เตรียมรับผลพวงจาก Brexit
นับเป็นเวลากว่าหกเดือนแล้วตั้งแต่อังกฤษได้ตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ว่าจะออกจากสหภาพยุโรป Ruth Falkner จะมาพิจารณาถึงผลกระทบเบื้องต้นจากการลงประชามติครั้งนี้ รวมทั้งนำเสนอผลการสำรวจเรื่อง Brexit โดยนิตยสาร Retail Jeweller
คนทุกรุ่นล้วนมีวันสำคัญอย่างน้อยหนึ่งวันซึ่งทุกคนต่างจำได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนตอนได้ยินข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวการลงจอดบนดวงจันทร์ ข่าวการสังหารประธานาธิบดี Kennedy หรือข่าวเหตุการณ์ 9/11 และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในสหราช-อาณาจักร เราคงอยากเพิ่มวันที่ 24 มิถุนายน 2016 เข้าไปอีกวันหนึ่ง วันที่คนทั้งชาติตื่นขึ้นมาพบว่าประเทศนี้ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป
เวลาผ่านไปนานหลายเดือน แม้ว่ากิจกรรมในชีวิตประจำวันดูคล้ายกับว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันทีคือตลาดต่างๆ ได้ตอบสนองต่อข่าวดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี และดัชนี FTSE 100 ร่วงลงมากถึงร้อยละ 8.7 เมื่อตลาดเปิดทำการในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา
ส่วนราคาทองนั้นตามหลังผลการออกเสียงมาติดๆ โดยขึ้นไปแตะระดับ 1,002.91 ปอนด์ต่อออนซ์เมื่อเวลา 4.30 น. ในช่วงเช้าของวันที่มีข่าวออกมา เพิ่มขึ้นจาก 842.79 ต่อออนซ์เมื่อเวลา 23.45 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน 2016 อย่างไรก็ดี ความตื่นตระหนกในช่วงแรกเริ่มสงบลง และภาวะเศรษฐกิจก็ดูมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว จนนำไปสู่คำถามที่ว่าความกังวลในช่วงแรกนั้นเป็นการตอบสนองเกินกว่าเหตุหรือไม่
ในงานประชุม UK Jewellery Conference ของ Company of Master Jewellers (CMJ) เมื่อไม่นานมานี้ Rhys Herbert นักเศรษฐศาสตร์ของ Lloyds Banking Group กล่าวว่า ในระยะสั้นนั้น ความเสี่ยงจากการลงมติ Brexit ต่อเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดกันในตอนแรก เขาเสริมด้วยว่า การเติบโตของสหราชอาณาจักรอาจเริ่มปรับสมดุลได้แล้วด้วยซ้ำ ตั้งแต่ภาคการใช้จ่ายของผู้บริโภคไปจนถึงการส่งออก
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีนัยสำคัญคือนายกรัฐมนตรี David Cameron ผู้ให้โอกาสชาวอังกฤษได้ตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งในวันหลังจากวันลงประชามติ และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา สหราช-อาณาจักรก็ได้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่
Theresa May มีจุดยืนชัดเจนว่า “Brexit ก็คือ Brexit” และในการกล่าวต่อที่ประชุมพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อไม่นานมานี้ เธอก็ได้ประกาศว่าจะดำเนินการตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรปภายในปลายเดือนมีนาคม 2017 อันเป็นการเริ่มต้นกระบวนการซึ่งใช้เวลานานสองปีเพื่อนำอังกฤษออกจากยุโรปอย่างเป็นทางการภายในต้นปี 2019
เธอยังได้เผยว่าจะยึดมั่นในหลักการอย่างเคร่งครัดในการเจรจาเกี่ยวกับ Brexit อันเกี่ยวข้องกับการแยกตัวออกจากยุโรปทั้งในแง่แรงงาน ผลิตภัณฑ์ และตลาดการเงิน หลายคนมองว่าแก่นสำคัญของข้อตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นควรเน้นการเข้าถึงตลาดเดี่ยวของยุโรปให้ได้มากที่สุด
ผู้สนับสนุน Brexit ยืนยันว่า เมื่อออกจากยุโรปแล้ว อังกฤษจะยังคงสามารถเจรจาต่อรองให้มีการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่ต่ำหรือไม่เก็บเลยสำหรับการค้าภายใน EU อย่างไรก็ดี มีหลายเรื่องที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าเรื่องภาษี เมื่อไม่มีกฎระเบียบของ EU มาช่วยรับรองความปลอดภัยแล้ว บริษัทอังกฤษอาจพบว่าสินค้าของตนไม่ตรงตามข้อกำหนดของยุโรป และแม้ว่าการคาดการณ์ถึงสภาวะเศรษฐกิจอันเลวร้ายในตอนแรกอาจเกินจริงไปบ้าง แต่อนาคตของเศรษฐกิจอังกฤษในระยะกลางถึงระยะยาวก็ยังดูคลุมเครืออย่างเห็นได้ชัด
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์ตกลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี เป็นการดิ่งลงในช่วงเวลาหนึ่งวันมากที่สุดนับตั้งแต่มีการลงประชามติ ขณะที่ราคาทองคำลดลงเกือบร้อยละ 5 ในสัปดาห์เดียวกันไปอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบสี่เดือน (เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2016) เนื่องจากคาดการณ์กันว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนของเครื่องประดับนั้น เกิดคำถามขึ้นมาว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลต่อผู้ผลิตเครื่องประดับอังกฤษอย่างไรในแง่การจัดหาวัตถุดิบมีค่า แม้ว่าบางส่วนอาจได้รับประโยชน์ในแง่การส่งออกจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนตัวลง แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากค่าเงินก็จะถูกหักลบด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในการจัดซื้อโลหะมีค่าด้วยเงินปอนด์สเตอร์ลิง
เช่นเดียวกันธุรกิจค้าปลีกซึ่งเป็นมาตรวัดเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง ก็น่าจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดธุรกิจหนึ่ง หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลงและส่งผลต่อการใช้จ่าย The British Retail Consortium (BRC) ระบุในรายงานล่าสุด Which Way Out? A Fair Brexit for Consumers ว่า “ระดับการใช้จ่ายและราคาสินค้าตามร้านได้รับผลกระทบอย่างสังเกตเห็นได้นับตั้งแต่มีการลงประชามติ”
จากรายงานดังกล่าว ยอดขายมีการเติบโตช้าในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่ผ่านมา ทว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเป็นผลจากการลงประชามติมากน้อยเพียงใดนั้นก็ยังไม่กระจ่างชัด ในขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกบางรายอาจต้องพบว่าการสั่งซื้อสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในตอนนี้หรือในอนาคตอันใกล้ เมื่อผู้ค้าปลีกเจรจาสัญญาใหม่กับผู้จัดหาสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นผลจากการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์
ข้อมูลในธุรกิจการนำเข้าแสดงให้เห็นว่ากิจการในสหราชอาณาจักรจะต้องเผชิญกับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งเครื่องประดับก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เมื่อผู้ค้าปลีกและผู้จัดหานำเอาสินค้าคงคลังที่ซื้อหลังช่วงประชามติออกมาจำหน่าย จากนั้นก็จะขึ้นอยู่กับผู้จัดหาว่าจะผลักดันต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ให้เป็นภาระของลูกค้าในธุรกิจค้าปลีกมากน้อยเพียงใด แล้วหลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ค้าปลีกกลุ่มดังกล่าวว่าจะผลักภาระต่อไปยังผู้บริโภคปลายทางมากน้อยเพียงใดด้วย
การตัดสินใจผลักภาระต้นทุนดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กิจการขนาดใหญ่ในประเทศ รวมถึง John Lewis และ Next ได้ออกมาเตือนแล้วว่า การตัดสินใจเรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่หนึ่ง ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในด้านอสังหาริมทรัพย์และแรงงานก็ได้สร้างแรงกดดันให้หลายส่วนในภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว และแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนก็ยิ่งเพิ่มความจำเป็นที่จะต้องผลักภาระต้นทุนให้มากขึ้นอีก ในอีกแง่หนึ่งนั้น การแข่งขันยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และผู้ค้าปลีกหลายรายอาจรับภาระต้นทุนส่วนใหญ่เอาไว้กับส่วนต่างกำไรที่ถูกบีบอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อรักษาตำแหน่งในตลาด
BRC ได้ระบุไว้ในรายงานดังกล่าวว่า “โดยรวมแล้วเราคาดว่าจะมีการส่งต่อภาระต้นทุนไปยังราคาสินค้าตามร้าน โดยอาจเน้นหนักในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 แม้ว่าอัตราการเพิ่มราคาอาจไม่หวือหวามากเท่าที่ประเมินได้จากความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน”
BRC ยังคงผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการเจรจาด้าน Brexit ให้เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจค้าปลีก ถึงขั้นที่ว่า Richard Baker ประธานของ BRC ได้เขียนหนังสือถึง Liam Fox รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศให้ “ดำเนินการอย่างไร้ข้อโต้แย้งเพื่อกลยุทธ์ที่เน้นผู้บริโภคเป็นสำคัญ” ในการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับ Brexit แล้วธุรกิจเครื่องประดับและนาฬิกาข้อมือล่ะ ในช่วงแรกหลังจากลงประชามติ คนส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมนี้เห็นตรงกันว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบ และเมื่อเวลาผ่านไปเราก็ยังไม่เห็นความคืบหน้ามากนัก ผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ของ Retail Jeweller อาจให้ข้อสรุปที่น่าสนใจ
บุคลากรในอุตสาหกรรมนี้กว่า 130 คนตอบแบบสอบถามทางออนไลน์ โดยตอบคำถามว่าตนเองต้องการเห็นอะไรจากการเจรจา Brexit ของสหราชอาณาจักร รวมถึงพิจารณาผลพวงจากการลงประชามติต่อธุรกิจของตน
ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากพอสมควร (ร้อยละ 44) ระบุว่า Brexit น่าจะส่งผลต่อธุรกิจของตนในระยะกลางถึงระยะยาว เมื่อถามว่ากังวลใจกับเรื่องอะไรมากที่สุดในแง่ที่เกี่ยวข้องกับ Brexit ผู้ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ระบุว่ากังวลใจเรื่องผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน และส่วนที่น่ากังวลอยู่บ้างก็คือ ร้อยละ 40 ระบุว่าวางแผนจะเพิ่มราคาในช่วง 12 เดือนข้างหน้า หรือไม่อย่างนั้นก็ได้ขึ้นราคาไปแล้วตั้งแต่มีการลงประชามติ
ผลการสำรวจทั้งหมดแสดงอยู่ด้านล่างนี้ และสิ่งที่ปรากฏชัดก็คือ ใน “การหย่าร้างที่ซับซ้อนที่สุดในโลก” ครั้งนี้ตามคำที่เพิ่งบัญญัติโดย The Economist สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าคือความไม่แน่นอนมากในระดับที่คนรุ่นนี้ไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อนเลย แม้กระทั่งบรรดาคนที่ฉลาดปราดเปรื่องก็ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า ในที่สุดแล้วผลกระทบและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน
แต่เรื่องหนึ่งที่แน่นอนนั่นก็คือ Brexit กำลังเกิดขึ้น และทีมผู้นำการเจรจาก็ต้องรับหน้าที่ดูแลให้กระบวนการนี้ผ่านไปอย่างราบรื่น ขณะเดียวกันพวกเราที่เหลือก็จะต้องไม่เอาแต่ไหลไปตามกระแสเชิงลบที่ปรากฏตามสื่อ และมุ่งความสนใจไปยังการดำเนินธุรกิจเช่นที่เคยเป็นมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
------------------------------------------
ที่มา: “Braced for Brexit.” by Ruth Falkner. RETAIL JEWELLER. (November 2016: pp. 37-39).
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : เตรียมรับผลพวงจาก Brexit