GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 03 ก.ค. 2017 03.26 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2488 ครั้ง

การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะเอื้อประโยชน์ทางการค้าโดยการลดภาษี และขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน...ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/GyTCzf หรือติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ http://infocenter.git.or.th


การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรีไทย-อาเซียน

 

 

ที่มา: www.aseanmt.org


อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่มีความใกล้ชิดกับไทย ทั้งในแง่ของตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และผลจากการรวมกลุ่มกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ทำให้แต่ละประเทศมีมุมมองในการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะเอื้อประโยชน์ทางการค้าโดยการลดภาษี และขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซี่งเมื่อพิจารณาในแง่ของการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย พบว่าไทยสามารถพึ่งพาประโยชน์จากความตกลง AFTA มาใช้ในการเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังคู่ค้าในตลาดอาเซียนได้ โดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการขนส่งสินค้าข้ามแดน เป็นต้น

หลักการของสิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก AFTA

ปัจจุบันการใช้สิทธิประโยชน์ตาม AFTA จะเป็นการใช้สิทธิเพื่อลดภาษี ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะต้องขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบ ดี (Form D) จากกรมการค้าต่างประเทศ รวมทั้งต้องตรวจสอบเงื่อนไขของสินค้าที่ส่งออกว่าจะต้องอยู่ในบัญชีรายการสินค้าลดภาษีของประเทศสมาชิกอาเซียนผู้นำเข้า และมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) ซึ่งกฎโดยทั่วไประบุว่าสินค้านั้นจะต้องมีมูลค่าเพิ่มหรือต้นทุนการผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของราคาส่งออก หรือได้ผ่านการแปรสภาพโดยการเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากรตามเงื่อนไขของกฎแหล่งกำเนิดสะสม ดังนั้น จากเงื่อนไขของกฎว่าด้วยถิ่นกําเนิดสินค้าจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อน และถือเป็นหัวใจสําคัญที่ทำให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้ จึงจำเป็นที่ทางผู้ประกอบการควรจะทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้รอบคอบเพื่อที่จะได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการค้าแก่ตัวผู้ประกอบการเอง

การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก AFTA ของผู้ประกอบการไทย

 


จากสถิติทางการค้าตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ)
ไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี โดยล่าสุดในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนรวม 1,942.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 13.63 ของมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งมูลค่าการส่งออกนี้กว่าร้อยละ 91.14 อยู่ในหมวดทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป ส่วนที่เหลือจึงเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำนั้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าลดลงเพียงเล็กน้อย และเมื่อจำแนกเป็นรายสินค้าพบว่าสินค้าหลักที่มีศักยภาพของไทยอย่างเครื่องประดับแท้ส่งออกไปยังตลาดอาเซียนได้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยเครื่องประดับแท้เป็นสินค้าหลักที่มีการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากที่สุดถึงร้อยละ 94.61 ของมูลค่าการใช้สิทธิในภาพรวม หากแต่คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 13.04 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้ไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งถือว่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการใช้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีเป็นรายประเทศพบว่าไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังมาเลเซียมากที่สุด โดยมีมูลค่า 5.02 ล้านเหรีญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.23 ของมูลค่าการใช้สิทธิ์ในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด รองลงมาคือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่า 1.65 และ 1.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ 

 


ถึงแม้ว่าจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามความตกลง AFTA หากแต่มูลค่าการใช้สิทธิฯ กลับอยู่ในอัตราที่ต่ำ ทั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ประกอบการมองว่าอัตราภาษีที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้มีความแตกต่างไปจากอัตราปกติ หรือ MFN Rate ในบางประเทศ ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างประเทศสมาชิกอยู่ในระดับต่ำ หรือบางประเทศได้มีการประกาศให้เป็น 0% ในบางโอกาส อาทิ สิงคโปร์เป็นเมืองท่าปลอดภาษี (Free Port) ที่ไม่เก็บภาษีทั้งนำเข้าและส่งออก หรือมาเลเซียมีการยกเว้นภาษีนำเข้าในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทุกชนิดในช่วงที่มีงาน Malaysia International Jewelry Fair เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้ผู้ประกอบการไม่เกิดแรงจูงใจที่จะใช้เวลาดำเนินการทางเอกสารเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก AFTA จนทำให้ละเลยการใช้สิทธิดังกล่าวไป นอกจากนี้ เมื่ออ้างอิงถึงผลการสำรวจของ TDRI เมื่อปี 2558 ถึงสาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA (รวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ) พบว่าในภาพรวมมีสาเหตุมาจากการใช้เวลานานในการดำเนินขั้นตอนการขอสิทธิฯ (มากกว่าร้อยละ 19) ความยุ่งยากของกระบวนการทางเอกสารที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 18) เจ้าหน้าที่อนุมัติมีดุลพินิจต่างกัน (ร้อยละ 14) การไม่รู้ถึงข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของสิทธิประโยชน์ (ร้อยละ 10) มูลค่าการส่งออกไม่สูงมากจึงไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิฯ (ร้อยละ 7) ไม่รู้ขั้นตอนการใช้สิทธิ์ (ร้อยละ 3) และอื่นๆ (ร้อยละ 29)

ข้อเสนอแนะฝากถึงผู้ประกอบการไทย
           
เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในตลาดโลกของภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดโลกต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่หลากหลาย ส่วนแบ่งทางการตลาดย่อมถูกกระจายไปยังคู่แข่งที่มีศักยภาพ ตลาดอาเซียนถือได้ว่าเป็นตลาดสำคัญที่ไทยควรรักษาเอาไว้ เพราะมีความใกล้ชิด และมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันค่อนข้างมาก การมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก AFTA นอกจากจะเป็นแต้มต่อทางการค้าที่สำคัญในการได้ลดและยกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน ยังถือเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ถ้าหากผู้ประกอบการมีการวางแผนในการใช้ทรัพยากร และมีกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้มีโอกาสในการเพิ่มพูนผลกำไรได้เป็นอย่างดี รวมถึงเมื่อมีการเข้าสู่กระบวนการขอเอกสารเพื่อใช้สิทธิฯ แล้ว ก็เท่ากับเป็นการได้หลักฐานในการรับรองถึงความถูกต้องของแหล่งกำเนิดสินค้าและความมีมาตรฐานของสินค้าไทย ซึ่งจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อมีสิทธิประโยชน์ที่พึงได้แล้ว ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้าม ควรหันมาศึกษาถึงเงื่อนไข รายละเอียด และใช้สิทธิ FTA ในการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น

 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
---------------------------------------

แหล่งอ้างอิง:
1. สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า, กรมการค้าต่างประเทศ  
2. ผลการศึกษา “สาเหตุที่ผู้ประกอบการไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA”, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที