GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 22 ธ.ค. 2016 07.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1856 ครั้ง

ปักกิ่ง (Beijing) จัดได้ว่าเป็นมหานครที่มีความผสมผสานของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่เก่าแก่กับศิลปะร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของจีนก็ต้องมาปักกิ่ง ที่ปักกิ่งมีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (National Museum of China) อยู่ตรงข้ามกับจัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นตึกขนาดใหญ่ แบ่งเป็นสองฝั่งคือ North Hall กับ South Hall พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การจัดแสดงก็มีความทันสมัยและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์จีนอย่างดียิ่ง ติดตามเรื่องราว "ปักกิ่ง แหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์และงานอาร์ตร่วมสมัย" ได้ที่ https://goo.gl/nvgjxK หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


ปักกิ่ง แหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์และงานอาร์ตร่วมสมัย

โดย รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส*
           
ปักกิ่ง (Beijing) จัดได้ว่าเป็นมหานครที่มีความผสมผสานของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่เก่าแก่กับศิลปะร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของจีนก็ต้องมาปักกิ่ง ที่ปักกิ่งมีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (National Museum of China) อยู่ตรงข้ามกับจัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นตึกขนาดใหญ่ แบ่งเป็นสองฝั่งคือ North Hall กับ South Hall พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การจัดแสดงก็มีความทันสมัยและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์จีนอย่างดียิ่ง ส่วนจัดแสดงที่เรียกว่าพลาดไม่ได้คือ “Ancient China” ซึ่งอยู่ชั้นล่างสุด เป็นส่วนที่แสดงประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ไล่มาตามราชวงศ์ต่างๆ จนถึงกาลสิ้นสุดในสมัยราชวงศ์ชิง สิ่งที่จัดแสดงอยู่ในส่วนนี้สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมจีน และนวัตกรรมต่างๆ ที่มีการพัฒนาเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง
 
 
ในส่วนของเครื่องประดับเอง เห็นได้ชัดเลยว่า คนจีนเป็นชาติรักสวยรักงามมาแต่ไหนแต่ไร ที่สำคัญต้องมีสีสันด้วย เริ่มจากมีการใช้หินสี มุก มาเป็นพลอยสีที่มีการเจียระไน และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในที่จัดแสดงนี้ไม่เห็นเครื่องประดับที่ใช้เพชรเลย เพราะเพชรเป็นสิ่งที่เข้ามาทีหลังจากทางตะวันตก สมัยก่อนที่ เดอ เบียร์ส (De Beers) จะเข้ามาบุกตลาดเพชรอย่างจริงจังในตลาดจีน คนจีนยังไม่เห็นคุณค่าของเพชร แถมยังเรียกเพชรว่า “European Glass” หรือแปลตรงๆ ว่า “เศษแก้วจากยุโรป” ด้วยซ้ำไป
           
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของจีนนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (เพียงแค่แสดงบัตรประชาชนหากเป็นคนจีน หรือแสดงพาสปอร์ตหากเป็นคนต่างชาติ เจ้าหน้าที่ก็จะให้บัตรเข้าชม) และสามารถถ่ายรูปสิ่งของที่นำมาจัดแสดงได้ด้วย เพียงแต่ห้ามเปิดใช้แฟลชเท่านั้น ที่น่าแปลกก็คือว่าแม้เขาจะไม่ห้ามถ่ายรูปสิ่งที่จัดแสดง แต่หากเราต้องการถ่ายรูปบริเวณในตึกว่าใหญ่โตเพียงไร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะเดินมาห้ามไม่ให้ถ่าย คงเป็นเพราะว่าเขากลัวว่าผู้ก่อการร้ายจะมาศึกษาหาช่องทางทางหนีทีไล่ในการวางระเบิด
 
 
อีกฝั่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติก็คือ พระราชวังต้องห้าม ซึ่งในนี้ก็จะมี Palace Museum ที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของกษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆ และแน่นอนว่าย่อมอลังการงานสร้างมากกว่าที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ แต่ข้อเสียของการเข้าชม Palace Museum คือ จะต้องลงทะเบียนและจองเวลาที่จะเข้าชมทางเว็บไซต์ของเขาก่อน เพราะมีผู้คนต้องการเข้าชมเป็นจำนวนมาก และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัย
           
เมื่อเข้าใจประวัติศาสตร์จีนในระดับหนึ่งแล้ว สิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้สำหรับคนที่รักศิลปะเมื่อมาเที่ยวปักกิ่งก็คือ  798 Art Zone ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัย ทั้งผลงานของศิลปินชาวจีนและชาติอื่นๆ 798 ในอดีตนั้นคือโรงงานของทหารที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ และสินค้าอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นเขตโรงงานทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สถานที่ตั้งจะอยู่ไปทางนอกเมืองของกรุงปักกิ่ง ในอดีตก็ถือเป็นสถานที่ลับที่ไม่ได้เปิดเผยแก่สาธารณะ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เติ้งเสี่ยวผิงได้เปิดประเทศ และมีการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในหลายๆ ด้าน ในด้านหนึ่งก็คือการสนับสนุนให้โรงงานหรือกิจการต่างๆ ทำกิจการร่วมค้ากับต่างประเทศ (International Joint Ventures) เพื่อเป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการผลิตและการจัดการจากต่างชาติ ต่อมา ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีนัก รัฐบาลจีนเริ่มที่จะตัดเงินสนับสนุนกิจการที่เป็นของรัฐ โรงงานต่างๆ ที่อยู่ใน 798 ก็เริ่มปิดตัวลง และศิลปินก็ได้เข้าไปจับจองพื้นที่เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ กลายเป็น 798 Art Zone ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
 
 
เรียกได้ว่า 798 เป็นคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Cluster) ที่สำคัญของจีนเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะมีแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะร่วมสมัย และร้านขายงานศิลปะแล้ว ยังมีบริษัทที่เกี่ยวกับศิลปะและงานออกแบบอยู่ใน 798 ด้วย เช่น บริษัทที่รับงานออกแบบตกแต่งภายในและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ โรงเรียนสอนศิลปะ และก็ยังมีโรงละครอยู่ในนั้นเสร็จสรรพ ถือได้ว่าเป็นแหล่งชุมนุมของศิลปินจากทุกแขนง และจากหลากหลายประเทศด้วย เท่าที่สำรวจก็เห็นแกลเลอรี่ พิพิธภัณฑ์ จากทางตะวันตก ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือเองก็มีพิพิธภัณฑ์ของรัฐมาโปรโมทงานศิลปะอยู่ที่ 798 ด้วยเช่นกัน
           
ในส่วนที่เป็นงานเครื่องประดับนั้น ยังไม่เห็นใน 798 เท่าไรนัก แต่ผู้เขียนก็คิดว่าหากมีแกลเลอรี่ใดที่เจาะงานด้านเครื่องประดับโดยเฉพาะก็น่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ ตามฟีลลิ่งและมู้ดของสถานที่แล้ว 798 Art Zone จะเหมาะกับงานเครื่องประดับแฟชั่นที่แสดงความทันสมัย มากกว่าเครื่องประดับแท้ 
           
ถึงตรงจุดนี้ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า 798 มีความสอดคล้องกับ นโยบายของรัฐบาลจีนที่มุ่งหวังให้จีนยกระดับอุตสาหกรรมจากที่เป็นเพียงแหล่งผลิตหรือรับจ้างผลิต ขึ้นมาเป็นแหล่งออกแบบและพัฒนาด้วย หรือเรียกว่ายกระดับจาก “Made in China” เป็น “Made by China” ซึ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็เป็นตัวจักรกลสำคัญที่จะทำให้จีนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้นี้ ผู้อ่านที่อยู่ในวงการเครื่องประดับก็คงฝันต่อไปว่าเมื่อไหร่ประเทศเราจะมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบนี้บ้างเหมือนกัน 
 
-----------------------------------------------------------
* Special Contributor : รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of South Carolina มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับให้กับ GIT หลายโครงการ ดร.สมชนก เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน และเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีประสบการณ์มากมายที่จะมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน ผลงานเขียนล่าสุดของเธอคือ “อาเซียน เซียนธุรกิจ” หนังสือที่เจาะลึกการทำธุรกิจในอาเซียนได้อย่างถึงแก่น
 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที