บทสัมภาษณ์คุณจีรกิตติ ตังคธัช นายกสมาคมผู้ประกอบการเจียระไนเพชร
ฝีมือการเจียระไนเพชรของไทยเป็นที่เลื่องลือและยอมรับในตลาดโลก เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานและสร้างรายได้เข้าประเทศแต่ละปีไม่น้อย แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ไทยส่งออกเพชรเจียระไนไปตลาดโลกลดลงมาโดยตลอด ซึ่งจะเป็นเพราะสาเหตุใดและปีนี้จะมีแนวโน้มอย่างไร ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณจีรกิตติ ตังคธัช นายกสมาคมผู้ประกอบการเจียระไนเพชร ผู้อ่านสามารถติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ข้างล่างนี้
ขอให้เล่าเกี่ยวกับสมาคมผู้ประกอบการเจียระไนเพชร
ปัจจุบันผู้ประกอบการเพชรเจียระไนในประเทศไทยมีจำนวน 14 โรงงานซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติจากอินเดีย อิสราเอล และเบลเยียม มีบริษัทไทยเพียงไม่กี่ราย ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก นอกจากนี้ยังมีสมาชิกสมทบที่เกี่ยวข้องด้วยเช่น GIA Lab บริษัทขนส่งอย่าง Brinks เป็นต้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน BOI ได้มอบหมายให้สมาคมเป็นผู้รวบรวมเอกสารการผลิตของสมาชิกซึ่งประกอบไปด้วยปริมาณวัตถุดิบที่นำเข้า เปอร์เซ็นต์ความสูญเสียจากการเจียระไนเพชร และปริมาณการส่งออก และแจ้งต่อ BOI อีกทั้งสมาคมยังทำหน้าที่แจ้งข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และช่วยเหลือสมาชิกด้านต่างๆ อาทิ การเจรจากับภาครัฐกรณีอุตสาหกรรมเจียระไนได้รับผลกระทบ และการนำเข้าวัสดุสิ้นเปลืองอย่างผงเพชรมาจำหน่ายให้แก่บริษัทรายเล็ก เป็นต้น
มีปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือไหม
เมื่อราว 20 ปีก่อนอุตสาหกรรมนี้มีช่างเจียระไนกว่าหมื่นคน แต่หลังจากไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โรงงานจำนวนมากได้ปิดตัวลงไป ทำให้แรงงานหลายคนหันไปทำอาชีพอื่นและไม่กลับมาสู่อาชีพช่างเจียระไนเพชรอีกเลย ปัจจุบันเหลือช่างเจียระไนเพชรราว 4,000 คน ซึ่งเพียงพอกับสภาพตลาดโลกปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา คิดว่าไม่น่ามีปัญหาในอนาคตเพราะปัจจุบันหลายโรงงานก็เริ่มฝึกช่างเจียระไนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น โดยให้ผลตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ จูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น
แรงงานไทยเจียระไนเพชรได้ขนาดไหนบ้าง
ในอดีตไทยเจียระไนเพชรขนาดต่ำกว่า 0.10 กะรัต แต่ถูกจีนแย่งตลาดนี้ไป จึงทำให้พัฒนาขึ้นมาเจียระไนเพชรขนาด 0.10 กะรัต ถึงกว่า 1 กะรัต ซึ่งเป็นขนาดเฉลี่ยที่ตลาดโลกต้องการ ทั้งนี้ไทยเจียระไนได้ทุกขนาดแต่ว่ายิ่งขนาดใหญ่ยิ่งมีความเสี่ยงการสูญเสียสูง เพราะช่างไทยยังไม่ถนัด ฉะนั้น หากเป็นเพชรขนาดใหญ่บริษัทต่างชาติอย่างเช่นเบลเยียมจะใช้ช่างเจียระไนในเบลเยียมซึ่งมีความถนัดในการเจียระไนเพชรขนาดใหญ่และเสียค่าแรงช่างเจียระไนเพียง 2-3% ของราคาสินค้า ขณะที่การเจียระไนเพชรเม็ดเล็กเสียค่าจ้างช่างเจียระไนถึงราว 20%
ทำไมบริษัทเจียระไนเพชรถึงมีแต่ต่างชาติ
เพราะต้นทุนการเจียระไนเพชรสูงมาก ผู้ประกอบการจะต้องนำเข้าวัตถุดิบมาสต๊อกเพื่อเจียระไนในแต่ละครั้งมูลค่าสูงมาก แต่กว่าจะขายได้ก็ใช้เวลา 4 -5 เดือน โดยบริษัทขนาดเล็กจะต้องซื้อ เพชรก้อนมาอย่างน้อยเดือนละ 3- 4 ล้านบาท บริษัทขนาดกลางจะซื้อเพชรก้อนมาเจียระไนเดือนละ 20-30 ล้านบาท ส่วนบริษัทใหญ่จะซื้อเพชรก้อนเดือนละราว 100 ล้านบาทขึ้นไป อีกทั้งต้นทุนการฝึกช่างเจียระไนก็สูงมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้นทุนต่อคนตกเดือนละหลายหมื่นบาท และต้องยอมรับความเสี่ยงความสูญเสียจากการเจียระไนเพชรของช่างใหม่ด้วย นับเป็นธุรกิจที่เงินจำนวนมากจมอยู่หลายเดือน และบริษัทไทยส่วนใหญ่จะต้องพึ่งเงินสินเชื่อจากธนาคาร จึงไม่มีบริษัทไทยกล้าเสี่ยงที่จะทำ ขณะที่บริษัทต่างชาติมีเงินทุนมหาศาลสามารถซื้อเพชรมาสต๊อกได้ครั้งละมากๆ มีเงินลงทุนกับคน และไม่ต้องกู้เงินจากธนาคาร นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีแต่บริษัทต่างชาติลงทุนในอุตสาหกรรมเพชรเจียระไนได้
ไทยส่งออกเพชรเจียระไนไปตลาดโลกลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะอะไร และจะมีทิศทางอย่างไรในปี 2560
เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ขณะเดียวกันราคาวัตถุดิบจากหน้าเหมืองก็แพงขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อลดลง รวมถึงความกังวลเพชรสังเคราะห์ (CVD) ที่เหมือนกับเพชรธรรมชาติมากจนแยกไม่ออก จึงทำให้โลกบริโภคเพชรเจียระไนลดลง และยังอาจจะมีปัจจัยมาจากการขาดการโฆษณา คือแต่ก่อนตอน De Beers คุมเหมืองเพชรในโลกราว 70% De Beers จะโฆษณาบ่อยชวนให้คนซื้อเพชร และเข้าซื้อเพชรในตลาดโลกเพื่อดึงราคาเพชรขึ้น ซึ่งก็ได้ผลดี แต่ปัจจุบันสัดส่วนการคุมเหมืองของ De Beers เหลือราว 30-40% และมีบริษัทรายใหญ่เข้ามาแชร์การคุมเหมืองเพชรอีก 3-4 ราย ซึ่งก็ไม่ได้ทำการโฆษณาจูงใจคนซื้อเพชร หรือช่วยเหลือพยุงราคาเพชร จึงทำการบริโภคเพชรเจียระไนและราคาเพชรเจียระไนไม่กระเตื้องขึ้น สำหรับทิศทางตลาดเพชรเจียระไนโลก ในปี 2560 คาดว่าจะยังคงทรงตัวตามทิศทางของเศรษฐกิจ แต่อาจดีขึ้นจากช่วงปีที่ผ่านมาบ้าง เพราะได้ยินว่าบริษัทระดับโลกกำลังช่วยกันแก้ปัญหา และพยุงราคาตลาด รวมถึงการเริ่มกลับมาโฆษณาเชิญชวนคนซื้อเพชร ก็น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดบริโภคเพชรเจียระไนเพิ่มขึ้นบ้าง
มีแนวโน้มที่บริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่
เท่าที่ได้พูดคุยกับสมาชิกสมาคม ยังไม่มีใครมีแผนย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเลย การตั้งโรงงานผลิตเพชรเจียระไนใช้ต้นทุนสูง และใช้เวลาในการฝึกฝนช่างฝีมือนานเป็นปี กว่าจะตั้งโรงงานเจียระไนเพชรขึ้นมาได้เป็นเรื่องยากมาก แม้ว่าบางบริษัทจะขาดทุน ก็ไม่คิดจะปิดโรงงาน หรือย้ายไปประเทศอื่น แต่มีแนวโน้มที่จะลดขนาดโรงงานหรือไม่ขยายโรงงานมากกว่า ต้องยอมรับว่าฝีมือคนไทยดีมาก บริษัทใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Rosy Blue ที่มาตั้งโรงงานในไทย ได้ขยายโรงงานไปจังหวัดพิษณุโลก ชื่นชมว่าคนไทยฝึกได้เร็วและฝีมือดีมาก ตรงนี้ยังเป็นจุดแข็งของไทยที่สามารถดึงดูดบริษัทต่างชาติไว้ได้
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : บทสัมภาษณ์คุณจีรกิตติ ตังคธัช นายกสมาคมผู้ประกอบการเจียระไนเพชร