GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 23 มิ.ย. 2017 05.09 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2129 ครั้ง

ส่องอาร์เมเนียประเทศผู้เจียระไนเพชรที่สำคัญของกลุ่มสมาชิกของสภายุโรปและเป็นประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราช คลิกเลย!! https://goo.gl/fWVZ7T หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


อาร์เมเนีย อุตสาหกรรมเจียระไนเพชรกำลังเดินหน้า

สาธารณรัฐอาร์เมเนีย (Republic of Armenia) ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปและเอเชียกลาง เป็นรัฐสมาชิกของสภายุโรปและเป็นประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต มีจำนวนประชากรประมาณ 3 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 อาร์เมเนียอาจเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่นัก กอปรกับรายได้ประชากรยังอยู่ในระดับต่ำราว 3,500 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี แต่กลับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจากการเป็นผู้เจียระไนเพชรที่มีชื่อเสียงในกลุ่ม CIS จนส่งผลให้ภาคธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศในปัจจุบัน อีกทั้งรัฐบาลอาร์เมเนียยังเร่งสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศ นอกจากนี้ อาร์เมเนียยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย* ในปี 2557 อันจะทำให้เกิดการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสมาชิกและมีการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่สามเพิ่มเติมในระยะถัดไป ทำให้ภาคเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของอาร์เมเนียมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปได้อีกมาก สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ที่ระบุว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาร์เมเนียมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปีในช่วงปี 2560-2564
 

หนึ่งในฮับเจียระไนเพชรของกลุ่ม CIS

อาร์เมเนียเป็นประเทศผู้เจียระไนเพชรที่สำคัญของกลุ่ม CIS และมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมเจียระไนเพชรมายาวนาน เนื่องจากแรงงานชาวอาร์เมเนียนขึ้นชื่อด้านการเป็นแรงงานที่มีทักษะการเจียระไนเพชรที่ได้ระดับมาตรฐาน อีกทั้งต้นทุนค่าแรงยังอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ย 388 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อเดือน (ณ ปี 2558) แต่เดิมนั้นอุตสาหกรรมเจียระไนเพชรในอาร์เมเนียเฟื่องฟูมาจนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงปี 2534 ส่งผลกระทบต่อกิจการเจียระไนเพชรหลายรายในอาร์เมเนียต้องปิดตัวลง รวมทั้งแรงงานฝีมือบางส่วนได้ออกไปทำงานในประเทศอื่น แต่ในระยะต่อมาผู้ประกอบการหลายรายกลับมาฟื้นฟูกิจการใหม่อีกครั้ง อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการต่างชาติได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานเจียระไนเพชรในอาร์เมเนียเป็นครั้งแรก คือ Arslanian Cutting Work (AWC) กิจการแปรรูปเพชรสัญชาติเบลเยียม ซึ่งลงทุนภายใต้ชื่อบริษัท Lori Ltd., ตามมาด้วยผู้ประกอบการด้านเพชรรายใหญ่ของอิสราเอลอย่าง Lev Leviev Diamond Ltd. ที่เข้ามาซื้อกิจการแปรรูปเพชรในประเทศและดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท Shoghakn รวมถึง Rosy Blue ผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลกสัญชาติเบลเยียมที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานเจียระไนเพชร 2 แห่งในอาร์เมเนียภายใต้ชื่อบริษัท Dimotech

ปัจจุบันอาร์เมเนียมีจำนวนแรงงานฝีมือในธุรกิจเจียระไนเพชรราว 4,000 คนทั่วประเทศ โดยมีศูนย์กลางอุตสาหกรรมเจียระไนเพชรอยู่ในกรุงเยเรวาน เมืองหลวงของประเทศ อาร์เมเนียมีโรงงานแปรรูปเพชรที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจจากภาครัฐราว 100 ราย แต่มี 50 รายที่ยังคงดำเนินการผลิตอยู่ในปัจจุบัน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ประกอบการท้องถินและนักลงทุนจากต่างชาติ แต่กำลังการผลิตส่วนใหญ่เป็นของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ


  
 ที่มา: EurasiaNet.org


นอกจากข้อได้เปรียบด้านแรงงานมีฝีมือและค่าแรงถูก ซึ่งทำให้อาร์เมเนียมีต้นทุนการเจียระไนเพชรต่อกะรัตต่ำกว่าหลายประเทศแล้ว อาร์เมเนียยังมีข้อได้เปรียบจากการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบเพชรจากรัสเซีย (ประเทศผู้ผลิตเพชรขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบอสวานา) อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อปี 2557 รัฐบาลอาร์เมเนียได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลรัสเซียด้านการค้าเพชรก้อนดิบจากรัสเซีย ทำให้ผู้ประกอบการแปรรูปเพชรในอาร์เมเนียสามารถซื้อเพชรก้อนดิบจาก Alrosa ผู้ผลิตและส่งออกเพชรก้อนดิบรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียได้ในจำนวนไม่จำกัดและปลอดจากภาษีนำเข้า อีกทั้งรัฐบาลอาร์เมเนียยังมีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมเพชรภายในประเทศ ด้วยการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 20 สำหรับเพชรนำเข้าลงอีกด้วย
         
นอกจากนี้ รัฐบาลอาร์เมเนียยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างจริงจัง โดยในปี 2558 ได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Meridian Jewelry Free Economic Zone ขึ้นในกรุงเยเรวาน เพื่อจูงใจผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในด้านต่างๆ อาทิ การยกเว้นภาษีรายได้ส่วนบุคคล การให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนต่างชาติเพื่อประโยชน์ในการลงทุน การอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตแบบ One Stop Service ตลอดจนการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงสหภาพยุโรป ซึ่งอาร์เมเนียเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่ได้รับ GSP Plus ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสหภาพยุโรป ผนวกกับอาร์เมเนียยังมี Armenian Jewellers Association ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยภาคเอกชนเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอาร์เมเนียให้ทัดเทียมกับนานาชาติ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Yerevan Show เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของอาร์เมเนีย ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี

ไทยส่งออกเพชรและพลอยสีไปยังอาร์เมเนียเพิ่มขึ้นมาก
         
แม้ว่าอาร์เมเนียจะเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ด้วยมูลค่าการส่งออกเพียง 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 แต่อาร์เมเนียมีความต้องการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยทุกปี โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลักอย่างเพชรและพลอยสี ซึ่งล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกเพชรและพลอยสีของไทยไปยังอาร์เมเนียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูง โดยมูลค่าการส่งออกเพชรของไทยไปยังอาร์เมเนียอยู่ที่ 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึงกว่า 30 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากนี้เกือบทั้งหมดมาจากการส่งออกเพชรที่ยังไม่เจียระไน ซึ่งผู้ประกอบการเจียระไนเพชรในไทยได้นำเข้ามาเพื่อทำการคัดแยกแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะ Rosy Blue ผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลกสัญชาติเบลเยียมซึ่งมีฐานการผลิตในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงอาร์เมเนีย ทำให้มีการนำเข้าเพชรที่ยังไม่เจียระไน เพื่อส่วนหนึ่งนำมาเจียระไนต่อในไทย และอีกส่วนหนึ่งถูกคัดแยกแล้วส่งต่อไปยังฐานการผลิตในอาร์เมเนีย อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกเพชรเจียระไนแล้วไปยังอาร์เมเนียด้วยมูลค่าไม่สูงนักราว 2-5 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี
         
ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 คือ พลอยสี ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ไทยมีมูลค่าส่งออก 3.7 หมื่นเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อาร์เมเนียมีความต้องการนำเข้าพลอยสีจากไทยทุกปี โดยเฉพาะทับทิม แซปไฟร์ และมรกตที่เจียระไนแล้ว อีกทั้งไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของอาร์เมเนียอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอัญมณีของอาร์เมเนียยังนิยมเดินทางมาเลือกซื้อพลอยดิบจากไทยเพื่อนำมาเจียระไนที่อาร์เมเนีย ก่อนส่งไปขายที่ประเทศต่างๆ อาทิ รัสเซีย และสหภาพยุโรป สำหรับการส่งออกเครื่องประดับแท้ และอัญมณีสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในลำดับถัดมากลับมีมูลค่าหดตัวลง โดยมูลค่าส่งออกเครื่องประดับแท้อยู่ที่ 2.8 หมื่นเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 59.4 ขณะที่มูลค่าการส่งออกอัญมณีสังเคราะห์อยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 63.3

 


ด้วยศักยภาพด้านการเจียระไนเพชรของอาร์เมเนียที่กำลังก้าวไปข้างหน้าจากแรงสนับสนุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการเข้ามาลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และการจัดการทางธุรกิจสมัยใหม่ ทำให้อาร์เมเนียกลายเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากอุตสาหกรรมการเจียระไนเพชรอันโดดเด่นในอาร์เมเนียแล้ว อาร์เมเนียยังมีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา และมีความต้องการอัญมณีเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับ ไทยจึงมีโอกาสที่จะการขยายส่งออกอัญมณีไปยังอาร์เมเนีย โดยเฉพาะพลอยสีซึ่งเป็นสินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งในช่วงเวลานี้การแข่งขันยังไม่รุนแรงนักและไทยก็เป็นแหล่งนำเข้าพลอยสีอันดับ 1 ในอาร์เมเนีย นอกจากนี้ การทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ EAEU ในระยะต่อไปจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยไปยังอาร์เมเนียได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ต้องคำนึงถึงหากจะทำการค้ากับอาร์เมเนีย อาทิ อาร์เมเนียเป็นตลาดขนาดเล็กและประชาชนมีอำนาจการซื้อจำกัด ระบบการขนส่งของประเทศยังไม่ทันสมัยและไม่เพียงพอ ภูมิประเทศไม่มีทางออกทะเลและถูกปิดล้อมด้วยประเทศที่มีกรณีพิพาทระหว่างกัน และมีรัฐมุสลิมที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับอาร์เมเนียเกือบรอบด้าน คือ อาเซอร์ไบจาน ตุรกี และอิหร่าน เป็นต้น
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มิถุนายน 2560



*สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union หรือ EAEU) มีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นเป็นตลาดร่วม (Common Market) ที่มีการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานระหว่างกันโดยเสรี รวมถึงความพยายามในการจัดตั้งให้เป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและขั้นตอนของระบบศุลกากร

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที