GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 12 มิ.ย. 2017 03.40 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1874 ครั้ง

ด้วยสถานการณ์ที่สหภาพยุโรปต้องเผชิญในปัจจุบัน ทั้งประเด็นการแข่งขันทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา และปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้าย โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมานานอย่างเรื้อรัง ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของชาวยุโรป จนก่อให้เกิดมุมมองและพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ติดตามเรื่องราวการค้าใน EU ฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/Op3Kf5 หรือบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


โอกาสการค้าเครื่องประดับเทียมท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจใน EU

 
ที่มา: www.eucountrylist.com และ http://DHgate.com

 
ด้วยสถานการณ์ที่สหภาพยุโรปต้องเผชิญในปัจจุบัน ทั้งประเด็นการแข่งขันทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา และปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้าย โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมานานอย่างเรื้อรัง ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของชาวยุโรป จนก่อให้เกิดมุมมองและพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยในส่วนของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของสินค้าฟุ่มเฟือย พบว่าผู้บริโภคมีความระมัดระวัง และใช้เวลาในการตัดสินใจเลือกซื้อ จนทำให้ขนาดตลาดผู้บริโภคเล็กลงกว่าแต่ก่อน รวมถึงมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมก็ลดลงกว่าในปีที่ผ่านๆ มาด้วย แต่ถึงกระนั้น ผู้ประกอบการไทยก็ไม่ควรที่จะมองข้ามตลาดยุโรปไป เพราะถือเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ และยังคงมีความต้องการที่จะบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอยู่ เพียงแต่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและมองหาลู่ทางที่เหมาะสม


ที่มา: http://mystunningjewelry.com/ 

                                                                                         
ชาวยุโรปกับพฤติกรรมการเลือกซื้อเครื่องประดับ

โดยทั่วไปชาวยุโรปมีความนิยม ชื่นชอบและผูกพันกับความเป็นแฟชั่นมาช้านาน ถือได้ว่า เป็นทั้งแหล่งกำเนิด และศูนย์กลางแฟชั่นของโลก โดยสิ่งที่จะบ่งบอกถึงรสนิยมและความเป็นแฟชั่นของชาวยุโรปซึ่งแสดงออกสู่สายตาของชาวโลก มักจะมีการนำเสนอผ่านทางเสื้อผ้า และเครื่องประดับซึ่งมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องหลายยุคสมัย จะพบว่าชาวยุโรปค่อนข้างมีความอ่อนไหว ใส่ใจในรายละเอียด และก้าวตามกระแสแฟชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอิทธิพลของแฟชั่นทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับมักมาจากฝรั่งเศสและอิตาลีอันเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงมาช้านาน


ชาวยุโรปให้ความสำคัญกับการเลือกเครื่องแต่งกายให้ดูดีมีรสนิยม บ่งบอกถึงความทันสมัย และฐานะทางสังคม โดยเสื้อผ้าที่สวมใส่จะต้องเข้าชุดกับเครื่องประดับได้อย่างลงตัว เมื่อพิจารณาไปยังกลุ่มผู้บริโภคในยุโรป จะพบว่าปัจจุบันสัดส่วนของประชากรเพศหญิงที่มีระดับการศึกษา และอยู่ในวัยทำงานมีเพิ่มมากขึ้น โดยมีช่วงอายุตั้งแต่ 25-54 ปี ถือเป็นกลุ่มที่นิยมก้าวตามเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและกระแสโลก นอกจากนี้พบว่าประชากรเพศชายก็ให้ความสนใจในเครื่องประดับที่สื่อให้เห็นถึงบุคลิกภาพ ขณะที่ช่วงวัยผู้สูงอายุมักจะนิยมเครื่องประดับที่สามารถใช้งานได้นานและคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป มีความเหมาะสมแก่ฐานะและบุคลิกภาพของผู้สวมใส่ โดยทั่วไปชาวยุโรปนิยมเลือกซื้อเครื่องประดับที่มีคุณภาพสูง และมีดีไซน์ที่หรูหรา ตัวเรือนทำจากทอง หรือเงิน และประดับด้วยอัญมณีชนิดต่างๆ แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกซื้อเครื่องประดับ ซึ่งปัจจุบันชาวยุโรปได้หันมาเลือกใช้เครื่องประดับเทียมที่มีคุณภาพดีและราคาเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จัดเป็นสินค้าทางเลือกที่มีบทบาททดแทนเครื่องประดับแท้ได้ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงแล้ว ยังช่วยให้ก้าวทันกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น ความต้องการในสินค้าเครื่องประดับเทียมจึงเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน และมีโอกาสเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ตลาดเครื่องประดับเทียมในสหภาพยุโรป

 

ที่มา: http://mystunningjewelry.com/


เครื่องประดับเทียม (Costume Jewellery หรือ Fashion Jewellery) ถือเป็นสินค้าแฟชั่นซึ่งจัด ว่าเป็นสินค้าทางเลือกที่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บริโภค สินค้าจะมีความหลากหลายอิงตามเทรนด์แฟชั่นเป็นสำคัญ สินค้ามีหลายระดับราคาขึ้นอยู่กับวัสดุและรูปแบบของสินค้า โดยส่วนมากแล้วเครื่องประดับเทียมจะผลิตจากวัตถุดิบต่างๆ อาทิ อัญมณีสังเคราะห์ คริสตัล ผงเงิน ผงทอง โรเดียม โลหะที่ใช้ทำตัวเรือน ได้แก่ ดีบุก ทองเหลือง ตะกั่ว สแตนเลส ซึ่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้สามารถผลิตได้มีความสวยงามใกล้เคียงกับเครื่องประดับแท้ แต่ด้วยความที่ราคาต่ำกว่าเครื่องประดับแท้หลายเท่าจึงทำให้ตลาดผู้บริโภคค่อนข้างกว้างและเติบโตได้ดีท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกช่วงวัยและทุกระดับ อีกทั้งซื้อได้ในปริมาณมาก และมีความถี่ในการซื้อได้บ่อยตามความพึงพอใจหรือตามเทรนด์แฟชั่น ซึ่งตามปกติแล้วผู้บริโภคจะมีวัตถุประสงค์ในการซื้อไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้เป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิ วันเกิด เทศกาลคริสต์มาส และวันวาเลนไทน์ เป็นต้น

ปัจจุบันตลาดยุโรปถือเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ครอบคลุมจำนวนประชากรถึง 742.5 ล้านคน (จาก 28 ประเทศในกลุ่ม EU) โดยมี GDP รวมกัน 16.315 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.99 ของ GDP โลก สำหรับตลาดเครื่องประดับเทียมในยุโรป พบว่าเป็นทั้งตลาดที่เป็นผู้นำเข้าและส่งออก โดยสินค้าที่ผลิตได้ในยุโรป ส่วนใหญ่มีคุณภาพระดับปานกลางจนถึงระดับสูง ซึ่งสินค้าที่มีคุณภาพสูงส่วนมากมักเป็นเครื่องประดับแฟชั่นที่อยู่ภายใต้แบรนด์ดังระดับโลก อาทิ Louis Vuitton, Swarovski, Dior และ Frey Wille ด้วยคุณค่าของแบรนด์และต้นทุนการผลิตจึงทำให้มีราคาสูง และมีกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเป็นผู้ที่ค่อนข้างจะมีฐานะและมีรายได้สูง ดังนั้น ประเทศในกลุ่ม EU จึงต้องอาศัยการนำเข้าเครื่องประดับเทียมจากประเทศนอกกลุ่ม อันได้แก่ จีน ไทย เวียดนาม ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากสถิติทางการค้าในปีที่ผ่านมาพบว่าภาพรวมการนำเข้าเครื่องประดับเทียมจากตลาดโลกลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าจะมีความหลากหลายทั้งรูปแบบ คุณภาพและระดับราคาเพื่อให้เกิดการกระจายสินค้าไปทุกระดับผู้บริโภค ทั้งนี้ โดยส่วนมากช่องทางการจำหน่ายเครื่องประดับเทียมจะเน้นการเข้าถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ สินค้ามักจะจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีก และร้านค้าที่จำหน่ายรวมกับสินค้าแฟชั่นชนิดต่างๆ อาทิ เสื้อผ้า นาฬิกา และกระเป๋า รวมถึงแหล่งชอปปิงทั่วไป เป็นต้น
 

ที่มา: http://bonsaimanuel.blogspot.com

 
การส่งออกเครื่องประดับเทียมจากไทยไปยังสหภาพยุโรป

ภาพรวมของการส่งออกเครื่องประดับเทียมจากไทยไปยังสหภาพยุโรปในปี 2016 ลดลงจากปีก่อนหน้า สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจของยุโรปที่เรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ จากสถิติล่าสุดพบว่ามูลค่าการค้ากับบางประเทศกลับมีการเติบโตขึ้นอย่างสวนกระแส ได้แก่ ออสเตรีย สเปน สวีเดน โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็กและฮังการี เป็นต้น จากสถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยไปยังตลาด EU พบว่ามีมูลค่ารวม 1,506 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.57 ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังตลาดโลก ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.2 โดยสินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ พลอยสี อัญมณีสังเคราะห์ เครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม

ถึงกระนั้น เมื่อพิจารณาสถิติเป็นรายสินค้า พบว่าสินค้าที่มีการเติบโตได้ดีท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปคือ เครื่องประดับเทียม ซึ่งล่าสุดในปี 2016 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 95.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ซึ่งมีมูลค่า 85.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 11.18 โดยประเทศที่มีมูลค่านำเข้าเครื่องประดับเทียมจากไทยสูงเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรีย และสเปน

โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบันการส่งออกเครื่องประดับเทียมจากไทยไปยังสหภาพยุโรป ได้ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ไปแล้ว จึงทำให้มีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 0-4 ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ รวมถึงการที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ได้แก่ มาตรฐานการใช้นิกเกิลในเครื่องประดับการรับรองมาตรฐานทางด้านแรงงานและแหล่งกำเนิดสินค้า แต่ถึงกระนั้น จากศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและโอกาสในการเติบโตของเครื่องประดับเทียมในตลาดยุโรป ผู้ประกอบไทยจึงควรมองว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่ท้าทายมากกว่าอุปสรรค

 
                            
ที่มา: http://www.shopforshops.com


หากผู้ประกอบการต้องการเข้าไปตีตลาดเครื่องประดับเทียมในยุโรป ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังในตัวสินค้า ซึ่งปัจจุบันพบว่าชาวยุโรปนิยมเครื่องประดับเทียมที่มีความทันสมัย โก้หรูแต่ไม่ฟู่ฟ่าจนเกินพอดี สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการแต่งตัวในหลากหลายสไตล์ และใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการออกแบบเครื่องประดับ โดยพยายามออกแบบให้มีการเชื่อมโยงถึงเทรนด์และกระแสนิยมในขณะนั้น เพื่อให้เกิดแรงดึงดูดในสินค้า และสร้างโอกาสในการครองส่วนแบ่งทางการตลาดให้เพิ่มขึ้น รวมถึงหากต้องการให้การค้าเกิดความราบรื่น ผู้ประกอบการก็ควรทำความเข้าใจในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ด้วย เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนตามมา

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องยอมรับในการส่งออกเครื่องประดับเทียมก็คือ คู่แข่งทางการค้าที่มีศักยภาพและมีพื้นที่ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้ค่อนข้างมาก อาทิ จีน ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำ อิตาลีมีความได้เปรียบที่การออกแบบและเป็นผู้นำแฟชั่น และอินเดียที่เป็นแหล่งวัตถุดิบพวกอัญมณีสังเคราะห์ทำให้ง่ายต่อการผลิตสินค้า ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้เหนือคู่แข่ง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสภาพตลาด และเลือกผลิตสินค้าโดยมุ่งเน้นการเจาะตลาดผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับบน เพื่อให้เกิดความแตกต่างด้านคุณภาพและการออกแบบเมื่อเทียบกับสินค้าที่มาจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่าไทย รวมถึงผู้ประกอบการต้องมีความยืดหยุ่นในการผลิต และการออกแบบเครื่องประดับ เพราะกระแสความนิยมมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยตามเทรนด์แฟชั่น นอกจากนี้ ด้านการกระจายสินค้าไปยังตลาดยุโรป ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงรูปแบบการค้าออนไลน์เป็นช่องทางเสริมด้วย เพราะผู้ซื้อชาวยุโรปสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง และด้วยความที่เครื่องประดับเทียมมีราคาไม่สูงเท่าเครื่องประดับแท้ จึงทำให้การตัดสินใจเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรกระตือรือร้นในการสื่อสารกับลูกค้า การตอบข้อซักถาม และให้บริการอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดความเชื่อใจและผลักดันยอดขายสินค้าได้ในที่สุด

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที