สถานการณ์การค้าทองรูปพรรณไทยหลังการเปิดเสรีทางการค้า
ด้วยความนิยมทองรูปพรรณของคนไทยที่มีมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเพื่อสวมใส่และเป็นการสะสมความมั่งคั่ง โดยคนทั่วไปนิยมเรียกว่า “ทองตู้แดง” ที่มีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง 96.5% (23.16K) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในโลก แม้ว่าคนยุคใหม่ที่มีฐานะทางการเงินจะเปลี่ยนพฤติกรรมจากการซื้อทองรูปพรรณมาเป็นการสะสมทองคำแท่ง เพื่อการออมเงินและเป็นการเก็งกำไรแทน แต่สำหรับผู้บริโภครุ่นเดิมหรือในต่างจังหวัดนั้นยังคงซื้อทองรูปพรรณสะสมแทนการถือเงินสด เพื่อความคล่องตัวในการซื้อขาย ในครั้งนี้ทางศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับได้รับเกียรติสัมภาษณ์คุณพิชญา พิสุทธิกุล อุปนายกสมาคมค้าทองคำ และประธานบริษัท เลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์ จำกัด ร้านทองเก่าแก่บนถนนพาหุรัด ซึ่งเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการค้าทองรูปพรรณมายาวนานหลายทศวรรษ ถึงสถานการณ์การค้าทองรูปพรรณภายในประเทศ โดยติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ดังต่อไปนี้
สถานการณ์การค้าทองรูปพรรณภายในประเทศขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ในปีนี้การบริโภคทองรูปพรรณภายในประเทศลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยและสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เพราะการบริโภคทองรูปพรรณนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและฐานะการเงินหรือรายได้ของผู้บริโภค หากผู้บริโภคมีเงินเหลือเก็บถึงจะนำเงินมาซื้อทองรูปพรรณเก็บสะสมกัน ขณะเดียวกันเมื่อราคาทองคำสูงขึ้น ผู้บริโภคก็จะนำออกมาขายเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาแทน เพราะไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการกำหนดราคาซื้อเข้า-ขายออกทองคำตายตัว ทั้งนี้ ยอดขายทองรูปพรรณขึ้นอยู่กับแต่ละช่วง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ไปจนถึงช่วงสงกรานต์ การค้าทองรูปพรรณจะมียอดขายค่อนข้างสูง แต่หลังจากนี้จะเป็นช่วงเปิดเทอมของนักเรียนไปจนถึงช่วงวันเข้าพรรษา ยอดขายจะลดต่ำลงเนื่องจากผู้บริโภค/ผู้ซื้อส่วนใหญ่นั้นจะขายทองรูปพรรณ หรือนำไปจำนำตามโรงรับจำนำเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายค่าเล่าเรียนลูก หรือถ้าเป็นเกษตรกรก็จะต้องนำเงินไปซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธ์ในการลงทุนทำไร่ทำนาในช่วงนี้ แต่หลังช่วงออกพรรษาการซื้อทองรูปพรรณจะกลับมาคึกคักเพิ่มมากขึ้น หากผู้บริโภค/เกษตรกรมีรายได้ดีจากการประกอบอาชีพหรือมีเงินเก็บเหลือใช้ก็มักนิยมซื้อทองรูปพรรณสะสมแทนการฝากเงินในธนาคาร
การค้าทองรูปพรรณกับลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียนเป็นอย่างไร
การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ได้มีผลดีต่อการค้าทองรูปพรรณเท่าใดนัก เพราะนอกจากทองรูปพรรณของไทยจะมีค่าความบริสุทธิ์ของทอง แตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นลาวและกัมพูชาต่างก็ไม่นิยมนำเข้าจากไทย เนื่องจากสามารถผลิตเครื่องประดับทองภายในประเทศเองได้ อีกทั้งรูปแบบและสีสันที่นิยมก็แตกต่างจากบ้านเรา แต่ในทางกลับกันการเปิด AEC จะทำให้การค้าภายในประเทศแย่ลง เพราะจะมีการนำเข้าเครื่องประดับทองจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์มายังไทยเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น
ภาครัฐพยายามผลักดันให้ร้านทองจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยากทราบว่าขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคในการเข้าสู่ระบบหรือไม่
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านทองยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลมากขึ้น เป็นผลพวงมาจากกรมสรรพากรมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านทองในรูปบุคคลธรรมดาเปลี่ยนไปจัดตั้งเป็นนิติบุคคลโดยมีมาตรการจูงใจถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งขณะนี้ยังขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละร้าน โดยร้านทอง
รายใหญ่และกลางไม่มีปัญหาในการเข้าระบบนัก แต่ในส่วนของร้านทองรายเล็กนั้นหากเข้าระบบแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เป็นการเหมาจ่ายภาษี ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชี รวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ซึ่งจะมีผลให้รายได้ลดน้อยลง ทั้งนี้ หากร้านทองเข้าสู่ระบบก็จะช่วยให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบธุรกิจนี้ได้โดยง่ายขึ้นและสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เมื่อต้นปีภาครัฐประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องประดับ มาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าทองรูปพรรณมากน้อยเพียงไร
มาตรการนี้จะกระทบต่อการผลิตและการค้าเครื่องประดับทองภายในประเทศ ทำให้มีการนำเข้าเครื่องประดับทองหรือสร้อยม้วนที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบจากต่างประเทศเข้ามายังไทยมากขึ้น ซึ่งหากมีการนำเข้าเครื่องประดับทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ 22K หรือ 91.5% เข้ามายังไทย ก็อาจจะกระทบต่อการค้าทองรูปพรรณ (96.5% หรือ 23.16K) ของบ้านเรา ขณะเดียวกันผู้ค้า/แบรนด์เครื่องประดับต่างชาติก็จะอาศัยมาตรการยกเว้นภาษีดังกล่าวนำเข้าเครื่องประดับทอง 18K (75%) หรือมีค่ากะรัตต่ำกว่ากว่านี้เข้ามายังไทยเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะผู้บริโภครุ่นใหม่มักนิยมสินค้าที่แปลกแตกต่างจากรูปแบบเดิมที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งอาจทำให้ผู้ค้าไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลง และส่งผลกระทบต่อธุรกิจการผลิตเครื่องประดับทองขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงแรงงานช่างฝีมือในอุตสาหกรรมนี้ของไทยตามไปด้วย
ธุรกิจทองรูปพรรณต้องการความช่วยเหลือด้านใดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
อยากให้ภาครัฐช่วยลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร/อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องประดับทอง อย่างเช่น เครื่องรีดทอง ให้เหลืออัตราภาษีนำเข้าร้อยละศูนย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในด้านการผลิตของผู้ประกอบการไทย รวมทั้งอยากให้ช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องประดับทองของเอเชีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการขายเครื่องประดับทองของไทยให้เติบโตมากขึ้น อันจะช่วยให้แรงงานฝีมือในภาคการผลิตมีรายได้ดีขึ้น และจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในอีกทางหนึ่ง
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มิถุนายน 2560
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : สถานการณ์การค้าทองรูปพรรณไทยหลังการเปิดเสรีทางการค้า