รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา
ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์เดินหน้า “แม่สอดโมเดล Stronger Together” โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2560 ได้จัดมหกรรมการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนได้จัดงานอัญมณี 2 ชาติ และการลงนามความร่วมมือด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และการฝึกอบรมด้านอัญมณีให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่
ทั้งนี้ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นับเป็นหนึ่งในย่านการค้าอัญมณีที่สำคัญของไทย โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ “นครแม่สอด เมืองอัญมณีแห่งเอเชีย สู่ศูนย์หยกโลก” และจัดตั้งศูนย์อัญมณีแห่งเอเชียที่อาคารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ถนนสายเอเชีย เทศบาลนครแม่สอด ตลอดจนมีเป้าหมายยกระดับนครแม่สอดเป็นเมืองอัญมณีคุณภาพและเป็นศูนย์หยกโลก สินค้าที่จำหน่ายเป็นของแท้ มีการออกใบรับรองคุณภาพ
นอกจากนี้ แม่สอดยังมีตลาดพลอยที่สำคัญ ได้แก่
(ก) ตลาดริมเมย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด่านพรมแดนแม่สอด เป็นย่านของตลาดพลอยและอัญมณีต่างๆ หินแกะสลัก หินสีสวยงาม ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม และมีผู้ประกอบการหลายรายเป็นกิจการเจ้าของคนเดียวและไม่ได้จดทะเบียนการค้า โดยร้านค้ารายย่อยมียอดขายเฉลี่ยวันละ 2,000–5,000 บาท โดยกลุ่มลูกค้าสำคัญที่มีจับซื้อซื้อของส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย
(ข) ตลาดแม่สอดบริเวณถนนประสาทวิถี ซึ่งเป็นแหล่งค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของแม่สอด และมีการจัดตั้งเป็นย่านการค้า “สยามอัญมณีแม่สอด หรือ ตลาดพลอยแม่สอด” ซึ่งย่านการค้าสยามอัญมณีเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนอัญมณีที่มาจากวิถีชีวิตการค้าชายแดนซึ่งติดต่อกับประเทศเมียนมาเดินทางมาซื้อขายอัญมณีกับพ่อค้าชาวไทย โดยเป็นย่านการค้าสำคัญที่ทำรายได้ให้กับอำเภอแม่สอด โดยคาดว่ามีมูลค่าการค้าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 ล้านบาท สินค้าเด่น ได้แก่ หยก ทับทิม ไพลิน และเครื่องประดับ โดยลูกค้าประกอบด้วยคนไทย คนจีน คนอินเดีย คนอินโดนีเซีย คนไต้หวัน และคนเวียดนาม โดยกรณีของคนอินเดียนิยมซื้อทับทิมเนื้อแก้วสีชมพูจนถึงแดง (รวมถึงนิยมเพชร ทอง มรกต ทับทิม และไพลิน) ส่วนลูกค้าคนอินโดนีเซียชอบทับทิมกิมบ่เซี้ยง ลูกค้าคนไต้หวันชอบทับทิมเนื้อแก้วสีแดงเข้มจนดำ ขณะที่ลูกค้าคนเวียดนามชอบ Star Ruby อย่างไรก็ตาม พบว่าแม้มีการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดชายแดนกันมาก แต่ยังไม่มีตัวเลขแสดงในสถิติการค้าของศุลกากรเนื่องจากมีการขนสินค้าข้ามแดนโดยไม่ได้สำแดงตามระเบียบพิธีการศุลกากร โดยหยกและทับทิมที่มีการค้าชายแดนในไทยส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าเมียนมารับซื้อมาจากตลาดการค้าที่เขตมัณฑะเลย์และเขตย่างกุ้งแล้วนำมาขายต่อให้พ่อค้าไทยที่ชายแดน ส่วนทับทิมจากนำมาจากเหมืองโมกก และเหมืองมองซู อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาเข้มงวดในการส่งออกหยกและทับทิม โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดการประมูลเอง โดยเปิดให้นักธุรกิจจากประเทศต่างๆ เข้าไปประมูล ซึ่งพบว่านักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประมูลได้เป็นคนจีน ทำให้ปัจจุบันพ่อค้าเมียนมามีสินค้านำออกจากขายให้กับพ่อค้าไทยน้อยเนื่องจากไม่สามารถสู้ราคาประมูลจากพ่อค้าจีนได้
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เดินทางมาซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ตลาดชายแดนแม่สอดส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ส่วนที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย (คนจีนนิยมซื้อหยกที่เป็นเม็ดร่วงเพื่อนำไปประกอบเป็นเครื่องประดับเอง) นอกจากนี้ ยังมีพ่อค้าจากจันทบุรีจะเดินทางมาซื้อทับทิมและพลอยเพื่อนำไปเจียระไนต่อที่จังหวัดจันทบุรี โดยเป็นตลาดนำเข้าสินค้าจากเมียนมามากกว่าตลาดส่งออก ขณะเดียวกันก็มีพ่อค้าจากอำเภอแม่สอดรับซื้อพลอยเจียระไนจากจันทบุรีเพื่อมาขายให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่อำเภอแม่สอด โดยฤดูการซื้อขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวไทยของอำเภอแม่สอดจะขึ้นอยู่กับเทศกาลท่องเที่ยว เช่น ฤดูหนาว ช่วงเทศกาลตรุษจีน และช่วงเทศกาลสงกรานต์
หากศึกษาพฤติกรรมของคนเมียนมาที่เดินทางข้ามแดนมาซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากไทย พบว่า คนเมียนมาส่วนใหญ่เดินทางมาจากเมืองย่างกุ้งและเมืองเมียวดี เพื่อมาซื้อสินค้าจากฝั่งไทย โดยคนเมียนมาส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 97 ที่มาซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจะมาซื้อทองรูปพรรณมากกว่าการซื้อเครื่องประดับอื่นๆ เนื่องจากทองรูปพรรณสามารถนำไปเก็บเป็นสินทรัพย์แทนเงินสด เงินจ๊าด (Kyat) ของเมียนมาไม่มีเสถียรภาพทำให้การเก็บทองรูปพรรณจะมีความมั่นคงมากกว่าและสามารถนำไปเก็งกำไรได้ อีกทั้งทองรูปพรรณของไทยมีมาตรฐานและมีลวดลายที่สวยงาม นอกจากนี้ คนเมียนมาอีกร้อยละ 3 จะเดินทางมาซื้อเครื่องประดับ เช่น เครื่องประดับเพชร และเครื่องประดับพลอย ที่มีตัวเรือนทำจากทองคำ 22K เพื่อนำไปใช้งานพิธีสำคัญ เช่น งานแต่งงาน เป็นต้น เนื่องจากเครื่องประดับของไทยมีคุณภาพและการออกแบบที่สวยงามมากกว่าเมียนมา โดยลูกค้าเมียนมาจะชำระราคาทั้งหมดเป็นเงินสด (สกุลเงินบาท) และมีมูลค่าการซื้อเฉลี่ยคราวละ 100,000–500,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีคนเมียนมาบางส่วนเดินทางมาซื้อเครื่องประดับจากไทยเพื่อนำไปเป็นตัวอย่างในการออกแบบเครื่องประดับในเมียนมา โดยจะมาซื้อปีละ 4 ครั้งๆ ละ 100,000–500,000 บาท โดยการจำหน่ายสินค้าให้คนเมียนมาไม่มีผลกระทบจากอิทธิพลด้านฤดูกาล
ปัญหาอุปสรรคที่พบในปัจจุบัน ได้แก่ (1) จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่อำเภอแม่สอดมีลักษณะตามฤดูกาล โดยมาท่องเที่ยวมากช่วงฤดูหนาว และปรับลดลงในช่วงฤดูฝน (2) การขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบ โดยเฉพาะขาดแคลนพลอยและหยก เนื่องจากเมียนมามีความเข้มงวดมากขึ้นในการส่งออกพลอย อีกทั้งพลอยที่ขุดได้จากเหมืองพลอยในเมียนมาจะต้องนำมาประมูล โดยผู้ชนะการประมูลส่วนใหญ่เป็นคนจีนเนื่องจากมีเงินทุนมากกว่า เพราะการประมูลแต่ละครั้งจะต้องนำเงินไปวางค้ำประกัน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้คนเมียนมาไม่มีโอกาสนำพลอยมาขายต่อให้กับพ่อค้าไทย ทำให้ปัจจุบันพลอยเจียระไนที่นำมาขายในตลาดแม่สอดส่วนใหญ่รับมาจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนำเข้ามาจากแทนซาเนีย โมซัมบิก และประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา
ในการผลักดันแม่สอดเป็นศูนย์กลางอัญมณีในภูมิภาคและและศูนย์หยกโลกนั้น ผู้เขียนเห็นสมควรให้กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่บูรณาการส่งเสริมย่านการค้าด้วย (1) การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจ (cluster) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม โดยมีการแบ่งปันข้อมูล การสร้างแบรนด์ของชุมชนในย่านการค้าให้เป็นที่รู้จัก การรวมตัวกันเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบ และการรวมตัวเพื่อขอรับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (2) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับมารวมตัวอยู่ในอาคารสถานที่เดียวกัน เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีการให้บริการเบ็ดเสร็จแก่ลูกค้าและผู้ประกอบการ อีกทั้งช่วยให้ลูกค้าสามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวชมและซื้อสินค้าได้ในพื้นที่เดียวกัน (3) การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์มาตรฐานทองคำและอัญมณีเครื่องประดับของไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นนำมาเสนอจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ตลอดจนเชิญชวนให้ผู้ประกอบการฯ ใช้บริการรับรองคุณภาพมาตรฐานเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัด Mobile Unit เพื่อเข้าไปช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ (4) การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดนและขยายเวลาการเปิดให้บริการของด่านพรมแดน (5) การพิจารณาผ่อนคลายความเข้มงวดในการเก็บภาษีแก่กิจการอัญมณีและเครื่องประดับชายแดน เนื่องจากผู้ประกอบการค้าและลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดตลาดการค้าชายแดนขึ้น ดังนั้น ในกรณีที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมการพัฒนาการค้าชายแดนจะต้องไม่นำกฎระเบียบเรื่องการเก็บภาษีมาใช้อย่างเข้มงวดมากเกินไป เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน (6) การส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการค้าอัญมณี เครื่องประดับ และทองรูปพรรณในพื้นที่ชายแดน และ (7) การส่งเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจและกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าพื้นที่ปกติ ซึ่งจะเอื้อต่อการยกระดับมูลค่าและกิจกรรมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที