เกรซ เคลลี่
ภาพจาก: InStyle
ถึงตอนนี้ชื่อและใบหน้าของคนคนหนึ่งก็ได้ลอยเข้ามาในความคิด เธอมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ สาวสวย ผมบลอนด์ จิตใจดี มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนางเอกแถวหน้าของฮอลลีวู้ดในยุค 50 เธอเคยรับบทเป็นเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ ซึ่งต่อมาเธอก็ได้กลายเป็นเจ้าหญิงในชีวิตจริง เธอคือ ‘เกรซ เคลลี่’ หรือ ‘เจ้าหญิงเกรซ แห่งโมนาโก’
ชีวิตรักของเกรซ เคลลี่ เริ่มขึ้นเมื่อปี 1955 ขณะที่เธอเดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนต์ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส และได้รับเชิญให้ไปถ่ายแบบที่พระราชวังโมนาโก จึงได้พบกับเจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 ความสวยและมีเสน่ห์ของเธอเป็นที่ต้องตาต้องใจเจ้าชายเป็นอย่างมาก ภายหลังจากกลับมายังสหรัฐฯ เกรซก็ยังคงมุ่งมั่นในงานแสดงที่เธอรักต่อไป และได้รับการติดต่อจากเจ้าชายเป็นประจำ จนได้พัฒนาระดับความสัมพันธ์เรื่อยมา กระทั่งเจ้าชายเรนิเยร์ได้เสด็จเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในปี 1956 และได้ใช้โอกาสนี้เดินทางไปพบกับเกรซ และครอบครัวของเธอที่เมืองฟิลาเดเฟียเพื่อขอเธอแต่งงาน ซึ่งแน่นอนว่าเธอตอบตกลง ในวันนั้นเจ้าชายได้มอบ Eternity Ring แหวนที่ตกแต่งด้วยอัญมณีเรียงกันเป็นแถวเดียวของ Cartier ให้แก่เกรซเพื่อแทนคำมั่นสัญญา แหวนวงนี้ประดับด้วยเพชรเรียงสลับกับทับทิม ซึ่งสีขาวและแดงนั้นคือสีของธงชาติโมนาโก แต่จะด้วยเหตุผลที่เกรงว่าเจ้าสาวในอนาคตจะน้อยหน้าเพื่อนดาราด้วยกัน หรือเพราะแหวนที่ตั้งใจมอบเป็นแหวนหมั้นนั้นเสร็จไม่ทันหมายกำหนดการเดินทางไปสหรัฐฯ อย่างไรก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่หลังจากนั้นไม่นานนักเจ้าชายเรนิเยร์ก็ได้มอบแหวนเพชรเจียระไนแบบ Emerald Cut ขนาด 10.47 กะรัต ทั้งสองข้างถูกขนาบด้วยเพชรขนาดย่อมบนตัวเรือนแพลทินัม เพื่อเป็นแหวนหมั้นแก่เจ้าหญิงแห่งฮอลลีวู้ดคนนี้
(ซ้าย) Eternity Ring ตกแต่งด้วยเพชรและทับทิมจาก Cartier ที่เจ้าชายเรนิเยร์มอบให้เกรซ เคลลี่ ในวันที่ขอเธอแต่งงาน
(กลาง) เจ้าชายเรนิเยร์ที่ 3 และเกรซ เคลลี่ (ภาพโดย: Gettyimages / AFP)
(ขวา) แหวนเพชร Emerald Cut ขนาด 10.47 กะรัต จาก Cartier เป็นวงที่เจ้าชายเรนิเยร์ใช้หมั้นเกรซ เคลลี่ อย่างเป็นทางการ
พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายเรนิเยร์ และเกรซ เคลลี่ ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 1956 เรียกได้ว่าเป็นงานแต่งงานที่ยิ่งใหญ่และมีผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดแห่งศตวรรษ มีแขกผู้มีเกียรติและชนชั้นสูงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้รับเชิญเข้าร่วมงานราว 600 คน และได้ถ่ายทอดพระราชพิธีนี้ออกไปทั่วยุโรป โดยคาดว่ามีผู้ชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์มากถึง 30 ล้านคน
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เกรซ เคลลี่ หรือเจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโก ตัดสินใจหันหลังให้กับวงการมายาอย่างถาวรและเริ่มบทบาทใหม่ในชีวิต บทบาทที่ไม่ใช่แค่ศรีภรรยาของชายคนหนึ่ง หรือมารดาของบุตรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงบทบาทประมุขของประเทศฝ่ายสตรีอีกด้วย เจ้าหญิงเกรซเป็นชนชั้นสูงคนแรกๆ ที่สนับสนุนการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ ทั้งยังจัดงานคริสต์มาสให้แก่เด็กกำพร้าเป็นประจำทุกปี และยังจัดงานการกุศลเพื่อระดมเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ด้วยบุคลิกที่เป็นกันเอง ไม่ถือตัว และใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มอยู่เสมอเจ้าหญิงเกรซจึงเป็นที่รักของประชาชนชาวโมนาโกได้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงกระนั้น เส้นทางการเป็นเจ้าหญิงของเธอก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบไปเสียทั้งหมด ใครจะรู้ว่าภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มอาจเต็มไปด้วยหยาดน้ำตา สิ่งที่เราเห็นว่าหรูหราสวยงามก็อาจเป็นเพียงฉากหน้าม่านที่ถูกจัดเตรียมขึ้น เจ้าหญิงเกรซต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้านนับตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาสู่การเป็นสมาชิกของราชวงศ์กริมัลดี ข้อจำกัดด้านภาษาเป็นประการหนึ่ง ด้วยโมนาโกเป็นประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ชาวโมนาโกจึงใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ การเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาตามแบบอเมริกันชนที่นิยมความเท่าเทียมและสิทธิสตรี ทำให้เจ้าหญิงเกรซไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจของคนในราชสำนัก ไหนจะเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติตามแบบโบราณราชประเพณีภายในราชสำนักที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจุกจิกสำหรับเธอ อีกทั้งภาวะความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างโมนาโกและฝรั่งเศสที่เข้าขั้นวิกฤติถึงขนาดที่นายพลชาร์ล เดอ โกล สั่งให้นำรถถังมาปิดพรมแดนและขู่จะเข้ายึดประเทศ รวมถึงปัญหาความระหองระแหงในชีวิตคู่ซึ่งว่ากันว่ามีชนวนมาจากการไม่ยอมเป็นช้างเท้าหลังของเธอนั่นเอง และแล้วคำโจษจันที่ว่าราชวงศ์กริมัลดีเป็นราชวงศ์ต้องคำสาปในเรื่องของความรักที่ไม่สมหวังก็ได้หวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อเจ้าหญิงเกรซ สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1982 ขณะมีอายุเพียง 52 ปีเท่านั้น ถือเป็นการปิดฉากทุกบทบาทของเธอ เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังความเสียใจมายังเจ้าชายเรนิเยร์เป็นอย่างยิ่ง ร่างของเธอได้ถูกนำไปฝังไว้ที่โบสถ์เซนต์นิโคลัส ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่ใช้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส สำหรับเจ้าชายเรนิเยร์นั้น พระองค์ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับสตรีอื่นเลยตลอดพระชนม์ชีพ แสดงให้เห็นถึงความรักมั่นคงที่มีต่อพระชายา เจ้าชายเรนิเยร์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2005 สิริพระชนมายุ 81 พรรษา ซึ่งพระบรมศพของพระองค์ได้ถูกฝังเคียงข้างกับเจ้าหญิงเกรซ แม้ว่าตอนจบของซินเดอเรลล่าฉบับโมนาโกจะไม่สวยงามชวนฝันเท่าใดนัก แต่เมื่อนึกถึงเกรซ เคลลี่ ขึ้นมาครั้งใด ภาพที่ติดตาตรึงใจและอยู่ในความทรงจำก็ยังเป็นภาพของหญิงผู้งามสง่า ใบหน้าที่ยิ้มแย้มมีเสน่ห์ และแววตาฉายประกายสดใส ช่างน่าเสียดายที่ฉากชีวิตของเธอต้องปิดม่านลงก่อนเวลาอันควร ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) -------------------------------------------------------------------------- ข้อมูลอ้างอิง: 1. ภาพยนต์เรื่อง Grace of Monaco (2014). 2. Silver screen stars and their jewellery: Grace Kelly. Aimée Grant Cumberbatch. The Telegraph. (3 January 2016). http://www.telegraph.co.uk/luxury/jewellery/silver-screen-stars-and-their-jewellery-grace-kelly/ 3. Princess Grace’s Jewels. The Court Jeweller. (6 January 2016). http://www.thecourtjeweller.com/2016/01/princess-graces-jewels.html 4. Grace Kelly เจ้าหญิงตัวจริงไม่อิงนิยาย. (11 July 2016). https://minimore.com/b/q69UV/5 5. Grace of Monaco เจ้าหญิงผู้โสภากับหยาดน้ำตาใต้หน้ากาก. http://www.filmax.in.th/reviews442.html |
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที