แม้เวลาจะเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัย แต่การดำเนินชีวิตของชาวอินเดียยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอย่างเคร่งครัด โดยชาวอินเดียเชื่อในอาศรม 4 ซึ่งเป็นทางปฏิบัติในการดำรงชีวิตผ่านช่วงวัยทั้ง 4 นับตั้งแต่เกิดจากครรภ์มารดาจนถึงบั้นปลายชีวิต สำหรับการแต่งงานนั้น ถือเป็นช่วงชีวิตสำคัญของการเข้าสู่ช่วงวัย “คฤหัสถ์” หรือวัยครองเรือนตามศาสนาฮินดู ประเพณีแต่งงานจึงนับเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่สำคัญยิ่งของชาวอินเดียเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามลำดับ โดยยอมผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปบ้าง อาทิ เดินทางไปจัดงานในต่างประเทศ หรือ ปรับรูปแบบพิธีให้มีความรื่นเริงมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคู่บ่าวสาวอินเดียเข้าสู่พิธีแต่งงานแต่ละปีมากถึง 10 ล้านคู่
เครื่องประดับสำหรับพิธีแต่งงาน (Wedding Jewellery India) แต่ละชิ้นล้วนมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่แค่สิ่งที่แสดงถึงความมั่งคั่งของผู้สวมใส่ หากแต่หมายรวมถึงความเชื่อเรื่องโชคลางของชาวอินเดียด้วย ซึ่งตามธรรมเนียมการแต่งงานของอินเดียแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะสวมใส่เครื่องประดับสำคัญรวม 9 ชิ้น ได้แก่ จี้ห้อยหน้าผาก เครื่องประดับจมูก ต่างหู สร้อยคอ แหวน กำไลข้อมือ เครื่องประดับที่เอว แหวนนิ้วเท้า และ สร้อยข้อเท้า ซึ่งเครื่องประดับที่มีความสำคัญสูงสุด 4 ชิ้น ที่จะขาดเสียไม่ได้ประกอบด้วย
- บีชีย่า (Bichiya) หรือ “แหวนนิ้วเท้า” ใช้สวมใส่นิ้วเท้าทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อยทั้งสองข้าง เป็นสัญลักษณ์ของการแต่งงาน ส่วนใหญ่ทำจากเงิน ไม่นิยมเป็นทองคำ
- เครื่องประดับจมูก หรือห่วงจมูก (Nose Ring) เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ มักสวมที่จมูกด้านซ้าย โดยสตรีชาวอินเดียจะต้องสวมใส่ในวันแต่งงานและหลังจากนั้น เชื่อว่าจะช่วยให้ลมหายใจบริสุทธิ์และปกป้องสุขภาพของสามี นอกจากนี้ การเจาะจมูกด้านซ้ายยังเชื่อว่าจะทำให้คลอดบุตรง่าย รวมทั้งช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน
- สร้อยคอ (Mangalsutra) เป็นเครื่องประดับที่สำคัญมาก เพราะเจ้าสาวจะต้องสวมใส่ไปตลอดชีวิต ประกอบด้วยจี้ทองคำและด้ายสีเหลืองร้อยลูกปัดสีดำ โดยเจ้าบ่าวจะเป็นผู้สวมให้แก่เจ้าสาวในวันแต่งงาน เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นภรรยา อีกทั้งเชื่อว่าลูกปัดสีดำมีอำนาจแห่งเทพที่ช่วยพิทักษ์สามี และชีวิตสมรส ถือเป็นเครื่องหมายสูงสุดของความรักและความนับถือ
- ชูดี (Chudi) หรือกำไลข้อมือ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสถานะสมรสของสตรีอินเดีย คล้ายคลึงกับแหวนแต่งงานของชาวตะวันตก
ตลาดเครื่องประดับเพื่อการแต่งงานในอินเดีย
ที่มา: http://www.bridalnbridal.html
|
ปัจจุบันตลาดเครื่องประดับเพื่อการแต่งงานในอินเดียมีมูลค่าสูงถึงปีละ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 25-30 สืบเนื่องมาจากจำนวนคู่แต่งงานชาวอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี จนเกิดเป็นความต้องการเครื่องประดับที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเครื่องประดับแต่งงานสามารถครองส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศได้สูงถึงร้อยละ 31.5 ของการบริโภคเครื่องประดับทั้งหมด เมื่อพิจารณาถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้คู่แต่งงานอินเดียมีจำนวนมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนอินเดียรุ่นใหม่ ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้แต่รูปแบบทางความคิดมีการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น มีการหาคู่ครองที่เหมาะสมผ่านทางโลกออนไลน์ ทางเว็บไซต์จัดหาคู่ต่างๆ จนมีคู่แต่งงานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากคู่แต่งงานในอินเดียจะมีอายุอยู่ในช่วง 25-29 ปี และเมื่อถึงเวลาของการจัดพิธีแต่งงาน ผู้บริโภครุ่นใหม่มีความชื่นชอบและให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อเครื่องประดับเป็นอย่างมาก โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องประดับแต่งงานคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35-45 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการจัดงาน ซึ่งเครื่องประดับแต่งงานที่ได้รับความนิยม คือ เครื่องประดับทองที่มีการฝังเพชรหรือพลอยเนื้อแข็งเอาไว้ เพราะทองคำมีอิทธิพลต่อสังคมชาวอินเดียทั้งในด้านความเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสำเร็จและความโชคดี รวมถึงมองว่าการทุ่มเงินซื้อเครื่องประดับนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างหนึ่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ยังคงอยู่หลังจากพิธีแต่งงานจบลง ทั้งนี้ นอกจากเครื่องประดับจะมีความจำเป็นสำหรับคู่บ่าวสาวแล้ว ญาติผู้ใหญ่ มิตรสหาย หรือแขกเหรื่อ ก็ให้ความสำคัญกับการซื้อเครื่องประดับสำหรับสวมใส่ไปร่วมงาน หรือมอบเป็นของขวัญแก่คู่บ่าวสาวเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองที่มีมากในทุกๆ ปี ของช่วงเวลาที่ชาวอินเดียนิยมแต่งงาน (นับจากเดือนตุลาคมไปอีก 6 เดือนตามธรรมเนียม)
จากความต้องการเครื่องประดับแต่งงานที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะลองใช้สินค้าประเภทนี้ขยายมูลค่าทางการค้ากับอินเดียให้เพิ่มมากขึ้น โดยจากสภาพการณ์แล้วผู้ประกอบการไทยสามารถอาศัยความมีชื่อเสียง และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศจากการเป็นแหล่งจัดงานแต่งงานสำหรับชาวอินเดีย ประกอบกับอาศัยจุดแข็งของเครื่องประดับไทยที่มีคุณภาพงานดี และมีรูปแบบที่ทันสมัย หลากหลาย จึงถือได้ว่าเป็นสินค้าระดับพรีเมียม ตอบโจทย์การทุ่มเงินซื้อเครื่องประดับสำหรับพิธีการแต่งงานอันสำคัญของชาวอินเดียได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรมีกลยุทธ์ที่ดีในการหาช่องทางในการค้าเครื่องประดับแต่งงานควบคู่ไปกับการพยายามเข้าถึงผู้บริโภคอินเดีย
สิ่งที่น่าสนใจและเป็นโอกาสในการค้าเครื่องประดับแต่งงานอินเดีย คือ พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีการหาข้อมูลสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ประกอบกับเริ่มมีการจัดโชว์เครื่องประดับแต่งงานที่มีการออกแบบหลากหลายผ่านทางเว็บไซต์อย่าง Alibaba ซึ่งเป็นช่องทางอย่างหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษากฎหมายการค้าออนไลน์ของอินเดียเพิ่มเติม เพื่อใช้เพิ่มโอกาสในการผลักดันสินค้าประเภทนี้ให้เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้ากับอินเดียได้มากยิ่งขึ้น