GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 18 พ.ค. 2017 09.23 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4366 ครั้ง

ตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในฮ่องกงมีหลากหลายย่านตามแหล่งช้อปปิ้งและชุมชนต่างๆ แต่ย่านการค้าที่สำคัญที่สุดในฮ่องกงก็คือ ย่าน Tsim Sha Tsui และย่าน Causeway Bay ซึ่งเป็นย่านช้อปปิ้งแหล่งยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังฮ่องกง ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/Hs1NQ5 หรือบทความอื่นๆ เพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th


ธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับฮ่องกงเน้นกลยุทธ์เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม

ตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในฮ่องกงมีหลากหลายย่านตามแหล่งช้อปปิ้งและชุมชนต่างๆ แต่ย่านการค้าที่สำคัญที่สุดในฮ่องกงก็คือ ย่าน Tsim Sha Tsui และย่าน Causeway Bay ซึ่งเป็นย่านช้อปปิ้งแหล่งยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังฮ่องกง ทั้งนี้ จากการสำรวจร้านค้าปลีกเครื่องประดับในย่าน Tsim Sha Tsui เห็นได้ว่าแทบทุกถนนสายหลักสายย่อยในย่านนี้เต็มไปด้วยร้านค้าปลีกเครื่องประดับจำนวนมากทั้งตามแนวถนนต่างๆ และในห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเครื่องประดับรายใหญ่ของฮ่องกงทั้ง Chow Tai Fook, LukFook Jewellery, Chow Sang Sang และ TSL ที่ตั้งร้านค้าสาขาในบริเวณใกล้เคียงกันและมีจำนวนร้านค้าค่อนข้างมากในย่านช้อปปิ้งนี้ รวมถึงยังมีร้านค้าแบรนด์ธุรกิจเครื่องประดับระดับกลางและย่อม อาทิเช่น CSS, MaBelle, 3D-Gold และ Benny Lau Jewellery ไปจนถึงแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำระดับโลกทั้ง Cartier, Chopard, Tiffany & Co. และ Swarovski เป็นต้น
 

 
 ร้านค้าปลีกเครื่องประดับแบรนด์ชั้นนำในย่าน Tsim Sha Tsui 

 
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการธุรกิจจีนรายใหญ่อย่าง Lao Feng Xiang เข้ามาตั้งร้านสาขาขยายตลาดในฮ่องกง และแบรนด์เนมชื่อดังจากเดนมาร์กอย่าง Pandora ที่ตั้งร้านในย่านช้อปปิ้งบริเวณถนนนาธาน รวมถึงแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำจากญี่ปุ่น I-Primo ที่เปิดร้านสาขาบนห้างสรรพสินค้าในฮ่องกง โดยปัจจุบันแต่ละแบรนด์ยังมีเพียงแค่ร้านค้าแห่งเดียวในย่าน Tsim Sha Tsui
 
สินค้าเครื่องประดับของฮ่องกงหลายแบรนด์ส่วนมากมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน โดยแต่ละแบรนด์จะจำหน่ายเครื่องประดับหลากประเภทหลายรูปแบบ และหันมาวางกลยุทธ์เจาะตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche Market) เพื่อรองรับผู้ซื้อหลากหลายกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่คนรุ่นเดิมวัยสูงอายุ และรุ่นพ่อแม่ ที่เรียกกันว่ารุ่น Baby Boomer และ Gen X ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น และเด็ก ทั้งคนรุ่น Gen Y และ Gen Z  ซึ่งสินค้าที่นำเสนอไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทองล้วน เครื่องประดับทองตกแต่งเพชร เครื่องประดับทองตกแต่งเพชรและพลอยสีโดยเฉพาะทับทิมและไพลิน เครื่องประดับทองตกแต่งหยก เครื่องประดับมุก ด้วยดีไซน์หรูหราเป็นเซตครบชุด คุณภาพสูงและมีราคาแพง สำหรับผู้ซื้อคนรุ่นเก่าที่มีค่านิยมในการซื้อเครื่องประดับทองเพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์ในการลงทุน จนไปถึงรูปแบบทันสมัยชิ้นงานขนาดเล็กสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เพื่อเน้นตอบสนองผู้บริโภครุ่นใหม่ทั้งหญิงสาววัยทำงานและวัยรุ่น รวมถึงเครื่องประดับสำหรับผู้ชายที่สนใจแฟชั่น โดยเน้นเครื่องประดับทองดีไซน์แปลกใหม่ ตกแต่งด้วยเพชรเดี่ยวเม็ดเดียวหรือพลอยเนื้ออ่อน หรือเป็นชาร์มร้อยบนสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือที่ทำด้วยเชือกถัก ซึ่งมีสนนราคาไม่สูงนัก
 

 
 เครื่องประดับสำหรับกลุ่มสาววัยทำงาน วัยรุ่น และผู้ชายรุ่นใหม่ที่สวมใส่เครื่องประดับ

 
ทั้งนี้ สินค้าที่ทุกแบรนด์ชั้นนำของฮ่องกงวางจำหน่ายนั้น ส่วนมากจะเน้นเครื่องประดับทองสำหรับคู่แต่งงานบ่าวสาวเป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีส่วนแบ่งในตลาดค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับรูปแบบดั้งเดิมอย่างเครื่องประดับทองหรูหราเป็นเซตครบชุดขนาดใหญ่ ที่ขึ้นรูปเป็นลวดลายสวยงามหรือสัญลักษณ์แทนความเป็นสิริมงคลต่างๆ เช่น หมู 3 ตัว นกฟีนิกซ์ รวมถึงทองคำแท่ง และทองคำก้อนรูปเงินตราของจีนหรือเป็นลวดลายสัตว์มงคลต่างๆ ซึ่งใช้เป็นสินสอดทองหมั้นในพิธีหมั้นและแต่งงานตามธรรมเนียมของชาวจีนและฮ่องกงมาแต่ดั้งเดิม ไปจนถึงเครื่องประดับแต่งงานดีไซน์สมัยใหม่อย่างเซตเครื่องประดับเพชรโทนสีขาว แหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงานที่ประดับเพชร ที่ได้รับความนิยมจากคู่แต่งงานรุ่นใหม่ตามวัฒนธรรมตะวันตก และคู่รักที่นิยมมอบให้แก่กันในวันครบรอบแต่งงาน
 

 
 รูปแบบเครื่องประดับทองสำหรับพิธีแต่งงานดั้งเดิมแบรนด์ LukFook Jewellery

 
ขณะเดียวกันสินค้าเครื่องประดับสำหรับกลุ่มหญิงสาววัยรุ่นและเด็กก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในตลาดจีนและฮ่องกง ซึ่งถือเป็นสินค้ากลุ่มที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำ Chow Tai Fook และ LukFook Jewellery ได้ร่วมงานกับบริษัท Walt Disney และ Sanrio ในการผลิตสินค้าเครื่องประดับลวดลายการ์ตูนต่างๆ เช่น Disney Tsum Tsum, Hello Kitty, Rilakkuma เป็นต้น เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภควัยรุ่นจนถึงวัยเยาว์มานานหลายปี แต่ปัจจุบันนอกจากแบรนด์ท้องถิ่นในฮ่องกงอย่าง Chow Tai Fook แล้วแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำระดับโลกอย่าง Pandora และ Swarovski ก็ได้หันมานำเสนอสินค้าเครื่องประดับตามเทรนด์ภาพยนตร์ดังเช่นกัน โดยสินค้าคอลเลกชั่นใหม่ล่าสุดของทั้งสามแบรนด์ก็คือ Beauty and the Beast ที่นำไอเดียการสร้างสรรค์เครื่องประดับมาจากภาพยนตร์โรแมนติกสุดคลาสสิคชื่อดังที่สร้างขึ้นโดยใช้นักแสดงจริงและกำลังเข้าฉายในขณะนี้ เพื่อสร้างกระแสดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้าผู้หญิงหลายกลุ่มตั้งแต่วัยกลางคน และวัยรุ่นที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชาว Gen Y ที่เคยติดตามภาพยนตร์เรื่องนี้มาตั้งแต่ในสมัยยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่นไปจนถึงกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ชาว Gen Z โดยรูปแบบสินค้าเน้นเครื่องประดับทองทั้งทองสีขาวและสีเหลือง บางชิ้นงานตกแต่งด้วยเพชรขนาดเล็ก หรือเป็นชาร์มประดับสร้อยข้อมือที่ทำด้วยเชือก รวมไปถึงดอกกุหลาบที่ทำด้วยทองคำหรือคริสตัล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และลวดลายจากภาพยนตร์เรื่องนี้

 
 เครื่องประดับทองคอลเลกชั่น Rilakkuma 


ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับในฮ่องกงซบเซาลงมากในช่วงสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อหลักในตลาดนี้เดินทางเข้ามายังฮ่องกงเป็นจำนวนลดน้อยลง รวมถึงลดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับลง จนส่งผลให้ยอดค้าปลีกเครื่องประดับในฮ่องกงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว 7 วันของชาวจีน ที่มีธรรมเนียมการซื้อของขวัญมอบให้แก่ครอบครัวและเพื่อนนั้น แม้ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามายังฮ่องกงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่กลับไม่ได้ส่งผลในทางบวกต่อยอดขายเครื่องประดับในฮ่องกงแต่อย่างใด ธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับชั้นนำของฮ่องกงหลายรายต่างรายงานว่ายอดขายในช่วงเทศกาล 7 วันดังกล่าวมียอดขายในร้านค้าเดียวกันลดลงจากปี 2016 อาทิเช่น แบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่สุดของฮ่องกง Chow Tai Fook ที่ให้ข้อมูลว่ายอดขายในร้านค้าเดียวกันของแบรนด์ Chow Tai Fook ลดลงราวร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นมีแนวโน้มในการจับจ่ายซื้อสินค้าเครื่องประดับในฮ่องกงลดน้อยลง หรือซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่ำลง โดยหันมาเลือกซื้อสินค้าหรูหราในสนนราคาที่ไม่สูงมากนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการซื้อเครื่องประดับทองขนาดใหญ่มาเป็นชิ้นงานขนาดเล็กลง ขณะเดียวกันสินค้าแบรนด์เนมระดับกลางอย่าง Pandora นั้นได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก สวนทางกับแบรนด์เครื่องประดับหรูหราระดับโลกที่มีคนเข้าไปเลือกซื้อสินค้าน้อยกว่า และบางแบรนด์ก็ทยอยปิดร้านสาขาบางแห่งลงเพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ ดังนั้น ธุรกิจเครื่องประดับในฮ่องกงจึงต้องปรับตัวรับมือกับภาวะการแข่งขันในตลาด พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางในการดำเนินธุรกิจหรือริเริ่มกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ซื้อในตลาดมากขึ้น รวมถึงเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์และนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ผ่านทางหน้าร้านและสื่อออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างการรับรู้และและกระตุ้นความต้องการซื้อไปยังผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มเจนเนอเรชั่น

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที