอเสนอคำจำกัดความโดยอาจารย์จาก Harvard สองท่านคือ Khanna และ Palepu ที่เสนอแนวคิดว่าประเทศที่ถูกจัดว่าเป็นตลาดเกิดใหม่จะมีช่องว่าง ช่องโหว่ หรือสูญญากาศทางโครงสร้างสถาบัน (Institutional Voids) ที่ส่งผลทำให้การทำงานของกลไกตลาด (อันได้แก่ ตลาดของสินค้าและบริการ ตลาดแรงงาน ตลาดทุน) เป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดข้อมูลในเรื่องของสินค้าหรือบริการ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอน ระบบการทำงานของศาลสถิตยุติธรรมที่ยังขาดความโปร่งใส การขาดแคลนสถาบันการศึกษาที่จะสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ หรือบริษัทจัดหางาน การขาดสถาบันการเงินรูปแบบต่างๆ หรือไม่มีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นต้น นั่นแปลว่า การทำธุรกิจกับตลาดเกิดใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่นักธุรกิจหลายรายก็กลับมองช่องว่างนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่น การที่ Jack Ma สร้างระบบอาลีเพย์ ก็เพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ที่คนจีนส่วนใหญ่ไม่มีเครดิตการ์ด หรือธนาคารที่เขาสร้างขึ้นก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการให้สินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีเครดิตในการไปขอกู้จากธนาคารแบบเดิมๆ เป็นต้น
แม้ว่าคำจำกัดความของคำว่า ตลาดเกิดใหม่ จะเป็นอย่างไร สิ่งที่มักจะได้ยินควบคู่ด้วยเสมอคือ ในตลาดเกิดใหม่จะมีสัดส่วนคนชั้นกลาง (Middle Class) เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะเกิดคำถามต่อว่า ใครคือคนชั้นกลาง แล้วคนชั้นกลางมีพฤติกรรมการบริโภคเป็นอย่างไร หรือเกี่ยวอะไรกับธุรกิจของเรา คำถามแรกคือใครคือ ชนชั้นกลาง ธนาคารโลกได้ให้คำจำกัดความว่าคือ คนที่มีรายได้วันละ 10-100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ซึ่งจะเห็นว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้าง เพราะขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาประเทศ เช่น หากเป็นคนสวิส การมีรายได้ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน จะถือว่าเป็นคนชั้นกลาง แต่ถ้าเป็นคนอินเดีย การมีรายได้ 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ก็ถือเป็นคนชั้นกลางแล้ว ซึ่งคำจำกัดความนี้ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่ดี แต่มีคำจำกัดความหนึ่งที่ฟังดูจะมีเหตุผลมากกว่าคือ คนชั้นกลาง หมายถึง คนที่มีรายได้เหลือเพื่อใช้จ่ายในการซื้อความสุขสบายประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด หรือพูดง่ายๆ ว่าหลังจากใช้จ่ายเพื่อสิ่งจำเป็น เช่น ค่าเช่า/ค่าผ่อนบ้านที่อยู่อาศัย อาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ แล้ว ยังเหลือเงินเพื่อใช้จ่ายซื้อความสุขสบาย สิ่งของฟุ่มเฟือย อีก 1 ใน 3 คำถามถัดมา คือ คนชั้นกลางมีพฤติกรรมการบริโภคเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเขาย่อมมองหาสิ่งที่นำมาซึ่งความสุขสบายให้กับตนเองและครอบครัว เช่น การออกไปทานอาหารนอกบ้าน การไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ การผ่อนรถ และแม้แต่การซื้อเครื่องประดับ อย่างไรก็ดี การทำธุรกิจกับคนชั้นกลางนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่จัดว่าเป็นสินค้าที่อยู่ในระดับที่เกินความจำเป็น (ฟุ่มเฟือยที่สุด) ในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสุขสบาย แม้ผู้หญิงหลายคนจะแก้ต่างว่าเป็นการซื้อเพื่อวัตถุประสงค์ในการออมหรือการลงทุนก็ตาม เนื่องจากว่าคนชั้นกลางจัดว่าเป็นคนที่เรียกว่า Demanding หรือพูดภาษาชาวบ้านคือเรื่องมาก และคนกลุ่มนี้ไม่ได้ยึดติดอยู่กับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง คือยังชอบที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ แต่สิ่งที่จะมัดใจคนกลุ่มนี้ได้คือ ต้องเป็นแบรนด์ที่เจ๋งจริง (Cool Brand) และด้วยสนนราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เครื่องประดับเงินยี่ห้อหนึ่งที่เป็น Charm ดังไปทั่วโลก ด้วยการสร้างแบรนด์ที่ทำให้คนใส่มีลุคที่เท่ห์ (Cool Look) และด้วยราคาที่จับต้องได้ (ไม่ได้ถูกหรือแพงเกินไป)
ที่มา : https://www.linkedin.com
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่มักจะได้ยินควบคู่กันกับตลาดเกิดใหม่ก็คือ สังคมมีความเป็นเมือง (Urbanization) มากขึ้น ความเป็นเมืองนี้ก็จะมาควบคู่กับขนาดของครอบครัวที่เล็กลง ซึ่งต่างก็มีผลดีกับธุรกิจสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งสิ้น เพราะนอกจากความจำเป็นในการแต่งตัวสวยขึ้นแล้ว การมีขนาดครอบครัวที่เล็กลงก็หมายถึงเงินที่ใช้ในการจับจ่ายใช้สอยของฟุ่มเฟือยก็สูงขึ้นด้วย มีตัวเลขทางสถิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงจีนมีการเดินเฉลี่ย ปีละ 1,200 กิโลเมตร ในการ Window Shopping ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความเป็นสังคมเมืองที่สูงขึ้นของประเทศจีน และมีนัยยะต่อธุรกิจค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับว่า ถึงแม้ยอดการซื้อขายออนไลน์ในประเทศจีนจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่ผู้คน (โดยเฉพาะผู้หญิง) ก็ยังนิยมการเดินเล่นตามถนนชอปปิง หรือในห้างสรรพสินค้าอยู่ดี การที่จะปิดร้านค้าทั้งหมดแล้วมาขายแต่ในออนไลน์อย่างเดียวนั้นอาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมนัก แต่ผู้ค้าควรพิจารณาถึงการเปิดช่องทางการขายเป็นแบบ Omnichannel มากกว่า ซึ่ง Omnichannel นี้หมายถึงการผสานและเชื่อมโยงช่องทางการขายทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีและไร้รอยต่อ (Seamless) ให้กับลูกค้าผ่านทุกช่องทางการขายที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน ทีวีชอปปิง แคตตาล็อก มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เป็นต้น
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : ปัจจัยบวกในการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดเกิดใหม่