GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 31 ม.ค. 2017 07.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2444 ครั้ง

กระทรวงการเงิน สปป. ลาวได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตราร้อยละ 10 สำหรับสินค้าที่มีการหิ้วผ่านแดนหรือนำติดตัวของผู้โดยสารที่ผ่านเข้าชายแดน ลงนามโดยท่านสันติ ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/WM3TtW หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ลาวเก็บ VAT 10% กระทบตลาดเครื่องประดับภาคอีสาน

 
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป. ลาวเป็นอีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยและค้าขายกับไทยมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งการค้าชายแดนมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคอีสานของไทยให้เติบโตได้อย่างมาก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนไทยและสปป.ลาวมีมูลค่าเฉลี่ยเกือบ 140,000 ล้านบาท และสปป.ลาวเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกับไทย (มาเลเซีย เมียนมา ลาว และกัมพูชา) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญผ่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าปศุสัตว์ ในส่วนของอัญมณีและเครื่องประดับนั้นส่วนใหญ่เป็นการซื้อใส่ติดตัวกลับออกไป จึงไม่ปรากฏมูลค่าซื้อขายที่แน่นอน
 
ชาวลาวกำลังซื้อสูง นิยมซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 
 
นับตั้งแต่สปป.ลาว เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ประกอบกับรัฐบาลเร่งเดินหน้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.50 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชากรมีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนไทยที่จังหวัดหนองคาย รวมถึงชาวลาวในเมืองปากเซและเมืองใกล้เคียง ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี นิยมขับรถเดินทางข้ามมาฝั่งไทยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อท่องเที่ยว และจับจ่ายซื้อสินค้าในจังหวัดเมืองหน้าด่านของไทยอย่างหนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี
 
ในการซื้อสินค้านั้น ชาวลาวฐานะดียินดีพร้อมจ่ายซื้อสินค้าคุณภาพดี ทันสมัย และนิยมซื้อสินค้าที่แสดงถึงสถานะทางสังคมและภาพลักษณ์ที่ดีเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า เครื่องสำอางและเครื่องประดับ เป็นต้น ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนพฤติกรรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดีก็คือ ยอดขายรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 37 และอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงว่าชาวลาวมีกำลังซื้อสูงและนิยมสินค้าหรู เช่น ผลประกอบการของบริษัท ดับบลิว ซี จี ไดมอนด์ จำกัดของไทยที่ได้ร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น (ร้านคำสีหอม มีสุก) จำหน่ายเครื่องประดับเพชรใน สปป. ลาว ด้วยอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 10 ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2559 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
 
ลาวประกาศเก็บ VAT 10% สินค้าผ่านชายแดน
 
กระทรวงการเงิน สปป. ลาวได้ออกข้อกำหนดว่าด้วยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตราร้อยละ 10 สำหรับสินค้าที่มีการหิ้วผ่านแดนหรือนำติดตัวของผู้โดยสารที่ผ่านเข้าชายแดน ลงนามโดยท่านสันติ ดวงดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา โดยบังคับใช้กับพลเมืองลาว คนต่างด้าว และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ใน สปป. ลาว ที่เดินทางเข้า สปป. ลาวผ่านด่านชายแดน และสนามบินนานาชาติ ซึ่งน่าจะมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเก็บภาษีเข้ารัฐให้ได้มากขึ้น รวมถึงให้ชาว สปป.ลาวซื้อสินค้าในประเทศมากขึ้น โดยข้อกำหนดการเก็บ VAT ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
1) ผู้โดยสารที่เดินทางเข้า สปป. ลาวไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน และมิได้ซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่าย โดยของเหล่านั้นมีมูลค่าไม่เกิน 50 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,500 บาท) จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสีย VAT
2) ผู้โดยสารที่เดินทางเข้า สปป. ลาว เกิน 2 ครั้งต่อเดือนจะไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ โดยจะต้องเสีย VAT ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้านำเข้าตามจริง
3) หากผู้โดยสารไม่มีใบเสร็จรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงินไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรมีสิทธิประเมินมูลค่าของดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม
4) การคำนวณ VAT ให้นำมูลค่าสินค้าไม่รวม VAT ของประเทศต้นทางคูณกับอัตราเรียกเก็บที่ร้อยละ 10
 
ผลกระทบสินค้าเครื่องประดับไทยหลังลาวเก็บ VAT 
 
สปป. ลาวประกาศเริ่มเก็บ VAT ร้อยละ 10 เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา แต่ในทางปฏิบัติแล้วได้เริ่มเก็บ VAT อย่างจริงจังเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 โดยเริ่มทดลองกับด่านศุลกากรเวียงจันทน์-หนองคายเพียงแห่งเดียว ซึ่งทำให้ชาวลาวไม่กล้าเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในฝั่งไทยเนื่องจากเกรงว่าจะต้องเสียภาษี ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวลาวลดลงมาก จากข้อมูลสถิติของด่านศุลกากรหนองคายพบว่า จำนวนชาวลาวที่เข้ามาฝั่งไทยในเดือนมกราคม 2560 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ลดลงมากถึงร้อยละ 70 ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อบรรยากาศการค้าชายแดนรวมถึงในจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานีให้ซบเซาลงอย่างมาก
 
ทั้งนี้ เนื่องจากข้อกำหนดการเก็บ VAT ของ สปป. ลาวเพิ่งประกาศใช้ยังไม่นาน ประกอบกับทางการลาวยังอยู่ในช่วงเก็บภาษีอย่างอะลุ่มอล่วย ส่วนใหญ่เป็นการสุ่มตรวจ จึงยังไม่อาจเห็นผลกระทบต่อตลาดเครื่องประดับไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ได้ให้ข้อมูลว่า “บรรยากาศการค้าชายแดนไทย-ลาวสะดุดและซบเซาลงนับตั้งแต่ทางการลาวประกาศเก็บ VAT ทำให้จำนวนชาวลาวที่เดินทางเข้ามาฝั่งไทยลดลงเกือบร้อยละ 70 และผู้ขับรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลงกว่าร้อยละ 50 ส่วนยอดขายในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และอุดรธานีน่าจะลดลงกว่าร้อยละ 30 ในส่วนยอดขายเครื่องประดับก็คงจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาฝั่งไทยน้อยลง ซึ่งโดยปกติแล้วร้อยละ 15-20 ของจำนวนชาวลาวที่เข้ามาท่องเที่ยวฝั่งไทยจะซื้อเครื่องประดับกลับไป”
 
อีกหนึ่งความเห็นของคุณสุมาวดี สินธวัชต์ หุ้นส่วนในห้างเพชรทองอรนุชตราดาว ร้านเครื่องประดับเพชรที่ได้รับความนิยมทั้งจากชาวลาวและชาวอุดรธานี กล่าวว่า “ภาพรวมยอดขายของร้านลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยลูกค้าลาวที่ลดจำนวนลงนั้น คาดว่าชาวลาวมีทางเลือกมากขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการไทยได้นำเครื่องประดับเข้าไปจำหน่ายในตลาดลาวโดยตรง ทำให้ชาวลาวไม่จำเป็นต้องเดินทางมาซื้อเครื่องประดับในไทย ส่วนทางการลาวเก็บ VAT สินค้าผ่านแดนนั้น ที่ผ่านมายังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าใส่ติดตัวกลับออกไป ซึ่งปัจจุบันทางการลาวยังไม่มีการตรวจสินค้าที่ใส่ติดตัว ส่วนลูกค้าชาวไทยก็ลดจำนวนลงมาอย่างต่อเนื่อง อาจเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา”
 
เนื่องจากที่ผ่านมาทางการลาวได้มีความพยายามใช้กฎหมายหลายฉบับในการเก็บภาษีสินค้าผ่านแดน ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการบังคับใช้ประกาศจัดเก็บ VAT กับสินค้าผ่านชายแดนอย่างจริงจังในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อยอดค้าเครื่องประดับในภาคอีสานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาพ่อค้าชาวลาวจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ามาซื้อทองรูปพรรณจากจังหวัดหนองคาย และอุดรธานี เพื่อนำไปจำหน่ายในสปป. ลาว ส่วนลูกค้าชาวลาวฐานะดีจำนวนหนึ่งมักเดินทางมาท่องเที่ยวและซื้อเครื่องประดับเพชรในห้างสรรพสินค้าและย่านการค้าในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ทำรายได้ให้กับภาคอีสานปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกลุ่มคนที่เคยซื้อเครื่องประดับเพื่อไปจำหน่ายหรือสวมใส่ติดตัวก็คงจะลดการซื้อสินค้าจากไทยลง เพราะสินค้าที่ซื้อข้ามแดนไปจากไทยจะมีราคาสูงกว่าในประเทศตนเอง โดยปกติการซื้อเครื่องประดับในลาวจะเสีย VAT ร้อยละ 10 ในขณะที่การซื้อสินค้าในฝั่งไทยนอกจากจะได้สินค้าสวยงาม ดีไซน์ทันสมัยแล้วยังเสีย VAT เพียงร้อยละ 7 ซึ่งถูกกว่าซื้อในลาว จึงทำให้ชาวลาวฐานะดีที่อยู่ติดชายแดนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมเดินทางมาซื้อเครื่องประดับไทยกลับไป แต่ถ้าทางการลาวเก็บ VAT สินค้าผ่านแดนอย่างจริงจังจะทำให้ชาวลาวที่ซื้อสินค้าจากไทยและหิ้วผ่านชายแดนต้องจ่ายเพิ่ม VAT อีกร้อยละ 10 บวกกับค่ารถค่าน้ำมันที่เดินทางเข้ามาไทยแล้วก็ยิ่งทำให้ราคาสินค้าจากไทยมีราคาแพงมากขึ้น ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าที่จะเดินทางมาซื้อสินค้าเครื่องประดับในไทย จึงมีความเป็นไปได้ว่าชาวลาวจะหันกลับไปซื้อสินค้าที่จำหน่ายในประเทศตนเองมากขึ้นได้
 
นอกจากนโยบายการเก็บ VAT ของสปป. ลาวที่จะต้องติดตามในระยะยาวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้ยอดค้าเครื่องประดับไทยในภาคอีสานลดลงได้ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งในตลาดลาวและตลาดไทยเอง หรือกำลังซื้อที่ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องติดตามปัจจัยรอบด้าน และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็น่าจะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ต่อไป
 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที