Burmese ruby ring from Veerasak Gems Co., Ltd.
Aung Kyaw Zin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SP Gems Co., Ltd. ในเมียนมา สะท้อนถึงความหวังเช่นเดียวกัน “เราคาดว่าตลาดอัญมณีเมียนมาและแวดวงอัญมณีโลกจะได้รับผลกระทบทางบวก คนกว่า 200,000 คนในโมกกพึ่งพาธุรกิจอัญมณีอยู่ และคนเหล่านี้เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้” Aung Kyaw Zin กล่าว
บริษัทของเขาได้รับการสอบถามจากผู้ซื้อในนิวยอร์กและลูกค้าในภูมิภาคเดียวกันที่ทำธุรกิจกับบริษัทในสหรัฐ “เท่าที่ผ่านมาเราสังเกตเห็นว่าความต้องการทับทิมเมียนมาเพิ่มสูงกว่าปกติ” ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีรายนี้กล่าว
ภูเก็ต คุณประภากร ประธานบริษัทผู้ค้าอัญมณีในไทย Gemburi Co Ltd กล่าวว่า มีลูกค้าจากสหรัฐถามถึงทับทิมเมียนมาเช่นกัน บริษัทขนาดใหญ่บางแห่งในสหรัฐนิยมทับทิมขนาดไม่เกิน 2 กะรัตแต่มีคุณภาพสูง เนื่องจากทับทิมขนาด 3 กะรัตขึ้นไปนั้น “หายากมาก หายากกว่าเพชรแล้วด้วยซ้ำ” ภูเก็ตกล่าว
Umesh Khandelwal จากบริษัท Saboo Fine Jewels ในฮ่องกง มองว่า การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลดีต่อแวดวงอัญมณีทั่วโลกเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณการปรับตัวอย่างชัดเจนมาตลอด
เขาเผยว่า ระหว่างที่มีการสั่งห้ามในสหรัฐ Saboo ขายทับทิมให้ตลาดเพียงบางแห่ง เช่น ฮ่องกง จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น หากธุรกิจในสหรัฐกระเตื้องขึ้นก็อาจเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้ธุรกิจการค้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดเอเชียยังคงผันผวนตามความท้าทายทางเศรษฐกิจ
Khandelwal เผยว่า ตลาดสหรัฐกำลังสนใจทับทิมเมียนมาคุณภาพระดับล่างถึงปานกลาง ขนาด 1 ถึง 2 กะรัต “ทับทิมกลุ่มนี้ขายได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภค บริษัทในสหรัฐเน้นอัญมณีเชิงพาณิชย์เนื่องจากต้องการนำไปผลิตเป็นจำนวนมาก” Khandelwal กล่าวต่อ “ถ้ามีความต้องการอัญมณีคุณภาพสูง เราก็สามารถจัดหาให้ได้เช่นกัน” เขาเสริมว่า บริษัทเตรียมพร้อมรับความต้องการทับทิมเมียนมาที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ความหายากของวัตถุดิบ
เนื่องจากมีผู้สอบถามถึงทับทิมเมียนมากันมากขึ้น ภูเก็ตกล่าวว่าเราควรพิจารณาประเด็นที่ว่ามีทับทิมเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ “ผมได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับปริมาณทับทิม ปริมาณทับทิมเมียนมาในตลาดนั้นมีอยู่จำกัด ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณทับทิมก่อนสั่งซื้อ” เขากล่าว
ผู้ค้าและผู้ซื้ออาจต้องการเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อกลับมาติดต่อธุรกิจกันอีกครั้ง รวมถึงวางแผนการซื้อขายและกลยุทธ์ในการจัดหาสินค้าอย่างรัดกุม “เวลาผ่านไปแปดปีนับตั้งแต่มีมาตรการคว่ำบาตรจากทางสหรัฐ และถึงตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าสินค้าคงคลังในตลาดมีไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้กำลังศึกษาสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่บรรยากาศโดยรวมดูจะเป็นไปในเชิงบวก ลูกค้ากำลังพิจารณาตัดสินใจซื้อ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี” ภูเก็ตกล่าวต่อ
นอกจากทับทิมจากเมียนมาจะมีปริมาณจำกัดแล้ว ผู้ค้าอัญมณีก็ยังต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งอาจไม่ดีนักในปี 2017 “ถ้าเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น คนก็จะอยากซื้อสินค้า แต่เรื่องนี้เรายังต้องดูกันต่อไป แต่จากประสบการณ์ของเรา ความต้องการอัญมณีในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด เราจึงยังคงคาดหวังว่าปีนี้จะยังคงมีแนวโน้มในทางที่ดี” เขาเสริม
แม้ในช่วงที่มีการสั่งห้ามจากทางสหรัฐ ราคาทับทิมเมียนมาก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยแรงขับเคลื่อนจากความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นในจีน ภูเก็ตกล่าวว่าราคาทับทิมเม็ดเดี่ยวคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ขณะที่ทับทิมที่ไม่ผ่านความร้อนมีราคาสูงขึ้นห้าเท่า
Khandelwal Sait เจ้าของบริษัท Diastar Jewellery Co., Ltd. กล่าวว่า ทับทิมธรรมชาติจากเมียนมาที่มีคุณภาพสูงและมีขนาด 5 กะรัตขึ้นไปนั้นหายากมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน “ถ้าคุณพบสินค้ากลุ่มนี้ในตลาด ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจมีราคาแพงมาก” เขากล่าว
Sait เน้นย้ำว่า ตลาดอัญมณีโลกกำลังอยู่ในภาวะขาลง ดังนั้นการที่สหรัฐอนุญาตการนำเข้าทับทิมเมียนมาจึงไม่ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมนี้ทันที “ในขณะนี้มีแต่ลูกค้ารายบุคคลที่จะซื้ออัญมณีพิเศษอย่างทับทิมเมียนมาที่ไม่ผ่านความร้อน เนื่องจากทับทิมเมียนมากลุ่มนี้หายากในตลาด ผมจึงมองไม่เห็นผลกระทบต่อธุรกิจของเรา” เขากล่าว “สำหรับเราแล้ว ธุรกิจควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงการส่งคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องและมีสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
ธัญญาจาก Veerasak Gems ยอมรับว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณทับทิมที่ได้จากเหมืองในเมียนมา แต่เน้นย้ำว่าทางบริษัทพร้อมตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐ พร้อมเสริมว่าปัจจุบันบริษัทมีสินค้าคงคลังในกลุ่มทับทิมเมียนมามากเพียงพอ
ตลาดเปิดกว้าง
Niveet Nagpal ประธานของบริษัท Omi Gems Inc. ในแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า “ตลาดเปิดส่งผลดีต่อทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้ทำเหมือง ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงตลาดผู้ซื้อทับทิมขนาดใหญ่ได้โดยตรง ไปจนถึงนักออกแบบและผู้ค้าปลีกในสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงวัตถุดิบใหม่จากแหล่งผลิตได้โดยตรงเช่นเดียวกัน”
“นอกจากนี้เรายังสามารถนำเข้าทับทิมเมียนมาจากผู้ค้าในตลาดรองทั่วโลก โดยรวมแล้วมองว่าทุกคนได้รับประโยชน์” Nagpal กล่าว “ธุรกิจอัญมณีสหรัฐยินดีอย่างยิ่งและรู้สึกโล่งใจที่การแบนครั้งนี้ถูกยกเลิก ภาคการค้าสหรัฐต่อต้านการแบนนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่ความไม่จริงใจจากการพุ่งเป้าไปยังทับทิมและหยกขณะที่ยังปล่อยให้น้ำมันเข้ามาได้ ไปจนถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ทำเหมืองรายย่อยแทนที่จะเป็นผู้ปกครองประเทศ”
Omi Gems มีสินค้าทับทิมเมียนมาครบทุกขนาดและทุกระดับคุณภาพ โดยทับทิมขนาด 3 กะรัตขึ้นไปจะหายากกว่า เนื่องจากทับทิมเมียนมามีปริมาณจำกัด จึงคาดกันว่าระดับราคาจะยังคงสูงอยู่ “ผมเชื่อว่าในระยะยาวราคาทับทิมเมียนมาจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วัตถุดิบคุณภาพดีที่อยู่ในตลาดหรือที่ขุดขึ้นมานั้นมีปริมาณไม่มากนัก จนถึงตอนนี้ราคาก็เพิ่มขึ้นมาบ้างแล้ว ดังนั้นผมจึงมองว่าราคาจะคงตัวในระยะสั้นและจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว” Nagpal กล่าว
Ron Rahmanan จาก Sara Gem Corporation ในนิวยอร์กก็ชื่นชมการยกเลิกการห้ามนำเข้าครั้งนี้ โดยกล่าวว่า “ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมของเราในหลายระดับ ตั้งแต่ผู้ค้าและผู้ผลิตในสหรัฐซึ่งสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณและตัวเลือกสินค้าให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น”
“ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นธุรกิจให้ผู้จัดหาทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะไทยเป็นแหล่งที่ทับทิมจะถูกส่งมารับการปรับปรุงด้วยความร้อน ตัดแต่ง และเจียระไน ซึ่งเป็นการสร้างงานเพิ่มขึ้นให้คนในพื้นที่ จากนั้นผู้จัดหาก็ต้องกลับไปเมียนมาเพื่อซื้อพลอยก้อนเพิ่ม ซึ่งจะช่วยนำธุรกิจกลับไปยังคนท้องถิ่นในโมกกและมองซู ซึ่งประสบปัญหาจากยอดการค้าที่ต่ำในระหว่างการสั่งห้าม แต่ในตอนนี้กำลังตื่นเต้นและมีความหวังกับอนาคต” Rahmanan กล่าว
ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าเมื่อการสั่งห้ามถูกยกเลิกแล้วจะส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้าหรือไม่ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีรายนี้กล่าวว่า “ยังไม่เห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นทันที”
“อย่างไรก็ตาม เราสามารถเสนอทางเลือกมากขึ้น รวมถึงสามารถหาอัญมณีให้ลูกค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ผมคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะวัดผลกระทบเพราะผู้ค้าหลายรายรวมถึงบริษัทของเรายังไม่ได้เดินทางไปซื้อสินค้านับตั้งแต่มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร [สัมภาษณ์ในเดือนตุลาคม 2016]” เขากล่าวต่อ
“เมื่อเราเริ่มซื้อสินค้าอีกครั้งและนำสินค้ากลับมา เราจะสามารถให้ลูกค้าดูสินค้าคงคลังใหม่และนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ผมแน่ใจว่าแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มความต้องการได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือลูกค้าอาจตกใจเมื่อได้เห็นราคาทับทิมเมียนมา เพราะราคาเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่เริ่มมีการสั่งห้าม” Rahmanan กล่าว
ธุรกิจทับทิม
ทับทิมจากแหล่งทางเลือกอื่นๆ เช่น โมซัมบิกและมาดากัสการ์ ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และส่งผลเปลี่ยนแปลงธุรกิจทับทิมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทับทิมโมซัมบิกนั้นค่อยๆ สร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะขึ้นมาในตลาดพลอยสี และเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นทางเลือกที่ใช้การได้และในหลายๆ ครั้งก็งดงามไม่แพ้ทับทิมเมียนมา
ภูเก็ตเผยว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงซื้อทับทิมจากโมซัมบิก แม้เมื่อยกเลิกการห้ามนำเข้าแล้ว “ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ยังไม่มีแหล่งทับทิมคุณภาพสูงแหล่งอื่นๆ จนกระทั่งทับทิมชนิดใหม่จากโมซัมบิกปรากฏขึ้นมาในตลาด ผู้ซื้อสหรัฐจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปซื้อทับทิมโมซัมบิก แม้ว่าทับทิมจากเมียนมาก็ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในตลาด” เขาระบุ
ตามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีของไทย มีทับทิมโมซัมบิกเป็นปริมาณมากในตลาด ตั้งแต่เกรดเชิงพาณิชย์ไปจนถึงทับทิมคุณภาพสูงซึ่งเทียบได้กับทับทิมเมียนมา “ทั้งทับทิมโมซัมบิกและทับทิมเมียนมามีตลาดที่มั่นคงอยู่แล้ว เราไม่เห็นว่าความต้องการทับทิมโมซัมบิกจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทับทิมโมซัมบิกที่ไม่ผ่านความร้อนก็ยังคงแพร่หลายในตลาด แตกต่างจากทับทิมเมียนมาคุณภาพเดียวกัน” เขาระบุ
Sait จาก Diastar Jewellery เห็นด้วยกับภูเก็ต พร้อมเสริมว่าทับทิมโมซัมบิกและทับทิมเมียนมานั้นดึงดูดลูกค้าต่างกลุ่มกัน บริษัทแห่งนี้จัดหาทับทิมไปยังจีนและไทย
Sait กล่าวว่า แบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่ยังคงนิยมทับทิมเมียนมา แต่ก็มีทับทิมคุณภาพดีที่ใสสะอาดจากโมซัมบิกซึ่งราคาเป็นมิตรกว่า จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ซื้อ “ถ้าให้เลือกระหว่างทับทิมเมียนมาที่ผ่านความร้อนกับทับทิมโมซัมบิกที่ไม่ผ่านความร้อน ผมขอเลือกอย่างหลังดีกว่าเพราะเป็นอัญมณีธรรมชาติ ในเวลานี้อัญมณีจากทั้งสองแหล่งต่างก็ขายได้ โดยมีตลาดจีนช่วยผลักดันการเติบโต” เขาเสริม
Sanjay Kumar Jain กรรมการบริษัท Poonam Gems Co., Ltd. ของไทย กล่าวว่า ลูกค้าของเขาเริ่มคุ้นเคยกับทับทิมโมซัมบิกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยลูกค้าจากฮ่องกงและจีนช่วยขับเคลื่อนความต้องการในส่วนนี้
“ผมไม่ได้ขายสินค้าให้ผู้บริโภคสหรัฐ แต่ผมรู้ดีว่าผู้ซื้ออเมริกันสั่งซื้อสินค้ากันเต็มไปหมดเมื่อทับทิมเมียนมาสามารถส่งออกไปยังสหรัฐได้แล้ว ปี 2017 นี้เราคาดว่าจีนและสหรัฐจะช่วยผลักดันการเติบโตในธุรกิจเครื่องประดับพลอยสี” Jain กล่าวต่อ
Burmese rubies ring from Omi Prive
ผู้ซื้อทับทิมมักถามหาทับทิมเมียนมาก่อน เนื่องจากทับทิมกลุ่มนี้ยังคงได้รับความสำคัญสูงสุดในหมู่นักสะสม Nagpal จาก Omi Gems กล่าว “ตอนที่สินค้าขาดแคลนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราได้ขายทับทิมจากโมซัมบิก มาดากัสการ์ และไทย เราสามารถหาทับทิมคุณภาพดีจากแหล่งเหล่านี้ได้ แต่เราก็ยินดีถ้าสามารถเข้าถึงทับทิมเมียนมาได้มากขึ้น” เขากล่าว
Rahmanan จาก Sara Gem กล่าวว่า ทับทิมที่ไม่ได้มาจากเมียนมาได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การผลิตที่เพิ่มขึ้นและการตั้งราคาที่สมเหตุสมผลช่วยให้อัญมณีเหล่านี้ได้รับความนิยมในหมู่นักออกแบบและผู้ผลิต “ผมคิดว่าแนวโน้มนี้จะยังคงเติบโตแม้ว่ามีการนำเข้าทับทิมเมียนมาแล้วก็ตาม” เขากล่าว
ทับทิมโมซัมบิก
Ian Harebottle ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Gemfields มองว่าการยกเลิกคำสั่งห้ามเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเนื่องจากจะช่วย “ส่งเสริมความโปร่งใสภายในภาคอุตสาหกรรมนี้และน่าจะช่วยให้อัญมณีกลุ่มนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในตลาดสหรัฐ”
“อันที่จริง Gemfields ภูมิใจที่ได้มีบทบาทในการยกเลิกคำสั่งห้าม โดยทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมนี้ เช่น สมาคม American Gem Trade Association และสมาคม International Coloured Gemstone Association เพื่อให้บรรลุสิ่งซึ่งเราเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง” Harebottle กล่าว
“เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดสหรัฐชอบทับทิมกันมานานแล้ว เมื่อไม่นานมานี้เราได้ศึกษาความนิยมพลอยสีภายในตลาดสหรัฐอย่างกว้างขวาง และพบว่าคำที่สัมพันธ์กับทับทิมมากที่สุด ได้แก่ งดงาม (ร้อยละ 50) อมตะ (ร้อยละ 42) และคลาสสิก (ร้อยละ 40) ในหมู่ผู้บริโภคซึ่งมีเครื่องประดับทับทิมอยู่แล้ว มีร้อยละ 43 ที่ใส่เป็นประจำทุกวัน เรามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นตลาดสำคัญที่คอยติดตามอย่างเหนียวแน่นและมีศักยภาพในการเติบโตสูง”
ทับทิมถือเป็นหนึ่งในอัญมณีที่หายากและมีค่ามากที่สุด “แน่นอนว่าหายากกว่าเพชรหลายเท่า” เขากล่าวต่อ “ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทับทิมกลายเป็นทางเลือกซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภควงกว้างด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่การมีศักยภาพในการลงทุนสูง ไปจนถึงความสามารถพิเศษในการนำเสนอสไตล์เฉพาะตัว บุคลิก และความมีรสนิยมของผู้บริโภคแต่ละคน เป็นแนวโน้มที่เราเชื่อว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกนาน” Harebottle กล่าว
เขาเสริมว่าแม้มีโอกาสอยู่บ้างที่การยกเลิกการห้ามนำเข้าอาจส่งผลกระทบระยะสั้นต่อการตั้งราคา แต่ก็เป็นไปได้มากกว่าว่าการที่มีสินค้าเข้ามาอย่างลื่นไหลต่อเนื่อง บวกกับการค้นพบแหล่งทับทิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อไม่นานมานี้ที่เหมือง MRM ของ Gemfields ในโมซัมบิก ตลอดจนการเติบโตในแง่การจัดจำหน่าย การสื่อสาร และการตลาดทับทิมทั่วโลก จะช่วยผลักดันความต้องการและระดับราคาให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ก่อนหน้านี้ ด้วยความที่ทับทิมเป็นอัญมณีที่หายากมาก บวกกับมีปริมาณสินค้าที่ขึ้นลงไม่แน่นอน จึงเป็นการจำกัดความสามารถของธุรกิจปลายน้ำที่จะออกแบบ จัดจำหน่าย และส่งเสริมการขายชิ้นงานทับทิม อย่างไรก็ดี ด้วยคุณภาพและปริมาณที่ได้มาจากแหล่งทับทิมในโมซัมบิก ร่วมกับการที่ทับทิมจากเมียนมาเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้จึงเริ่มเล็งเห็นความนิยมที่ฟื้นคืนมาอีกครั้ง ความต้องการของผู้บริโภคได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้นอีกจากโครงการของ Gemfields ที่มุ่งเป้าหมายด้านการสื่อสาร การตลาด และการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก” Harebottle ระบุ
ความงามแบบเมียนมา
Aung Kyaw Zin จาก SP Gems มองว่า แม้มีความท้าทายจากปริมาณทับทิมเมียนมาที่ไม่เพียงพอในตลาด ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ก็ควรหาทางปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก
“มีตลาดสำหรับทับทิมเมียนมาอยู่เสมอไม่ว่ามันจะหายากแค่ไหนก็ตาม ผู้ซื้อที่ใส่ใจจะยังคงมองหาทับทิมเมียนมาเพราะต้องการความงดงามและคุณค่าของมัน” เขากล่าว
ขณะเดียวกัน Khandelwal จาก Saboo Fine Jewels เผยว่า ผู้บริโภคกลุ่มดั้งเดิมบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน ก็ยังคงเน้นให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอัญมณี
“ลูกค้าชาวจีนจำนวนหนึ่งอาจยอมลดคุณภาพของอัญมณีลงมาตราบใดที่เป็นทับทิมเมียนมา เช่นเดียวกันกับในตลาดไต้หวัน มีตลาดใหญ่ที่ยังคงไม่เปิดรับทับทิมโมซัมบิกในเวลานี้ และทับทิมเมียนมาก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดอยู่” เขากล่าว
ธัญญาจาก Veerasak Gems กล่าวว่า เท่าที่เธอเห็น ตลาดมีความเข้าใจและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยผู้ซื้อจำนวนมากหันมายอมรับทับทิมโมซัมบิก เธอเสริมว่า แม้ทับทิมจากโมซัมบิกจะเข้ามาช่วยเพิ่มความหลากหลายในตลาด แต่เสน่ห์ความงดงามของทับทิมเมียนมาก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้
“ทับทิมเมียนมาเป็นความงามที่หาได้ยากและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มและมอบอภิสิทธิ์ให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ” ธัญญาอธิบาย
------------------------------------------
ที่มา: “Lifting of US ban on Burmese rubies injects optimism into gemstone trade.” by Bernardette Sto. Domingo and Marie Feliciano. JNA. (January 2017: pp. 21-25).
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที