ความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม จิตสำนึกของผู้บริโภครุ่นใหม่
ที่มา : https://www.jewellerybusiness.com
การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคบ่าวสาวที่มีจิตสำนึกต่อโลก ซึ่งคำนึงถึงกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการค้าที่เป็นธรรมได้เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าเครื่องประดับของคนรุ่นใหม่ ฝ่ายเครื่องประดับแต่งงานมักเป็นองค์ประกอบสำคัญในร้านเครื่องประดับทุกแห่งอยู่แล้ว และทุกวันนี้ความสำเร็จของยอดขายชุดเครื่องประดับแต่งงานก็ได้กลายเป็นแก่นสำคัญของการอยู่รอดสำหรับธุรกิจหลายแห่งที่ต้องรับมือกับความผันผวนในตลาดผู้บริโภค ในขณะที่ผู้บริโภคหลายรายในตลาดเครื่องประดับแต่งงานสนใจงานออกแบบใหม่ๆ แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่สนใจแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลและการนำแหวนเดิมมาใช้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากการทำเหมืองสมัยใหม่ให้น้อยที่สุด ฉะนั้น การสร้างประสบการณ์เฉพาะให้ลูกค้าเครื่องประดับแต่งงานโดยปรับแต่งให้เหมาะกับระบบการให้คุณค่าของคู่แต่งงานจะช่วยให้ผู้ขายโดดเด่นในตลาดที่อิ่มตัวทุกวันนี้
นิยามใหม่ของคุณค่า
ลูกค้าบ่าวสาวได้กำหนดนิยามของคุณค่าขึ้นมาใหม่ และผู้ขายก็ต้องปรับตัวตามความหมายใหม่ซึ่งไม่ได้ผูกอยู่กับสินค้าเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
สำหรับผู้บริโภค คุณค่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สินค้านั้นเป็น แต่ขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นทำอะไร และคุณสมบัติเฉพาะของสินค้ามีความเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลเป็นพิเศษอย่างไร ราคาเป็นเรื่องสำคัญรองลงมาจากความต้องการที่จะตอบสนองอุดมคติและมุมมองทางจริยธรรมส่วนบุคคล
ทำไมต้องเลือกคุณ
ผู้บริโภคกลุ่มบ่าวสาวที่มีรสนิยมละเอียดอ่อนและรับรู้ข้อมูลข่าวสารมักเป็นผู้ซื้อสินค้าตามพื้นฐานทางจริยธรรม คนกลุ่มนี้จะต้องรู้สึกดีกับสินค้าหรูหราที่ตนเองต้องการ และชอบซื้อสินค้าที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมจากธุรกิจซึ่งยึดถือในคุณค่าเดียวกันกับตนเอง ลูกค้าบ่าวสาวทุกวันนี้มีอายุมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น มีฐานะดีมากขึ้น และมีความต้องการสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
นอกจากคุณภาพ คุณค่า รูปแบบสินค้า ความไว้วางใจ และความภักดีต่อแบรนด์ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการซื้อเพชร ได้แก่ ความยั่งยืน การให้ความสำคัญต่อชุมชน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดหาสินค้าอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรม การตัดสินใจซื้อมักมีพื้นฐานมาจากแนวทางที่ผู้ขายนำเสนอปัจจัยเหล่านี้
ความยั่งยืน
ความยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลักในกิจการต่างๆ เนื่องจากผู้ที่มองหาสินค้าหรูหรามักคาดหวังเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เหล่าคนดังต่างชูประเด็นการเป็นพลเมืองโลกในแคมเปญสินค้าต่างๆ โครงการประหยัดพลังงานและทรัพยากร ตลอดจนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติกันทั่วไปในธุรกิจหลายแห่ง
การให้ความสำคัญต่อชุมชน
ร้านค้าในชุมชนและตำแหน่งงานในท้องถิ่นนับเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต แต่แบรนด์สินค้าหรูหราที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ก็มักสนับสนุนร้านค้าแบบดั้งเดิม ในขณะที่ธุรกิจท้องถิ่นหรือธุรกิจในครอบครัวที่แสดงจิตสำนึกต่อโลกก็ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ซื้อสินค้าหรูหรา ผู้คนต้องการให้ความช่วยเหลือภายในชุมชนของตนเอง และสินค้าที่จัดหาหรือผลิตจากในท้องถิ่นก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความรับผิดชอบต่อสังคม
คนรุ่นมิลเลนเนียลเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมจากธุรกิจสินค้าหรูหราเพิ่มมากขึ้น คนกลุ่มนี้สนใจว่าสินค้าที่ตนเองซื้อและเงินที่ใช้จ่ายไปนั้นส่งผลต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอย่างไร ผู้ขายในสนามแข่งจึงต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้ซื้อเห็นว่าจิตสำนึกทางสังคมนั้นเป็นส่วนหนึ่งในสินค้าและบริการของตน
การจัดหาสินค้าอย่างถูกต้อง
ผู้บริโภคต้องการให้แน่ใจว่าเงินที่ตนเองใช้จ่ายไปกับสินค้าหรูหรานั้นไม่ได้มีส่วนสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนร่วมโลก แบรนด์ต่างๆ เช่น Forevermark ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพชร เพราะมีการรับประกันแหล่งที่มาที่ถูกต้องและสนับสนุนให้ผู้หญิงได้ก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ทั้งในฐานะคนงานเหมือง นักอัญมณีวิทยา และวิศวกรในประเทศผู้จัดหาวัตถุดิบเพชร
สร้างความโดดเด่น
แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่ดีที่สุด การใช้เงินสองสามพันเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อเครื่องประดับหนึ่งชิ้นก็ยังเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวอยู่ดี นอกจากนี้ การที่ลูกค้ากังวลว่าตัวสินค้าอาจมีส่วนผลักดันความขัดแย้งในประเทศห่างไกล ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือทำลายสิ่งแวดล้อมระหว่างขั้นตอนการสกัดแร่ ก็ยิ่งทำให้กระบวนการซื้อยิ่งลำบากขึ้นไปอีก คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าผู้บริโภคได้รับรู้ประเด็นปัญหาเหล่านี้มากกว่าได้ยินเรื่องทางแก้ คุณอาจช่วยให้ความกระจ่างได้ การสื่อสารให้เห็นความมุ่งมั่นทุ่มเทของคุณด้วยข้อความเชิงบวกที่ชัดเจนจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจว่า การใช้เงินซื้อสินค้าของคุณสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในด้านอื่นๆ ได้ ด้วยตัวเลือกสินค้าที่มีมากมายมหาศาล การสร้างความแตกต่างและปรับตัวตามความต้องการและความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จของผู้ขายในทุกวันนี้ การมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาธุรกิจของท้องถิ่น การดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์แบรนด์โดยแสดงให้เห็นหลักการทางจริยธรรมและคุณค่า ตลอดจนการเข้าร่วมองค์กรในภาคอุตสาหกรรม เช่น Diamond Empowerment Fund (DEF) ล้วนเป็นความพยายามที่สำคัญ แต่คุณต้องไม่ลืมพูดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย
ทางเลือก
แม้ว่าการใช้แหวนแต่งงานเพื่อเป็นสัญลักษณ์ยังคงความสำคัญตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่รูปแบบ สไตล์ และรูปลักษณ์ก็ยังคงพัฒนาตามความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า
ลูกค้าเครื่องประดับแต่งงานมักมองว่าการแสดงออกส่วนบุคคลนั้นสำคัญกว่าธรรมเนียมดั้งเดิม สำหรับผู้ซื้อที่เน้นความถูกต้อง การแสดงออกดังกล่าวอาจหมายรวมถึงการสำรวจทางเลือกใหม่ๆ ด้านวัสดุและอัญมณีในแหวนที่ตนจะซื้อ
ทุกวันนี้มีความท้าทายและโอกาสปรากฏให้เห็นในรูปแบบเด่นๆ สามรูปแบบดังต่อไปนี้
ธรรมชาติหรือของประดิษฐ์
ผู้ขายหลายรายพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่าควรนำเสนอสินค้าเพชรสังเคราะห์ดีหรือไม่ บางคนเกรงว่าการนำเสนอเพชรทางเลือกซึ่งราคาต่ำกว่าและผลิตโดยมนุษย์นั้นจะกระทบยอดขายของเพชรธรรมชาติจากการทำเหมือง ตลอดจนลดคุณค่าและการเป็นสัญลักษณ์สื่ออารมณ์ซึ่งอยู่คู่กับเพชรตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ขณะที่บางรายก็ยอมทิ้งกลุ่มผู้ซื้อเพชรสังเคราะห์ซึ่งทางร้านมองว่า ‘เน้นงบประมาณเป็นหลัก’ ไปให้ร้านอื่น และเลือกที่จะรักษานิยามดั้งเดิมของ ‘เครื่องประดับแท้’ ให้เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารแบรนด์
ในความเป็นจริงนั้น ผู้บริโภคอาจเปิดรับเพชรสังเคราะห์ด้วยเหตุผลหลายประการ ราคามักเป็นข้อหนึ่งที่ได้รับการพิจารณา แต่โดยทั่วไปแล้วคุณค่าและความเชื่อส่วนบุคคลกลับสำคัญกว่า ผู้บริโภคหลายรายสนใจมองหาทางเลือกที่ถูกต้องในเชิงจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม คนกลุ่มนี้จะไม่เข้ามาในตลาดนี้เลยหากในตลาดมีแต่เพชรธรรมชาติให้เลือก
สำหรับผู้ขายเครื่องประดับหลายราย เพชรสังเคราะห์เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ ‘เพิ่มเติม’ มากกว่าที่จะเป็นธุรกิจ ‘ทดแทน’ ทางเลือกใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อข้อกังวล ด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคโดยช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการที่พร้อมจะปรับตัวและทำงานกับทางเลือกเหล่านี้
“เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเพชรจากห้องทดลองก็มีให้เลือกหลายรูปแบบและหลายขนาดมากขึ้น ตลาดเพชรสังเคราะห์ซึ่งกำลังเติบโตช่วยให้ผู้ขายสามารถนำเสนอทางเลือกแก่ลูกค้าซึ่งอาจหลีกเลี่ยงเพชรธรรมชาติจากการทำเหมือง”
การทำความเข้าใจแรงจูงใจของผู้ซื้อเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพื่อให้ได้ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจมา ส่วนความรู้ ความเป็นกลาง และความซื่อสัตย์ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการปกป้องชื่อเสียงและธุรกิจ รวมถึงการสร้างยอดขาย
กระแสโลหะ
สำหรับการใช้โลหะในเครื่องประดับนั้น ผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมหลายรายมักมองหาธุรกิจที่ใช้ทองและเงินจากการค้าที่เป็นธรรม หรือเข้าร่วมโครงการโลหะรีไซเคิลอย่างเป็นทางการ ในมุมมองของคนกลุ่มนี้ การซื้อเครื่องประดับที่ผ่านการจัดหาอย่างถูกต้อง เช่น แหวนแต่งงานทอง น่าจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานโดยรวม
ถ้าหากเป็นไปได้ ลูกค้ากลุ่มนี้อยากให้การซื้อโลหะมีค่าของตนช่วยปรับปรุงวิถีชีวิตของคนงานเหมืองและคนงานอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการ หรือไม่อย่างน้อยการซื้อนี้ก็ต้องไม่ไปมีส่วนทำให้เกิดการรบกวนสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการทำเหมือง
“การนำเสนอทองจากการค้าที่เป็นธรรมเป็นหนทางหนึ่งที่ผู้ขายสามารถช่วยให้ผู้ซื้อเครื่องประดับแต่งงานที่สนใจเรื่องชุมชนท้องถิ่น รู้สึกสบายใจเมื่อซื้อสินค้าราคาสูง”
การนำเสนอโลหะจากการค้าที่เป็นธรรมหรือโลหะรีไซเคิล (ไม่ว่าจะบวกราคาเพิ่มหรือไม่ก็ตาม) มักเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกเพื่อปรับความสนใจที่ตนเองมีต่อธรรมเนียมการใช้แหวนหมั้นและแหวนแต่งงานให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบทางจริยธรรมและศีลธรรมต่อโลกและประชากรโลก
เครื่องประดับเก่า
ความนิยมในเครื่องประดับที่เป็นของเก่าโบราณพุ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้บริโภคหลายรายในตลาดเครื่องประดับแต่งงานสนใจงานออกแบบใหม่ๆ แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่สนใจแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลและการนำแหวนเดิมมาใช้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากการทำเหมืองสมัยใหม่ให้น้อยที่สุด
ในหลายกรณี การนำฝีมือช่างและรูปแบบของเครื่องประดับสมัยก่อนมาผสมผสานกับจิตสำนึกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแบบยุคใหม่ ก็ทำให้การซื้อเครื่องประดับที่เป็นของเก่าโบราณหรือเคยมีเจ้าของมาก่อนกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน
“ความนิยมในเครื่องประดับที่เป็นของเก่าโบราณพุ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”
ผู้ขายที่ได้ก้าวเข้าไปสู่โลกของเครื่องประดับยุคเก่ารู้ดีว่าการทำธุรกิจนี้ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญสูงกว่าการเปิดร้านเครื่องประดับทั่วไปอยู่มาก ทักษะในการพิสูจน์ว่าเครื่องประดับเป็นของแท้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และผู้บริโภคที่มีความรู้ก็ต้องการความถูกต้องแม่นยำและรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และที่มา ตลอดจนวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในเครื่องประดับด้วย
กระบวนการขาย
ลูกค้าเครื่องประดับแต่งงานส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อที่มีประสบการณ์ในการซื้อสินค้าหรูหรา แต่เพิ่งเข้ามาในตลาดเครื่องประดับแต่งงานเป็นครั้งแรก และมาที่ร้านเพื่อหาความช่วยเหลือและคำแนะนำจากมืออาชีพที่ไว้ใจได้
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความกระตือรือร้น ความพร้อม และความรู้ คนกลุ่มนี้มักยินดีบอกพนักงานขายที่จริงใจและรับฟังว่าตนเองต้องการรู้อะไรเพื่อสร้างประสบการณ์ส่วนตัวที่เน้นเรื่องคุณค่า (ตามนิยามของลูกค้า) และมีประสิทธิภาพ
เพื่อสร้างประสบการณ์ดังกล่าวขึ้นมา พนักงานขายต้องลดความพยายามที่จะนำเสนอบริการ แล้วหันไปสู่การเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ไว้วางใจได้ มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล โดยจะต้องสามารถแก้ไขปัญหา สื่อสาร และแสดงให้เห็นคุณค่าระหว่างการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในทุกๆ ช่วง บางครั้งผู้ซื้ออาจเกิดความรู้สึกขัดแย้งสับสน ซึ่งผู้ขายก็มีหน้าที่ช่วยคลี่คลายประเด็นต่างๆ อันเป็นอุปสรรคขัดขวางความสบายใจและความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า
ความตั้งใจของผู้ขายที่จะส่งเสริมความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม การสนับสนุนชุมชน และการจัดหาสินค้าอย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักในคำมั่นสัญญาของแบรนด์นั้น นับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในตลาดเครื่องประดับแต่งงานที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
------------------------------------------
ที่มา: “Sustainability and social responsibility.” by Kate Peterson. JEWELLERY BUSINESS. (May 2017: pp. 56, 58, 60, 62).
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : ความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม จิตสำนึกของผู้บริโภครุ่นใหม่