GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 21 ส.ค. 2017 08.54 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1859 ครั้ง

การประกาศยุทธศาสตร์สำคัญของจีนผ่านโครงการ One Belt and One Road (OBOR) เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของปี 2017 ที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจ เนื่องจากเห็นว่าจะกลายมาเป็นตัวกำหนดทิศทางโลก ที่มีผลต่อรูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งมิติด้านการเมืองและเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งถึงแม้ว่านโยบาย OBOR จะไม่ใช่สิ่งที่จีนเพิ่งริเริ่ม หากแต่การออกมาประกาศให้ทั่วโลกรับรู้อย่างเป็นทางการก็เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของจีนที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/iJdT9V หรือบทความอื่นๆ เพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th


อนาคตการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยกับการเชื่อมโยงเส้นทาง OBOR

 
ที่มา: http:/www.chinadaily.com และ http://thediplomat.com/
 
การประกาศยุทธศาสตร์สำคัญของจีนผ่านโครงการ One Belt and One Road (OBOR) เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของปี 2017 ที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจ เนื่องจากเห็นว่าจะกลายมาเป็นตัวกำหนดทิศทางโลก ที่มีผลต่อรูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งมิติด้านการเมืองและเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งถึงแม้ว่านโยบาย OBOR จะไม่ใช่สิ่งที่จีนเพิ่งริเริ่ม หากแต่การออกมาประกาศให้ทั่วโลกรับรู้อย่างเป็นทางการก็เท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของจีนที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์


โดยสำหรับไทยแล้ว ด้วยความที่จีนเป็นคู่ค้าสำคัญ และเป็นตลาดใหญ่ที่สามารถขยายโอกาสการส่งออกให้กับสินค้าต่างๆ รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐ และผู้ประกอบการไทยจึงควรตั้งรับ และแสวงหาประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

สาระสำคัญเกี่ยวกับโครงการ One Belt and One Road ของจีน 

โครงการ One Belt and One Road (OBOR) ของจีนหรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ “เส้นทางสายไหม” ได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์หลักของจีน ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และมีบทบาททางการเมืองโลกมากยิ่งขึ้น โดย OBOR ถือเป็นโครงการผสมผสานในการลงทุนสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ อาทิ การสร้างระบบรางรถไฟ สร้างถนน ท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายการค้าโลกที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โดยมีจีนเป็นศูนย์กลางหลักของเส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 65 ประเทศทั่วโลก และจำนวนประชากรรวมกว่า 4,500 ล้านคน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก
             
OBOR หรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 เป็นการสร้างแรงกระตุ้นใหม่ๆ ให้กับจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ตลอดจนขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น โดยจีนใช้เงินลงทุนโครงการกว่า 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมกับจัดตั้งธนาคารการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank- AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนมีความพร้อมอย่างเต็มที่ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก ทั้งนี้ พิมพ์เขียวของโครงการ OBOR ประกอบไปด้วย 2 ระบบเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) หรือชื่อย่อว่า One Belt ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมจีนกับยุโรป ผ่านเอเชียกลางโดยเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟ และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) หรือชื่อย่อว่า One Road เป็นเส้นทางเชื่อมจีนเข้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง ก่อนจะวกเข้าสู่ยุโรปโดยใช้เส้นทางของเรือเดินสมุทร ซึ่งตลอดเส้นทางการคมนาคมที่อยู่ภายใต้โครงการ นอกจากจะมีการปรับปรุงระบบเส้นทางที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังมีการสร้างศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการค้าขึ้นมา เพื่อกระชับและส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ที่มา: http://www.cnbc.com
 
 

ความเชื่อมโยงโครงการ One Belt and One Road กับประเทศไทย

ที่มา: http://www.cnbc.com
 
ถึงแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ณ ปัจจุบัน อาจไม่หวือหวาดั่งที่เคยเป็นในอดีต แต่ก็เป็นการเติบโตที่มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงและมีคุณภาพ ซึ่งจีนได้วางยุทธศาสตร์และนโยบายทางเศรษฐกิจเอาไว้โดยมุ่งหวังถึงผลประโยชน์ระยะยาว จากแผนการพัฒนาเส้นทางในโครงการ OBOR ถึงแม้ว่าเส้นทางที่พาดผ่านมายังกลุ่มอาเซียนนั้นจะ ไม่ได้อยู่ในแผนอันดับต้นๆ ที่จีนให้ความสำคัญเป็นหลัก หากแต่มีการคาดการณ์ไว้ว่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนในช่วงปี 2030 จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 25 ของมูลค่าการค้าโดยรวมของอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือและโอกาสทางการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกในอาเซียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
 
ถึงแม้ว่าเส้นทางหลักที่จีนได้วางพิมพ์เขียวเอาไว้เบื้องต้น จะไม่ได้ตัดผ่านไทยโดยตรง แต่เนื่องจากการที่ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในทุกมิติ อีกทั้งไทยยังมีนโยบายการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับ OBOR ของจีน อาทิ นโยบายส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) ที่จะมีส่วนผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนอย่างสมบูรณ์
 
ซึ่งนโยบายเหล่านี้ ไทยจำเป็นที่จะต้องสร้างและพัฒนาระบบการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ OBOR ของจีนได้โดยตรง ล่าสุดไทยได้เตรียมความพร้อมที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเข้ากับยุทธศาสตร์ OBOR ของจีน จากการตกลงทำความร่วมมือในโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งจะเชื่อมพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ต่อเนื่องไปยังจีน รวมระยะทางกว่า 1,800 กิโลเมตร ประกอบกับโครงการสร้างถนน ก็จะทำให้ไทยกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางตามแนวโครงการ OBOR ในที่สุด ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับโครงการ OBOR จะถือเป็นโอกาสสำคัญในอนาคตที่ไทยจะใช้ช่องทางดังกล่าวในการเข้าถึงตลาดในต่างประเทศได้ ทั้งตลาดเก่า และตลาดใหม่ ตลอดจนสามารถกระจายสินค้าไปยังคู่ค้าที่หลากหลายซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ในอนาคต
 
OBOR กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
         
จากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก เมื่อผสานกับโครงการสร้างและพัฒนาระบบการคมนาคมทางบกของไทยให้มีความทันสมัยเพื่อเชื่อมโยงให้เข้ากับเส้นทางหลักของ OBOR ย่อมทำให้เกิดแรงดึงดูดด้านการค้าและการลงทุนมุ่งมาสู่ประเทศไทยที่ถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยถึงแม้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะอาศัยการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก แต่การสร้างและพัฒนาระบบขนส่งทางบกขึ้นมาใหม่ จะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ต่อเนื่องไปยังจีนนั้นมีความสะดวกและเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้น ดังเช่น เส้นทางรถไฟไทย-สิงคโปร์-กัมพูชา-ลาว-เวียดนาม-จีน เส้นทางรถไฟไทย-เมียนมา-จีน และเส้นทางหลวงไทย-ลาว-จีน เป็นต้น โดยเส้นทางรถไฟสายหลักหลายจุดที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะมีส่วนที่เชื่อมต่อกับแหล่งการค้าอัญมณีของไทย อาทิ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดจันทบุรี  (เป็นทางรถไฟสายรองที่จะมีการปรับปรุงระบบรางและเชื่อมต่อกับเส้นทางสายหลัก) ถือเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าของทุกพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง การเดินทางติดต่อไปมาระหว่างผู้ซื้อผู้ขายรายย่อย รวมถึงบรรดาพ่อค้าเร่ทั้งที่เป็นชาวจีนและชาติอื่นๆ ในภูมิภาค มีความสะดวกเป็นเส้นทางเดียว จนเกิดเป็นบรรยากาศการค้าที่คึกคัก นอกจากนี้ ยังมีส่วนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน และชาติต่างๆ ให้เข้ามายังพื้นที่ค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับ อันเป็นการช่วยให้เกิดการซื้อขายสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
 
ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ 
 
จากข้อมูลการค้าระหว่างไทยกับจีน ในปี 2016 พบว่าไทยขาดดุลการค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้แก่จีน โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นแร่เงินสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับเงินเพื่อการส่งออก ขณะที่มีมูลค่ารวมการส่งออกจากไทยไปจีนอยู่ที่ 152.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย โดยเครื่องประดับเงินถือเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี และตั้งแต่ต้นปี 2017 จนถึงเดือนมิถุนายน พบว่าจีนมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับเงินจากไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสูงถึง 74.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกพลอยสีของไทยกลับมีมูลค่าลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากปีก่อนหน้า ซึ่งในภาพรวมแล้ว จีนนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากทุกตลาดทั่วโลกลดลง ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ของจีนภายใต้โครงการ OBOR ถือเป็นโอกาสที่ท้าทายในอนาคตสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะแสวงหาประโยชน์ทางการค้ากับจีนให้มีมูลค่าเติบโตขึ้นในอนาคต รวมถึงการพิจารณาถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการขยายมูลค่าทางการค้ากับประเทศต่างๆ ที่อยู่ในแนวเชื่อมโยงกับโครงการดังกล่าว
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที