GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 03 ส.ค. 2017 06.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2006 ครั้ง

“กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเปนอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงค่ำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเปนเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย
แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”
บทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จารึกไว้บนกำไลทองคำพระราชทานแก่เจ้าจอมสดับ ลดาวัลย์ ติดตามเรื่องราวของกำไลทองสื่อรักแทนใจได้ที่ https://goo.gl/vpzoJZ หรือบทความอื่นๆ เพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th


กำไลทองคล้องใจเจ้าจอมสดับ ลดาวัลย์

“กำไลมาศชาตินพคุณแท้    ไม่ปรวนแปรเปนอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงค่ำร่ำพาที      จะร้ายดีขอให้เห็นเปนเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก  ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย
แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย       เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย”
 
บทพระราชนิพนธ์ร้อยกรองในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดฯ ให้จารึกไว้บนกำไลทองคำพระราชทานแก่เจ้าจอมสดับ ลดาวัลย์
 
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๓๓ เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี เจ้าจอมมารดาจีน ผู้เป็นหม่อมย่าได้พามาถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนักพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับเป็นอย่างดีในฐานะพระญาติ ทั้งยังโปรดให้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รวมถึงหัดงานฝีมือ และอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ
 
ต่อมาเจ้าจอมสดับมีโอกาสได้ถวายการรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดีจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย โดยในงานฉลองพระมณเฑียรใหม่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อปี ๒๔๔๙ เจ้าจอมสดับได้รับพระกรุณาให้เป็นผู้ดูแลและจัดการแสดงละครเรื่องเงาะป่าแทนพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ซึ่งทรงพระประชวร หลังจากละครเลิก ท่านได้ตามเสด็จขึ้นไปรับใช้บนพระที่นั่ง และได้รับพระราชทานกำไลทองคำแท้ เป็นทองคำจากบางสะพาน น้ำหนัก ๔ บาท ออกแบบเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกส่วนหัวของตาปูไขว้กัน ที่ส่วนปลายตาปูลีบเป็นดอกเดียวกัน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานสวมให้ด้วยพระหัตถ์
 
กำไลวงนี้ นอกจากจะสลักพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์ ป.ร.” แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดฯ ให้จารึกบทพระราชนิพนธ์ร้อยกรอง (ดังที่กล่าวข้างต้น) ไว้บนกำไลวงนี้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจว่าแม้กาลเวลาจะล่วงพ้นไปหลายสิบปีจวบจนปัจจุบันจนคำกลอนที่จารึกไว้เลือนหายไป แต่พระปรมาภิไธยยังคงปรากฎอยู่อย่างชัดเจน
 
เมื่อครั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จนิวัติพระนครภายหลังจากการเสด็จประภาสยุโรปครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๔๕๐ พระองค์ทรงซื้อเครื่องประดับมาพระราชทานให้แก่เจ้านายฝ่ายในทุกพระองค์รวมถึงเจ้าจอมสดับ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในภายหน้า 
 
 
(ซ้าย) กำไลทองของเจ้าจอมสดับ ที่ได้รับพระราชทาน ภาพจาก: Nation TV
(ขวา) เจ้าจอมสดับ สวมชุดเครื่องประดับเพชรที่ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕
ภาพจาก: http://www.chiangmaicitylife.com
 
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมสดับได้นำเครื่องประดับทั้งหมดทุกสำรับที่ได้รับพระราชทาน ทูลเกล้าฯ ถวายคืนให้แก่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ด้วยเกรงจะถูกครหานินทาว่ารวยทั้งรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ คงเหลือไว้แต่เพียงกำไลทองเพียงวงเดียวเท่านั้น ซึ่งสมเด็จฯ ได้ทรงรับไว้และโปรดเกล้าฯ ให้ติดต่อนำไปขายที่ทวีปยุโรปเพื่อนำเงินที่ได้มาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 
เจ้าจอมสดับถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๖ สิริรวมอายุ ๙๓ ปี ทายาทของท่านจึงได้ถอดกำไลทองพระราชทานออกจากข้อมือ และนำทูลเกล้าฯ ถวายให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บรักษาไว้ในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ
 
สำหรับกำไลทองวงนี้ เจ้าจอมสดับได้สวมไว้ติดกายเสมอมิเคยถอดมาตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับพระราชทาน เปรียบประหนึ่งคำสัตย์สัญญา และความจงรักภักดีที่มีต่อองค์พระพุทธเจ้าหลวง ดังบทพระราชนิพนธ์วรรคสุดท้ายที่จารึกไว้บนกำไลทองว่า... 
 
“...แม้นรักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย   เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย...”
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
--------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. สารคดีกึ่งละคร เรื่อง ธิราชเจ้าจอมสยาม ตอน กำไลทองคล้องใจ. ออกอากาศทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553.
2. ตำนานความรัก “กำไลมาศ” เรื่องจริงในสมันรัชกาลที่ 5. Teen M Thai (3 กุมภาพันธ์ 2559) https://teen.mthai.com/variety/107904.html
3. เปิดตำนาน กำไลมาศ กำไลทองคล้องใจที่มีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์. (4 กุมภาพันธ์ 2559) https://hilight.kapook.com/view/132467
4. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2559.

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที