khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 10 ม.ค. 2017 22.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 8521 ครั้ง

เรื่องราวในห้องฉุกเฉิน


สัมผัสแห่งอารมณ์ ที่ไม่เคยจางหาย

    จะสิ้นปีแล้วสินะ! ฉันรำพันกับตัวเองก่อนที่ช่วงเวลาของปีนี้จะสิ้นสุดลง เดือนนี้เป็นเดือนแห่งเฉลิมฉลอง ฉลองให้กับโบนัสที่จะได้ ฉลองให้กับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ฉลองให้กับปีใหม่ที่จะเข้ามา แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะไม่ต้องฉลอง แต่ต้องเฝ้าระวัง คือ การตรวจร่างกายประจำปีของพนักงานทุกคน

       สิ่งที่ลุ้นมากในแต่ละครั้งที่ตรวจร่างกาย คือ ระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือด เพราะถ้ามันสูงเกินไป นั่นหมายถึง ความทุกข์จะมาเยี่ยมเยียนในอีกไม่ช้า ไม่เป็นเบาหวาน ก็เป็นไขมันในเลือดสูง หรือไม่ก็ความดันโลหิตสูง เมื่อผลเลือดของฉันออกมาเป็นผลที่น่าพึงพอใจ นั่นคือ อยู่ในระดับปกติ โดยเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือดที่หมอบอกให้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากเคยมีระดับน้ำตาลในเลือดที่เคยสูงถึง 158 mg% นั่นคือ คุณเป็นเบาหวาน ตั้งแต่นั่นมา การเริ่มต้นปฏิบัติการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าร้อยจึงตามมา ด้วยการออกกำลังกายทุกเช้า ทานผักเยอะๆ งดอาหารหวาน

        2 เดือนที่ผ่านมา มีความภาคภูมิใจมากที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 100 mg% นั่นหมายถึง การควบคุมโดยการปรับพฤติกรรมโดยการไม่เคยใช้ยาเลยได้ผล ด้วยหลัก 3 อ คือ อาหาร ออกกำลังกาย และออกเดิน ความดีใจ และความภาคภูมิใจ สิ่งที่ตามมาคือ การเฉลิมฉลอง

        เมื่อวานตอนเที่ยงที่ผ่านมา ไอศกรีมกะทิ ใส่กล้วย มัน ถั่ว สร้างความสดชื่นให้กับสมองจริงๆเลย กินไป 1 ถ้วยเต็มๆ กินแล้วรู้สดชื่นมากๆ ตกเย็นหลังจากไปกินอาหารร้านตำมั่วกับครอบครัว ต่อด้วยไอศกรีมซเว่นเซ้นส์ ที่แสนอร่อย ตอนกินไม่รู้สึก แต่มาได้สติหลังกินเสร็จแล้ว นึกถึงคำพูดของคุณรวิศ ที่เขียนหนังสือ เรื่องมาร์เก็ตติ้งลิงกลับหัว ว่า ‘บรรดาความน่าสะพรึงของทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้ ไม่มีสิ่งใดที่น่ากลัวเท่ากับ ความเคยชิน’

       ความเคยชินในการทานของหวานๆไม่เคยจางหายไปจาก ความรู้สึกเลย แม้ว่าพฤติกรรมเปลี่ยน การกระทำเปลี่ยน แต่ความรู้สึกไม่เคยเปลี่ยนหลังจากที่ได้ลิ้มลองมันอีกครั้ง มันยังฝังอยู่ในสมองส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่พร้อมที่จะกลับมาได้อีกทุกเวลา เมื่อมีสิ่งมากระตุ้น เหมือนกับคนรักที่แม้จะเลิกกันนานแสนนานขนาดไหน แต่ความรู้สึกนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง มันพร้อมที่จะถูกกระตุ้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะมันยังอยู่ในสมอง และพร้อมจะถูกกระตุ้นจากสัมผัสของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส


“บางครั้งสติก็ไม่อาจควบคุมความรู้สึกของอารมณ์ที่ถูกกระตุ้น จึงมีคำพูดที่ว่า ....อารมณ์พาไป -khwanjai-”


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที