เด็กๆ เริ่มมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกเครื่องประดับให้ตนเอง จึงเป็นเรื่องดีที่ผู้จัดหาเครื่องประดับจะหันมารับฟังเสียงเหล่านี้ เครื่องประดับสำหรับเด็กมีฐานที่มั่นในตลาดมาตลอด ไม่ว่าจะใหญ่หรือจะเล็กก็ตาม เริ่มต้นจากเครื่องประดับตามธรรมเนียมดั้งเดิมอย่างเช่น กำไลสำหรับพิธีศีลจุ่มและเข็มกลัดที่ระลึก ทุกวันนี้เครื่องประดับหมวดนี้ได้พัฒนาไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือชาร์ม ต่างหู หรือไข่มุก เพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่าเด็กน้อยผู้นำแฟชั่น
เนื่องจากแนวโน้มล่าสุดชี้ให้เห็นว่ามีความต้องการเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในหมู่เด็กทารกไปจนถึงเด็กก่อนวัยรุ่น ผู้ขายเครื่องประดับจึงมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมกระแสและคว้าโอกาสในการสร้างยอดขาย
DPI Jewellery
|
Michael Tran ผู้อำนวยการของ Disney Couture นำเสนอสินค้าเครื่องประดับสำหรับเด็กมานานห้าปี เขากล่าวว่าชุดเครื่องประดับสำหรับลูกค้ารุ่นเยาว์ของทาง
แบรนด์นั้นประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันทางแบรนด์ก็ได้นำเสนอต่างหูเม็ดเดี่ยว สร้อยคอ และกำไล สำหรับเด็กผู้หญิงอายุสามถึงแปดปี
“ผู้ขายหลายรายกล่าวว่ายังไม่มีตัวเลือกมากนักสำหรับเด็กอายุสามถึงแปดปี ดังนั้นจึงยังมีความต้องการอยู่มากในกลุ่มเครื่องประดับที่มีสไตล์ สร้างแรงบันดาลใจ และมีคุณภาพสูงสำหรับเด็กๆ” Tran อธิบาย เขาแนะนำให้ผู้ขายเครื่องประดับกระตุ้นยอดขายด้วยการเลือกสั่งสินค้าที่เหมาะสำหรับการให้เป็นของขวัญในหลายๆ โอกาส ไม่ใช่เฉพาะในเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น
“เรามองว่ากุญแจสำคัญเพื่อเติมเต็มความต้องการในส่วนนี้ก็คือสินค้าที่ดีในราคาที่เหมาะสม” Tran กล่าวต่อ “สไตล์ยอดนิยมของเราก็คือกำไล เป็นสินค้าซึ่งมีราคากำลังดีและเหมาะสำหรับเด็กๆ ในทุกช่วงของพัฒนาการและการเจริญเติบโต”
Display Plus Imports (DPI) Jewellery เป็นผู้จัดหาอีกรายหนึ่งที่นำเสนอเครื่องประดับสำหรับเด็กมานานห้าปี สินค้าชุด Tiny Treasures ของทางบริษัทนั้นประกอบด้วยสร้อยข้อมือ กำไล สร้อยคอ เข็มกลัด และต่างหูเม็ดเดี่ยวสำหรับเด็กแรกเกิดไปจนถึงช่วงก่อนวัยรุ่น
Justin Meath ผู้จัดการทั่วไปของ DPI Jewellery ระบุว่าเครื่องประดับสำหรับเด็กในปัจจุบันนั้นมีตลาดและมีความต้องการที่ชัดเจนและต่อเนื่อง “เราสังเกตเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องในหมวดนี้ตลอดสองสามปีที่ผ่านมา” Meath กล่าว พร้อมอธิบายว่าต่างหูเม็ดเดี่ยวและกำไลที่ปรับขนาดได้เป็นสินค้าที่ทำยอดขายได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นงานที่สลักข้อความลงไปได้ตามต้องการ อันเป็นโอกาสให้ผู้ขายได้เพิ่มคุณค่าทางอารมณ์ในการขายสินค้าชิ้นนั้นๆ
Disney Couture
|
“สร้อยข้อมือและกำไลเงินสเตอร์ลิงสำหรับเด็กเป็นที่ต้องการมากเป็นพิเศษ” Meath กล่าวต่อ “ไม่น่าแปลกใจที่ความนิยมทองสีกุหลาบในเครื่องประดับสำหรับผู้ใหญ่ ก็ส่งผลดีต่อเครื่องประดับสำหรับเด็กของเราด้วยเหมือนกัน เด็กผู้หญิงชอบสิ่งที่แวววาวและมีสีชมพู ดังนั้นการจับคู่ของคุณสมบัติทั้งสองนี้จึงช่วยให้ชิ้นงานมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเครื่องประดับลงยา ทำให้มันกลายเป็น ‘กระแส’ ขึ้นมาในระดับหนึ่ง”
Erica Madsen กรรมการบริษัท Ikecho Pearls กล่าวว่า เธอเริ่มนำเสนอเครื่องประดับสำหรับทารกเมื่อราวหนึ่งปีก่อน ในฐานะผู้จัดหาที่เน้นด้านไข่มุก Madsen มองว่า การนำเสนอวัสดุซึ่งโดยปกติไม่ได้ใช้กับเด็กก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ผู้ขายจะสร้างความแตกต่างได้
“ไข่มุกกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในเครื่องประดับสำหรับทารกและเด็กผู้หญิง” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า Ikecho Pearls ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ตลาดเครื่องประดับสำหรับเด็กเพื่อนำเสนอทางเลือกเพิ่มขึ้นให้บรรดาแม่ๆ ที่ต้องการซื้อสินค้าสำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ
“เธอเองก็เพิ่งมีลูก ก็เลยอยากนำเสนอเครื่องประดับให้คุณแม่คนอื่นๆ ได้แต่งตัวให้ลูกสำหรับพิธีศีลจุ่ม สำหรับการเป็นเด็กโปรยดอกไม้ในงานแต่งงาน และสำหรับวันเกิด” Madsen บรรยายถึงเครื่องประดับที่เธอนำเสนอ ซึ่งมีทั้งสร้อยข้อมือไข่มุกน้ำจืดสีขาวและสีชมพูธรรมชาติ รวมถึงสร้อยคอที่เข้าคู่กันพร้อมสายโซ่เพิ่มความยาว ตลอดจนต่างหูเม็ดเดี่ยวรูปกระดุมและทรงกลม “เราคัดเครื่องประดับสำหรับทารกให้มีน้อยชิ้นแต่เน้นคุณภาพ” เธอเสริม
ความแปลกใหม่
David Paterson เป็นกรรมการผู้จัดการของ Paterson Fine Jewellery ซึ่งนำเสนอชุดเครื่องประดับ My Little Angel ที่ประกอบด้วยแหวนตรา สร้อยข้อมือ และเข็มกลัด มาตั้งแต่ปี 1980 ผู้จัดหารายนี้ยังได้นำเสนอชุดเครื่องประดับ Babylinks ซึ่งประกอบด้วยสร้อยข้อมือเงินสเตอร์ลิงที่สามารถตกแต่งด้วยตัวอักษรและชาร์มหลากสีสันได้ตามความต้องการ
Paterson มองว่าตลาดเครื่องประดับสำหรับเด็กนั้นค่อนข้างมั่นคง “ทุกครั้งที่เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ มันจะทำผลงานได้ดีเพราะผู้ขายมักสนใจไอเดียใหม่ๆ ในตลาดนี้” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าสินค้าแบบดั้งเดิมก็ยังคงได้รับความนิยม
Paterson Fine Jewellery
|
Paterson ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในสินค้าหมวดนี้ โดยกล่าวถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเครื่องประดับทอง “มีคนถามถึงเครื่องประดับทองกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองขาวและทองกุหลาบในระยะหลังมานี้ หมวดเครื่องประดับทองหายไปนานในตลาดนี้ แต่ดูเหมือนว่ากำลังฟื้นกลับมาอีกครั้ง”
Vibeke Henriksen ผู้จัดจำหน่าย Pia & Per ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับจากนอร์เวย์ที่เน้นงานเครื่องประดับเงินสเตอร์ลิงลงยาสำหรับเด็ก ได้ให้ความเห็นว่าสินค้าคุณภาพสูงเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในสินค้าหมวดนี้ “เธอใส่เครื่องประดับ Pia & Per มาตั้งแต่เล็ก ก็เลยเป็นเหตุผลให้เริ่มมาจัดจำหน่ายเครื่องประดับชุดนี้” Henriksen กล่าวว่า เป้าหมายคือเด็กชายและเด็กหญิงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 10 ปี
เมื่อถามว่าเด็กๆ มีกำลังซื้อหรือไม่ Henriksen ก็ยืนยันหนักแน่นว่า 100 เปอร์เซ็นต์ “ถ้าเด็กๆ เห็นอะไรสวยๆ งามๆ เด็กก็จะบอกแม่ว่า ‘หนูอยากได้ค่ะ’ แล้วเด็กก็จะได้” เธอกล่าว “เธอชอบเวลาที่เด็กเล็กๆ เข้ามาในร้านเพราะคุณรู้ว่าผู้ขายจะทำยอดขายได้ทันทีถ้าวางเครื่องประดับไว้ในระดับสายตาของเด็ก”
ด้วยเหตุนี้เอง Paterson จึงเชื่อว่าเด็กๆ มีกำลังซื้ออยู่ในระดับหนึ่ง “ผมคิดว่าเด็กๆ มีอิทธิพลมากกว่าที่เคยเป็นมาด้วยการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ แต่พ่อแม่ก็ยังเป็นคนควบคุมเครื่องประดับที่จะมอบให้ลูกๆ” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ขายควรทำตลาดเครื่องประดับสำหรับเด็กโดยมุ่งเป้าหมายไปยังพ่อแม่และเด็กๆ ด้วย
“แม้ว่าการตลาดจะต้องเน้นความสนุกและมีสีสันเพื่อดึงดูดเด็กๆ ให้มาสนใจสินค้า แต่ก็จะต้องมีความปลอดภัย คุณภาพ และคุณค่าที่ดึงดูดพ่อแม่หรือผู้ซื้อด้วย” Paterson อธิบาย อย่างไรก็ดี ผู้ขายยังคงต้องหาวิธีเพิ่มความสนุกลงไป อย่างการให้ของแถมราคาไม่แพงในการซื้อแต่ละครั้ง เช่น ตุ๊กตาเท็ดดี้แบร์ หรือหีบห่อที่มีการแปะสติ๊กเกอร์
Pia & Per
|
อิทธิพลจากสื่อหรือการรบเร้าจากลูกๆ
สำหรับผู้ขายและผู้จัดหา มีสถานการณ์ที่ขัดแย้งกันอยู่ในตลาดนี้ นั่นคือทำอย่างไรจึงจะนำเสนองานออกแบบที่ดึงดูดเด็กๆ ขณะเดียวกันก็ยังคงดึงดูดผู้ใหญ่ซึ่งเป็นคนซื้อสินค้า ถึงอย่างไรผู้ใหญ่ก็ยังเป็นคนวิเคราะห์ความคุ้มค่าของเครื่องประดับชิ้นนั้นๆ อยู่ดี
Christie Nicholas กรรมการผู้จัดการของบริษัทด้านการสื่อสาร Kids Business Communications กล่าวว่า ประเด็นนี้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในตลาดเด็กก่อนวัยรุ่น ซึ่งเครื่องประดับจะต้องดูไม่เป็นผู้ใหญ่มากเกินไปหรือมีราคาแพงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องให้ผู้สวมใส่ที่เป็นเด็กดูโดดเด่นในหมู่เพื่อนๆ ด้วย
“ทุกวันนี้สร้อยข้อมือและกำไลเป็นที่นิยมมากกว่าเข็มกลัด ในขณะที่พ่อแม่วัยหนุ่มสาวดูเหมือนจะชอบเครื่องประดับทองขาวและเงิน
พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมักจะถามเด็กอายุสามขวบขึ้นไปว่าเด็กชอบอะไร” – Jacque Edwards, Barnett’s Jewellery |
“เด็กก่อนวัยรุ่น (Tweens หรือเด็กที่มีอายุระหว่าง 8 ถึง 12 ปี) มีบทบาทสำคัญต่อความต้องการเครื่องประดับและสินค้าแฟชั่นอื่นๆ” Nicholas กล่าว พร้อมเสริมว่าแม้กระทั่งผู้ซื้อที่เด็กกว่านั้นก็มีอิทธิพลต่อการซื้อเพิ่มมากขึ้น
“ในเด็กอายุน้อยกว่านั้น พ่อแม่มีอิทธิพลต่อการซื้อเครื่องประดับเพื่อเป็นที่ระลึก ถึงแม้ว่า ‘พลังการรบเร้า’ ก็ยังคงมีส่วนสำคัญเมื่อเด็กๆ สนใจความแวววาววิบวับของเครื่องประดับแฟชั่น” เธอกล่าว
Dr. Bill Page เป็นผู้ประสานงานการวิจัยอาวุโสที่สถาบัน Ehrenberg-Bass Institute for Marketing Science ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ University of South Australia Business School เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าสื่อสังคมออนไลน์กำลังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นต่อการซื้อเครื่องประดับของผู้บริโภควัยผู้ใหญ่ แต่ว่าสื่อเหล่านี้มีอิทธิพลเช่นเดียวกันต่อผู้ซื้ออายุน้อยหรือไม่ Page กล่าวว่าก็ใช่ในระดับหนึ่ง
สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาแทนที่นิตยสารและรายการโทรทัศน์เมื่อผู้ซื้อต้องการมองหาแฟชั่นใหม่ๆ หรืออยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าใหม่ๆ ที่น่าซื้อ เขาอธิบาย “มันเป็นเครื่องมือที่เด็กๆ ใช้ดูว่าเพื่อนๆ และคนดังใส่อะไรกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคนดังในกระแสหลักหรือคนดังทาง Instagram อย่างไรก็ดี แม้เราอาจมองว่า Instagram หรือ Facebook หรือ Snapchat เป็นกระแสมาแรง แต่กระแสภายในโรงเรียนก็อาจมีอิทธิพลต่อการซื้อของเด็กแต่ละคนมากกว่า”
Nicholas มีความเห็นในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่าเหล่าดารานักร้อง รวมถึงคนดังใน Instagram และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ นั้นไม่ได้มีอิทธิพลมากไปกว่ากระแสความนิยมในโรงเรียน เมื่อพูดถึงการสร้างรสนิยมในหมู่เด็กๆ “สื่อสังคมออนไลน์เป็นอิทธิพลที่กำลังเติบโตเนื่องจากเด็กก่อนวัยรุ่นเข้าสู่โลกโซเชียลตั้งแต่อายุยังน้อยมากเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ” Nicholas กล่าว “เด็กก่อนวัยรุ่นติดตามคนดังทาง Instagram รวมถึงกลุ่มเพื่อนของตนเอง และตั้งใจจะดำเนินรอยตามภาพลักษณ์แบบนั้น นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์ยังกลายเป็นเวทีให้เด็กก่อนวัยรุ่นได้อวดสินค้าแบรนด์ต่างๆ ที่ซื้อมาใหม่ ซึ่งรวมถึงเครื่องประดับด้วย”
ในแง่การให้คำแนะนำแก่ผู้ขายเครื่องประดับที่ต้องการเพิ่มยอดขายเครื่องประดับในตลาดลูกค้ารุ่นเยาว์ที่มีอยู่เดิม รวมถึงผู้ขายที่เพิ่งเข้ามาในตลาดนี้ Nicholas กล่าวว่าการวิจัยข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญ
“คนทุกรุ่นล้วนมีความแตกต่างกัน เมื่อทำตลาดเด็กก่อนวัยรุ่น ผู้ขายจำเป็นต้องรู้ว่าเด็กๆ คุยเรื่องอะไรกันเมื่ออยู่โรงเรียน รวมถึงเรื่องที่ว่าเด็กๆ มองว่าแบรนด์แบบไหนมาแรง” เธออธิบาย “สำหรับแบรนด์ที่มุ่งเป้าหมายไปยังเด็กก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่น การจับตามองสื่อสังคมออนไลน์เป็นหนทางสู่อนาคต นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้ผู้ขายทำการตลาดให้เหมาะสมกับลูกค้ารุ่นต่างๆ เพื่อที่ว่าผู้ขายจะได้สนทนาและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารในแบบเดียวกันกับที่ลูกค้าต้องการสนทนาและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ขาย”
Disney Couture
|
ดังที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ การดึงดูดทั้งเด็กและผู้ใหญ่นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยอดขายของสินค้าหมวดนี้ “สุดท้ายแล้วผู้ขายก็ยังต้องพยายามดึงดูดผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ใหญ่เป็นคนตัดสินใจซื้อ” Nicholas เสริม “พ่อแม่มักพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น คุณภาพ ราคา ความเหมาะสม และการรับประกันสินค้า”
ในช่วงห้าปีข้างหน้า Meath เชื่อว่าเครื่องประดับสำหรับเด็กจะกลายเป็นหมวดสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น “เราหวังว่าแนวโน้มขาขึ้นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป และเราน่าจะได้เห็นพัฒนาการใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นในตลาดนี้” เขากล่าว “เราจะตั้งใจนำเสนอสินค้ากลุ่มนี้ให้ดีที่สุด”
Tran เห็นพ้องด้วย “ตลาดค้าปลีกกำลังสร้างธุรกิจสินค้าที่มุ่งเป้าหมายไปยังเด็กๆ ให้แข็งแกร่ง ดังนั้นตลาดสินค้าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเด็กก็จะมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับ Paterson แนวโน้มที่กำลังพัฒนาอีกประการหนึ่งก็คือการที่เด็กๆ ชอบเลียนแบบเพื่อนที่โตกว่า สมาชิกในครอบครัว และเหล่าฮีโร่ “เครื่องประดับเด็กดำเนินรอยตามแนวโน้มในเครื่องประดับสำหรับผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิด เพียงแต่สนุกสนานและมีชีวิตชีวามากกว่า” เขากล่าวพร้อมเสริมว่า “เด็กๆ ยังคงอยากเลียนแบบพ่อแม่และบุคคลที่ตนเองชื่นชม”
เครื่องประดับสำหรับเด็กก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงจากจุดเริ่มต้นตามธรรมเนียมดั้งเดิม เมื่อเครื่องประดับหมวดนี้ขยายกว้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กๆ ที่รู้จักเครื่องประดับมากยิ่งขึ้น ผู้ขายจึงสามารถเก็บดอกผลจากตลาดกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
------------------------------------------
ที่มา: Children’s Jewellery: Big Business for Tiny Tots.” by Talia Paz. JEWELLER. (July 2017).
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที