GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 21 มิ.ย. 2017 03.13 น. บทความนี้มีผู้ชม: 21955 ครั้ง

กำไล หนึ่งในเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยมาตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะกำไลข้อเท้าที่ในอดีตถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงฐานะและสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ ติดตามบทความแบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/1rozc8 หรือบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจที่ http://infocenter.git.or.th


กำไลข้อเท้า เครื่องหมายแสดงสถานภาพทางสังคมของสตรีไทยสมัยโบราณ

กำไล หนึ่งในเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยมาตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน ทั้งยังอาจเป็นเครื่องประดับชิ้นแรกของใครหลายๆ คน ที่ได้รับเป็นของรับขวัญตั้งแต่แรกเกิด
       
ในอดีต รูปแบบกำไลที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ ‘กำไลหัวบัว’ เป็นกำไลที่ปลายทั้งสองข้างมีรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม สำหรับการสวมกำไลของสตรีไทยในสมัยโบราณนั้น นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะกำไลข้อเท้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงฐานะและสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่


           
พระราชโอรส-ธิดา ในรัชกาลที่ ๔ กับเจ้าจอมมารดาแพ ทรงสวมกำไลข้อพระบาท
ที่มา: www.reurnthai.com/index.php?topic=6319.0
 

หากเป็นเจ้านายในวังหรือชนชั้นสูง จะนิยมสวมกำไลที่ทำจากทองหรือเงิน โดยมักมีลวดลายที่ประณีตวิจิตรบรรจง มีการลงยาหรือตกแต่งด้วยอัญมณี สำหรับชนชั้นสามัญรวมถึงเหล่าคหบดีก็จะนิยมสวมกำไลทอง หรือเงิน ที่ไม่มีลวดลายหรือมีลวดลายเพียงเล็กน้อย หรือจะเป็นกำไลทองเหลืองหรือนากก็ได้เช่นกัน แต่หากเป็นชาวบ้านธรรมดาก็จะสวมกำไลที่ทำจากโลหะสำริดไม่มีลวดลาย เป็นต้น
 

  
 

นอกจากนี้ กำไลข้อเท้ายังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าลูกสาวบ้านไหนที่ยังไม่มีคู่ครอง ในอดีตสตรีไทยที่ยังสวมกำไลข้อเท้าครบทั้งสองข้างนั้น หมายถึงหญิงที่ยังไม่ได้ออกเรือน การถอดกำไลข้อเท้าจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อหญิงผู้นั้นได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝาไปแล้วเท่านั้น ดังที่ได้มีการกล่าวไว้ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทยบางเรื่อง อาทิ ทวิภพ ของทมยันตี และราตรีประดับดาว ของ ว.วินิจฉัยกุล เป็นต้น

แม้ว่าธรรมเนียมการสวมกำไลข้อเท้าจะค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทยจนหมดสิ้น หากแต่ความนิยมชมชอบในเครื่องประดับชนิดนี้ก็ยังคงมีอยู่ และด้วยความที่ ‘กำไล’ ออกเสียงคล้ายกับคำว่า ‘กำไร’ จึงได้เกิดเป็นกระแสความเชื่อในหมู่คนบางกลุ่ม ว่าการสวมกำไลจะช่วยเพิ่มพูนกำไรในด้านการค้าและการทำธุรกิจได้อีกด้วย*  

 

  

 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มิถุนายน 2560
 
---------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. ว่าด้วยเรื่องของกำไลหัวบัว. ทองถนิม เครื่องประดับทองโบราณ. (10 กันยายน 2558)
2. ใส่ “กำไล” เพิ่ม “กำไร”. Oriental Jewelry & Gold. (2 สิงหาคม 2559).
3. เครื่องประดับของสตรีในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5. TK Park: ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน. http://valuablebook2.tkpark.or.th/2015/6/document18.html
4. ความหมายของกำไลข้อเท้า. เรือนไทย.วิชาการ.คอม. http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6319.0
 


*เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที