GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 06 ก.พ. 2017 13.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1581 ครั้ง

ติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


โอกาสของเครื่องประดับไทยภายหลังสหรัฐฯ ยกเลิก TPP


ที่มา: www.econnews.co.th

ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการจับตามองของประชาคมโลกเกี่ยวกับนโยบายในการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ได้มีการลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) ประกาศให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic economic Partnership Agreement) หรือ TPP ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 12 ประเทศ ภายใต้ความร่วมมือในการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง มีการลดภาษีศุลกากรและบังคับใช้มาตรฐานด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อมและกฎหมายปกป้องสิทธิบัตรร่วมกัน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่า TPP ส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ ในส่วนของภาคการผลิตในประเทศ และการจ้างงาน ดังนั้น การถอนตัวจาก TPP จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย American First ผลักดันให้มีการสร้างงานแก่คนอเมริกัน อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีรากฐานในการเติบโตได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

การประกาศยกเลิก TPP ของสหรัฐฯ สร้างความกังวลใจให้แก่นานาประเทศที่เป็นสมาชิกของ TPP อาทิ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ รวมถึงให้คำมั่นในการพยายามฟื้นคืนข้อตกลง TPP ขึ้นมาใหม่ โดยพยายามโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจนี้อีกครั้ง หากยังคงยืนยันเช่นเดิม บรรดาชาติพันธมิตรก็จะหาทางเดินหน้า TPP ต่อไป และอาจดึงจีนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนรายใหม่แทนที่สหรัฐฯ ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยแล้ว การยกเลิก TPP ย่อมไม่เกิดผลกระทบในทางลบแต่อย่างใด เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของ TPP และไทยอาจได้รับผลดีด้านการไม่เสียเปรียบทางการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกเดิมของ TPP ซึ่งได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
 
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบาย American First จนสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดี ย่อมส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของประชากร อันนำไปสู่ความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยสำหรับสินค้าประเภทนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก เนื่องจากแหล่งผลิตในประเทศมีน้อย และมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง โดยในปัจจุบันถือได้ว่าไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกอยู่ราว 1,259 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 สินค้าประเภทเครื่องประดับแท้ (พิกัดศุลกากร 7113) สามารถส่งออกได้มากที่สุด มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 932.75 ล้านเหรียฐสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 74.08 ของการส่งออกทั้งหมด รวมถึงสินค้าขั้นกลางอย่างพลอยสีเจียระไน (พิกัดศุลกากร 7103) ก็มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 160.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นแหล่งนำเข้าทับทิมและแซปไฟร์ที่สำคัญสุดของสหรัฐฯ
 
ดังนั้น การยกเลิก TPP จึงมีผลทำให้ไทยในฐานะผู้ส่งออกมีโอกาสเท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้นโดยหากไทยสามารถรักษามาตรฐานและระดับราคาของสินค้าให้คงที่ไว้ได้ ย่อมเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทนี้ไปยังตลาดสหรัฐฯ
 
ข้อมูลอ้างอิง:      
1. สหรัฐเลิก! “TPP” ใครได้ใครเสีย, ฐานเศรษฐกิจ (24 มกราคม) 
2. 'พาณิชย์' ชี้ ทรัมป์ยกเลิก TPP ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย, ไทยรัฐ (24 มกราคม)
3. ""ทรัมป์" ล้างกฎหมายโอบามา ถอน TPP - เลิก "โอบามาแคร์"", เดอะ เนชั่น (23 มกราคม)

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที