GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 08 พ.ค. 2017 03.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2188 ครั้ง

“สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย” (Eurasian Economic Union หรือ EAEU) ถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของรัสเซียในช่วงกลางปี 2014 ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 ประเทศที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างกันและมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กิซสถาน ภายใต้วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเป็นตลาดร่วม (Common Market) ที่มีการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานระหว่างกันโดยเสรี รวมถึงความพยายามในการจัดตั้งให้เป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและขั้นตอนของระบบศุลกากรให้ลดน้อยลง ซึ่งในปัจจุบันทาง EAEU ได้พยายามที่จะพัฒนาข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกไปสู่การเรียกเก็บภาษีนำเข้าในระดับเดียวกันสำหรับสินค้าจากประเทศที่ 3 ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/06MQ3R หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ขยายโอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านกลุ่มเศรษฐกิจ EAEU

ที่มา: http://www.eaeunion.org


จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจการเมืองโลก อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางประชากรศาสตร์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดโลกอยู่เสมอ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหมั่นแสวงหาโอกาสทางการค้าในตลาดที่หลากหลายทั้งเพื่อกระจายความเสี่ยงและขยายโอกาสทางการค้า “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย” หรือ EAEU ซึ่งมีรัสเซียเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ถือเป็นตลาดกลุ่มใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย ถึงแม้ในช่วงสองปีที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้จะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าอยู่บ้าง โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ขณะนี้กลุ่ม EAEU ได้เข้าสู่ภาวะฟื้นตัวแล้ว อีกทั้งยังมีแนวทางที่ชัดเจนในการเจรจาความร่วมมือทางการค้ากับไทย ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสนี้

ทำความรู้จัก “สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย”

 

“สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย” (Eurasian Economic Union หรือ EAEU) ถือกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของรัสเซียในช่วงกลางปี 2014 ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 ประเทศที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างกันและมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กิซสถาน ภายใต้วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเป็นตลาดร่วม (Common Market) ที่มีการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานระหว่างกันโดยเสรี รวมถึงความพยายามในการจัดตั้งให้เป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและขั้นตอนของระบบศุลกากรให้ลดน้อยลง ซึ่งในปัจจุบันทาง EAEU ได้พยายามที่จะพัฒนาข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกไปสู่การเรียกเก็บภาษีนำเข้าในระดับเดียวกันสำหรับสินค้าจากประเทศที่ 3

 

 
ในปี 2015 กลุ่ม EAEU มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันเท่ากับ 1,587.30 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.15 ของมูลค่า GDP โลก และใกล้เคียงกับ GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียนรวมกันที่มีสัดส่วนร้อยละ 3.30 โดยมีรัสเซียเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของกลุ่ม เนื่องด้วยเป็นประเทศสมาชิกที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุด และมีประชากรมากที่สุดด้วยสัดส่วนร้อยละ 79.5 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 179.06 ล้านคน ทำให้ตลาดผู้บริโภคของรัสเซียมีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในช่วงปี 2015 จนถึงกลางปี 2016 จะประสบกับภาวะถดถอยและค่าเงินรูเบิ้ลอ่อนค่าลง

แต่วิกฤติทางเศรษฐกิจดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้รัสเซียอยู่ในสภาพย่ำแย่เท่าใดนักเพราะรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้มีการดำเนินนโยบายเชิงรุกจนสามารถบรรลุข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศในเอเชียได้หลายสิบฉบับ ตลอดจนทิศทางแนวโน้มความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับประเทศคู่ขัดแย้งเดิม อาทิ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นได้ทำให้รัสเซียสามารถพลิกวิกฤติไปเป็นโอกาสกระตุ้นให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คาดการณ์ว่ารัสเซียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2 ในปี 2017 ขณะที่คาซัคสถานซึ่งเป็นประเทศสมาชิกที่มีบทบาทความสำคัญรองลงมา ก็เร่งปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศอย่างจริงจัง มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกที่เน้นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน จึงถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ และเป็นอีกหนึ่งประเทศสมาชิกที่ช่วยขับเคลื่อนบทบาทของ EAEU ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในการติดต่อกับประชาคมโลก
           
ปัจจุบันถึงแม้ว่า EAEU จะอยู่ในช่วงแรกเริ่มก่อตั้ง แต่ภายใต้การนำของรัสเซียที่มีการใช้นโยบายเชิงรุก จึงทำให้เกิดการบรรลุข้อตกลงกับทางรัฐบาลจีนในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) และเป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคอาเซียนซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่ม EAEU พบว่า ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสมาชิกในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะรัสเซียและคาซัคสถานที่มีความร่วมมือระหว่างกันในมิติที่นอกเหนือจากการเป็นเพียงคู่ค้า และล่าสุดในช่วงปลายปี 2016 กลุ่ม EAEU ได้มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยให้แน่นแฟ้น และเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น โดยได้มีการหารือเรื่องการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย จนได้ข้อสรุปว่าไทยเห็นควรที่จะพยายามให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวขึ้น (รัฐบาลไทยอยู่ในช่วงของการจัดเตรียมความพร้อมและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม) ซึ่งหากในอนาคตมีการทำ FTA ระหว่างกันแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่อุปสรรคทางการค้าและความซ้ำซ้อนของระบบภาษีศุลกากรจะลดน้อยลงด้วย ถือเป็นโอกาสทางการค้าของไทยที่จะสามารถขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น


การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาด EAEU

รัสเซียเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในกลุ่มประเทศ EAEU เนื่องจากเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดด้วยมีประชากรกว่าครึ่งของประเทศ (ราว 70 ล้านคน) ที่อยู่ในวัยทำงานและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จากรายงานของ Euromonitor ระบุว่า ในปี 2016 มีการจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดรัสเซียประมาณ 73 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องประดับแท้ 20.11 ล้านชิ้น ด้วยยอดขาย 4,343.10 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าการค้ารวมในตลาดซึ่งอยู่ที่ 5,324.88 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากสภาพเศรษฐกิจของรัสเซียที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดการณ์ว่ายอดขายเครื่องประดับโดยรวมในตลาดแห่งนี้จะสามารถปรับเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 5,430 ล้านเหรียญสหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่จำหน่ายในตลาดรัสเซียนั้น บางส่วนเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศโดยผู้ผลิตรายใหญ่ หากแต่เนื่องด้วยตลาดมีความหลากหลายของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในเรื่องรสนิยมและระดับฐานะความเป็นอยู่ กอปรกับรูปแบบการดีไซน์และคุณภาพของสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์โดนใจผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง บรรดาผู้ค้าจึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าบางส่วนโดยเฉพาะเครื่องประดับแท้จากต่างประเทศ อาทิ จีน ไทย อิตาลี เป็นต้น โดยการนำเข้ามานี้มีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอื่นใน  กลุ่ม EAEU ซึ่งมีวัฒนธรรมและรสนิยมในการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับคล้ายคลึงกัน 

ที่มา: http://retaildesignblog.net/
 

จากข้อมูล Global Trade Atlas ในตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า ในปี 2014 ก่อนที่จะเกิดวิกฤติค่าเงินรูเบิ้ลในรัสเซีย การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากตลาดโลกไปยังกลุ่มประเทศ EAEU มีมูลค่าเกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีรัสเซียเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด ก่อนที่จะปรับลดลงราวครึ่งหนึ่งในปี 2015 และเหลือเพียง 834.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 โดยมูลค่าการนำเข้าดังกล่าวนี้รวมถึงการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกันในกลุ่มประเทศสมาชิก EAEU ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องประดับแท้และเพชรเจียระไนจากรัสเซียเป็นหลัก    
  

           
ในด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังตลาด EAEU นั้น ในระหว่างปี 2012-2016 อัญมณีและเครื่องประดับของไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกสำคัญไปยังประเทศสมาชิกใน EAEU อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีแรก มูลค่าการส่งออกเติบโตขึ้นโดยตลอดก่อนที่จะชะลอตัวลงเมื่อปี 2015-2016 เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในรัสเซีย เครื่องประดับเงินเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สุดด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกรวม รองลงมาได้แก่ เครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยสีเจียระไน และอัญมณีสังเคราะห์ ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไปยังรัสเซีย คาซัคสถาน และ เบลารุส ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดเครื่องประดับแท้ ขณะที่เพชรเจียระไนเป็นสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังอาร์เมเนีย ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังคีร์กิซสถานยังคงไม่มีนัยสำคัญ  

โอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาด EAEU 

ที่มา: http://eng.rjexpert.ru/


ปัจจุบันเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับและส่งผลเชิงบวกต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EAEU ซึ่งมีความเชื่อมโยงระหว่างกันด้วย โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2017 รัสเซียได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา เตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพงานฟุตบอลโลกในปี 2018 และออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งจากทิศทางการบริหารประเทศในเชิงสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับนานาประเทศของรัฐบาลรัสเซียนี้ ย่อมทำให้การคาดการณ์ที่ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียในปี 2017 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2 เป็นจริงได้ไม่ยาก ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการที่รัสเซียจะกลับมายิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดจะฟื้นตัว ผู้คนจะสนใจบริโภคสินค้าที่หลากหลายขึ้น รวมถึงสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างอัญมณีและเครื่องประดับด้วย จึงนับเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับสินค้าอัญมณี และเครื่องประดับของไทยที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานและมีชื่อเสียงอยู่มากในตลาดกลุ่มประเทศนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ EAEU นับว่าเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการค้าระหว่างกันอันสำคัญยิ่ง เนื่องด้วยการส่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเข้าไปจำหน่ายยังประเทศสมาชิกในกลุ่มนี้ยังต้องเผชิญกับกำแพงภาษีที่สูงมาก อาทิ ภาษีนำเข้าเครื่องประดับแท้อยู่ระหว่างร้อยละ 16.4-17.0 และภาษีนำเข้าพลอยสีที่ร้อยละ 10-15 ไม่รวมภาษีอื่นๆ อีกมากมาย

อีกทั้ง ยังมีขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรที่ค่อนข้างซับซ้อนและกินเวลานาน ดังนั้น การเร่งดำเนินการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลง FTA ระหว่างกัน นอกจากจะสามารถช่วยขจัดและ/หรือลดทอนอุปสรรคทางการค้าได้แล้ว ยังสามารถขยายโอกาสการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังตลาด EAEU ได้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย    

 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที