GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 12 เม.ย. 2017 03.36 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2425 ครั้ง

สหราชอาณาจักรเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคยุโรป ทั้งยังเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงด้วยรายได้เฉลี่ยต่อคนราว 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ประกอบกับชาวอังกฤษมีรสนิยมในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าคุณภาพดีและทันสมัย นิยมแต่งกายตามแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับที่ผู้บริโภคในประเทศมักหาซื้อเพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/SS5B4y หรือบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไป UK กับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น

 

Goldsmith
 
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคยุโรป ทั้งยังเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงด้วยรายได้เฉลี่ยต่อคนราว 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ประกอบกับชาวอังกฤษมีรสนิยมในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าคุณภาพดีและทันสมัย นิยมแต่งกายตามแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับที่ผู้บริโภคในประเทศมักหาซื้อเพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ ทำให้สหราชอาณาจักรมีความต้องการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศต่างๆ เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่ของการนำเข้าเป็นทองคำถึงราวร้อยละ 60  รองลงมาได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน แพลทินัม เงิน และเพชร ตามลำดับ
           
ด้านการค้ากับไทย สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ที่ไม่รวมทองคำ) อันดับ 10 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ เครื่องประดับแท้ทั้งเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 70 อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union: EU) โดยรวมด้วยการเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอันดับ 3 รองจากเยอรมนี และเบลเยียม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไป EU อย่างไรก็ตาม การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปสหราชอาณาจักรในปัจจุบันกลับต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากการถอนตัวออกจากสมาชิก EU ของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ซึ่งได้สร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและกลุ่มยูโรโซน และเป็นประเด็นที่ยังต้องจับตามองในระยะต่อไปถึงนโยบายการค้าและกำแพงภาษีที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย หากการสิ้นสุดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า

หลากปัจจัยลบกระทบส่งออกไปสหราชอาณาจักรช่วง 2 ปีหลัง

สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับที่ 13 ของไทย และมีสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของไทย แต่หากพิจารณามูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริง (มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมด หักด้วยมูลค่าส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป) จะพบว่าสหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 10 ของไทย และมีสัดส่วนร้อยละ 2.7 โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรมากที่สุด คือ เครื่องประดับทอง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 รองลงมา คือ เครื่องประดับเงินร้อยละ 28 พลอยสีประเภททับทิม แซปไฟร์ รวมถึงมรกตร้อยละ 9 และเครื่องประดับเทียมร้อยละ 5 ทั้งนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักร นอกจากจะเป็นการส่งออกจากผู้ประกอบการไทยเองแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการส่งออกจากผู้ผลิตเครื่องประดับสัญชาติอังกฤษที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท Abbeycrest International ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน เป็นต้น 
 

Abbeycrest
 
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป) ไปยังสหราชอาณาจักรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระหว่างปี 2555-2557 โดยมีอัตราขยายตัวร้อยละ 4.4, 9.0 และ 1.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 มูลค่าการส่งออกกลับหดตัวลงร้อยละ 13.8 มาอยู่ที่ 214.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาโลหะมีค่าในตลาดโลกที่ปรับลดลง   ทั้งทองคำ เงิน และแพลทินัม ประกอบกับมีปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทั้งภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่เริ่มชะลอตัวลง โดยมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.2 ลดลงจากร้อยละ 3.1 ในปีก่อน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของยุโรปโดยรวมที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ส่งผลให้ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเครื่องประดับ

ยิ่งไปกว่านั้น มูลค่าส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรในปี 2559 ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยหดตัวลงร้อยละ 12.3 มาอยู่ที่ 187.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำสุดในรอบ 11 ปี สาเหตุสำคัญที่นอกเหนือไปจากภาวะเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรที่ชะลอตัวลงด้วยอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 1.8 จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคแล้ว ยังมีประเด็นผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจาก EU หรือ Brexit ในเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งยิ่งตอกย้ำความกังวลที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจและบั่นทอนการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในประเทศ ผนวกกับค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ตามความกังวลของตลาดเงินที่มีต่อ Brexit จนกระทั่งลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับสูงขึ้น และทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับออกไป

Brexit ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อตลาดสหราชอาณาจักร

จากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังสหราชอาณาจักรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่แผ่วลงไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2560 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป) ของไทยไปสหราชอาณาจักรปรับมามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีอัตราขยายตัวร้อยละ 44.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 40.2 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้ดีดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.6 และมีแรงฉุดขึ้นจากราคาโลหะมีค่าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในระยะต่อไปดูเหมือนว่าจะยังคลุมเครือ เนื่องด้วยต่อจากนี้ไปอีก 2 ปี นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ณ วันที่ 29 มีนาคม 2560 จะเป็นช่วงเวลาที่สหราชอาณาจักรเริ่มต้นกระบวนการเจรจาการลาออกจาก EU จนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการภายในเดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศทั้งสหราชอาณาจักรและ EU ยังคงมีอยู่มาก เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแยกตัวจาก EU ของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการออกที่เด็ดขาดและไม่อยู่ในตลาดร่วมยุโรป (Single Market) หรือที่มองว่าเป็นรูปแบบ Hard Brexit นั้น จะทำให้สหราชอาณาจักรไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าผ่านสิทธิตลาดร่วมยุโรปเทียบเท่าประเทศสมาชิกอื่นของ EU อีกต่อไป และจะกระทบข้อตกลงทางการค้าที่สหราชอาณาจักรเคยทำไว้กับประเทศอื่นรวมถึงไทย ในฐานะประเทศสมาชิก EU อีกด้วย 

ขณะที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของสหราชอาณาจักรและ EU อันจะส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความต้องการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับที่ชะลอตัวลง รวมถึงอาจเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินที่มากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย อีกทั้งยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงผลการเจรจาของ สหราชอาณาจักรต่อ EU ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU ในรูปแบบใด และจะมีการจัดทำความตกลงทางการค้ากับไทยฉบับใหม่หรือไม่ เนื่องจากหลังการแยกตัวจาก EU แล้ว การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปสหราชอาณาจักรอาจต้องเผชิญกับมาตรการทางภาษีและกฎระเบียบการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ผู้ประกอบการที่ใช้สหราชอาณาจักรเป็นฐานการกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศสมาชิกอื่นของ EU อาจมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น เมื่อไม่มีกฎระเบียบของ EU มาช่วยรับรองมาตรฐานแล้ว สินค้าที่ส่งออกจากสหราชอาณาจักรอาจไม่ตรงตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังตลาด EU ทำได้ยากมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในระยะข้างหน้า อาทิ การเตรียมลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรของสกอตแลนด์ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 นโยบายของประเทศสมาชิก EU อื่นภายหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศคนใหม่ในหลายประเทศที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตลอดปี อาทิ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรป ซึ่งอาจจุดประเด็นการแยกตัวออกจาก EU เช่นเดียวกับ สหราชอาณาจักร และยิ่งเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซน ดังนั้น ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่มีสหราชอาณาจักรและ EU เป็นตลาดส่งออกหลัก จึงควรเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และควรติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมไปกับการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการแสวงหาตลาดศักยภาพแห่งใหม่ๆ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที