Ø การปิดเหมืองโมกก เนื่องจากเมียนมามีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลสามารถเจรจาสงบศึกกับบางกลุ่มได้แล้ว หากแต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลเมียนมาจึงทำให้มีการสู้รบกันเรื่อยมา แหล่งข่าวในแวดวงอัญมณีเมียนมาให้ข้อมูลว่า เหมืองอัญมณีบางส่วนตั้งอยู่ในเขตของชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลยังไม่สามารถตกลงสงบศึกได้ รัฐบาลจึงได้ประกาศปิดเหมืองบางแห่งโดยเฉพาะเหมืองโมกกซึ่งอยู่ในรัฐคะฉิ่นตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชาวต่างชาติ โดยจะไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปในเมืองโมกกและเหมืองอัญมณีบางแห่งได้จนกว่ารัฐบาลจะสามารถเจรจากับผู้นำของชนเผ่าต่างๆ สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เจ้าของเหมืองอัญมณีชาวเมียนมายังสามารถดำเนินการขุดอัญมณีได้ต่อไป
ทั้งนี้ การประกาศปิดเหมืองและห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปในเขตดังกล่าวนั้น น่าจะกระทบต่อลูกค้ารายใหม่ที่ไม่มีคอนเนคชั่นหรือไม่รู้จักเจ้าของเหมืองมาก่อน ทำให้เข้าถึงอัญมณีในเมียนมาได้ยาก ส่วนลูกค้าเดิมที่แม้จะไม่สามารถเข้าไปเลือกซื้ออัญมณีถึงหน้าเหมืองได้ แต่การซื้อขายอัญมณีก็น่าจะยังคงทำได้ตามปกติ เพราะลูกค้ารายเก่ามักจะรู้จักพ่อค้าเมียนมาอยู่แล้ว ซึ่งก็สามารถติดต่อให้ส่งพลอยสีออกมาจำหน่ายได้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีข้อห้ามส่งออกพลอยสีจากเหมืองอัญมณีในเมียนมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี การปิดเหมืองในครั้งนี้อาจมีนัยสำคัญบางประการ กล่าวคือ ในอดีตลูกค้าต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่มีเงินทุนหนาสามารถเดินทางเข้าไปซื้ออัญมณีคุณภาพดีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นซึ่งส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดเล็กกลับเข้าถึงอัญมณีคุณภาพดีได้ยาก อีกทั้งการนำสินค้าออกจากเหมืองก็มักจะไม่ผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้องหรือมีการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ที่ด่านศุลกากรเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงถึงราวร้อยละ 50 ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลต้องการควบคุมการเข้าถึงวัตถุดิบอัญมณีของชาวต่างชาติ และใช้โอกาสนี้ในการจัดระเบียบการซื้อขายอัญมณีในประเทศให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและค้าขายในระบบมากขึ้น
Ø การกำหนดขนาดพื้นที่การทำเหมืองอัญมณี ในอดีตเหมืองอัญมณีมักถูกผูกขาดโดยผู้ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล และไม่มีการกำหนดเขตพื้นที่การทำเหมืองอย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหามากมายโดยเฉพาะปริมาณและคุณภาพการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้การสัมปทานเหมืองมีความโปร่งใส ไม่ถูกผูกขาดโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลจึงได้มีการกำหนดขนาดพื้นที่ทำเหมืองอย่างชัดเจนในกฎหมายฉบับล่าสุด โดยบริษัทขนาดเล็กจะได้สิทธิ์ทำเหมืองขนาด 2-3 เอเคอร์ บริษัทขนาดกลางจะมีพื้นที่ทำเหมืองขนาด 5-10 เอเคอร์ และบริษัทขนาดใหญ่จะได้สิทธิ์ทำเหมืองขนาดมากกว่า 10 เอเคอร์ขึ้นไป
Ø การกำหนดมาตรการลดภาษีนำเข้า เพื่อสนับสนุนให้มีอัญมณีไหลเข้าประเทศหลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และสร้างงานให้กับแรงงานเจียระไนพลอย โดยการลดภาษีนำเข้าสำหรับพลอยก้อนทั้งเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน รวมถึงเพชรก้อนจากต่างประเทศเป็นร้อยละ 0 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2560 ส่วนพลอยสีเจียระไนทั้งเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน รวมถึงเพชรที่ผ่านการตัดหรือโกลนจะลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 5 และร้อยละ 3 ตามลำดับ (คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2560) สำหรับการนำเข้าเครื่องประดับแท้ ขณะนี้ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอที่สมาคมอัญมณีและเครื่องประดับแห่งเมียนมาขอให้ปรับลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 ทั้งนี้ ในปี 2559 เมียนมานำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยมีมูลค่าราว 702 ล้านบาท โดยสินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 60 เป็นทองคำ ส่วนสินค้ารองลงมาเป็นเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับทองที่ต่างเติบโตได้หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากภาษีนำเข้าภายใต้กรอบอาเซียนที่เป็นศูนย์มาตั้งแต่ปลายปี 2558 อีกส่วนหนึ่งมาจากความคุ้นเคยในการค้าขายระหว่างกันและสินค้าไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดเมียนมา ทำให้ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปเมียนมาได้สูงขึ้น ฉะนั้น การลดภาษีสินค้าของเมียนมาดังกล่าวไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ไทยเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ไทยอาจมีคู่แข่งในตลาดเมียนมามากขึ้น เพราะการลดภาษีสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะจูงใจให้ผู้ประกอบการจากประเทศอื่นที่เมียนมาไม่ได้มีความตกลงการค้าเสรีด้วย อาทิ ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีวัตถุอัญมณีจำนวนมาก สามารถเข้าไปสู่เมียนมาได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านไทยอีกต่อไป เป็นต้น
Ø การพัฒนาระบบการเงินการธนาคารให้เป็นสากล นับตั้งแต่ปี 2555 เมียนมาได้ดำเนินการปฏิรูปทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีความพยายามในการจัดตั้งธนาคารเฉพาะทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสมาคมอัญมณีและเครื่องประดับเมียนมาได้ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Gems and Minerals Development Bank เมื่อช่วงปลายปี 2559 ซึ่งมีลักษณะเดียวกับ Gems Bank ของไทยที่เคยดำเนินการเมื่อหลายปีก่อน โดยเป็นการร่วมทุนของผู้ประกอบการในสาขาอัญมณี ทองคำ และแร่ธาตุ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการสาขาดังกล่าวในการเข้าถึงเงินทุน โดยให้สามารถนำพลอยเนื้อแข็งมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรออนุมัติใบอนุญาตจัดตั้งธนาคาร
ในส่วนของภาคเอกชน โดยการนำของสมาคมอัญมณีและเครื่องประดับแห่งเมียนมาได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศที่เติบโตสูงขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างการสรรหาความร่วมมือจากนานาประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศไทยในการช่วยเหลือเรื่ององค์ความรู้ในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงต้องการความช่วยเหลือในการวางแนวทางฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเมียนมาให้ดีมากขึ้น
จากมาตรการของภาครัฐดังกล่าวข้างต้นผนึกกับความพยายามในการแสวงหาพันธมิตรในต่างประเทศของภาคเอกชน ถือเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเมียนมา แม้ว่าเป้าหมายระยะแรกจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกำลังซื้อในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นเท่านั้น แต่หากภาครัฐและเอกชนเมียนมาร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งแล้วก็น่าจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมนี้สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยเองก็ควรเร่งพัฒนาตนเอง และแสวงหาโอกาสในการเป็นพันธมิตรทำธุรกิจการค้ากับผู้ประกอบการเมียนมาเพื่อให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของทั้งสองประเทศเติบโตไปพร้อมๆ กัน
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที