GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 19 ธ.ค. 2016 03.45 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1966 ครั้ง

อาเซียน เป็นกลุ่มประเทศดาวเด่นที่บริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยต่างจับจ้องและแย่งชิงกันเข้าไปลงทุนอยู่ในขณะนี้ เพื่อใช้โอกาสจากแรงงานมีฝีมือและไม่มีฝีมือจำนวนมากและค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐที่เอื้อต่อนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ การเปิดเสรีอาเซียนยังช่วยให้นักลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันต่างพากันโยกย้ายฐานการผลิตและเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน ไม่เว้นแม้แต่บริษัททุนไทยตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว อย่างไรก็ดี การลงทุนมิได้มีมิติของโอกาสเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่จะต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย ซึ่งมิติเหล่านี้จะส่งผลให้อาเซียนน่าสนใจสำหรับการลงทุนทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับมากน้อยเพียงใด สามารถติดตามได้ในบทความ "รู้เขารู้เรา เคล็ด (ไม่) ลับพิชิตการลงทุนธุรกิจเครื่องประดับในอาเซียน" ฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/1QrGM8 หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


รู้เขารู้เรา เคล็ด (ไม่) ลับพิชิตการลงทุนธุรกิจเครื่องประดับในอาเซียน

อาเซียน เป็นกลุ่มประเทศดาวเด่นที่บริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยต่างจับจ้องและแย่งชิงกันเข้าไปลงทุนอยู่ในขณะนี้ เพื่อใช้โอกาสจากแรงงานมีฝีมือและไม่มีฝีมือจำนวนมากและค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐที่เอื้อต่อนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ การเปิดเสรีอาเซียนยังช่วยให้นักลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันต่างพากันโยกย้ายฐานการผลิตและเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน ไม่เว้นแม้แต่บริษัททุนไทยตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว อย่างไรก็ดี การลงทุนมิได้มีมิติของโอกาสเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่จะต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย ซึ่งมิติเหล่านี้จะส่งผลให้อาเซียนน่าสนใจสำหรับการลงทุนทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับมากน้อยเพียงใด ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้จากรายละเอียดที่จะกล่าวในบทความนี้
 
 
สถานการณ์การลงทุนในอาเซียน
           
จากรายงานสถานการณ์การลงทุนในอาเซียนปี 2559 โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนและการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอาเซียนปี 2558 มีมูลค่า 125,731.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงทั่วโลก โดยประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ASEAN Investment Report 2016 รายงานว่า กลุ่มที่เข้ามาลงทุนในอาเซียนสูงที่สุดเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 22,149 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ตามลำดับ แต่หากแยกเป็นรายประเทศพบว่า ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอาเซียนสูงที่สุด รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ออกไปลงทุนในอาเซียนมากสุด 3 อันดับแรกได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ
 
โอกาสและความท้าทาย
 
แม้ว่าภายใต้กรอบการเปิดเสรีอาเซียนจะทำให้นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้าไปลงทุนระหว่างกันได้สะดวกและง่ายมากขึ้น เพราะหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว อีกทั้งแต่ละประเทศอาเซียนยังมีนโยบายสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติมด้วย ทว่ายังมีระเบียบราชการที่ทำให้ขั้นตอนการลงทุนยุ่งยาก รวมถึงกฎหมายภายในบางฉบับที่ยังไม่ได้แก้ไข ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถลงทุนได้ในบางธุรกิจ อาทิเช่น กฎหมายลูกของเมียนมาห้ามต่างชาติลงทุนทำเหมืองอัญมณี หรืออาจมีข้อจำกัดในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นในบางประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยอุตสาหกรรมอัญมณีของไทยส่วนมากเป็นกิจการขนาดกลางและเล็ก จึงเป็นไปได้ยากที่จะเข้าไปลงทุนทำเหมืองอัญมณีในต่างประเทศซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงได้ ฉะนั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโอกาสและอุปสรรคในการลงทุนเปิดบริษัทจำหน่ายสินค้าหรือตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับในประเทศอาเซียน ซึ่งธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่สามารถทำได้เนื่องจากทุกประเทศอาเซียนเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในด้านนี้และใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก
 
ประเทศที่เหมาะกับการจัดตั้งบริษัทจำหน่ายเครื่องประดับ
 
ประเทศที่ไทยมีโอกาสเข้าไปจัดตั้งบริษัทจำหน่ายเครื่องประดับคือประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งนอกจากประเทศเหล่านี้จะมีกำลังซื้อค่อนข้างสูงแล้ว การจัดตั้งธุรกิจยังสามารถทำได้ง่ายด้วย และสามารถเลือกได้ว่าจะร่วมทุนกับคนในท้องถิ่นหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงกับแบรนด์ต่างชาติที่ได้เข้าตลาดเหล่านี้ก่อนหน้า อีกทั้งเนื่องด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน และค่าเช่าอาคารสำนักงานที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนามก็นับเป็นตลาดที่น่าสนใจ ในแง่ของการเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวอินโดนีเซียและเวียดนามจะยังไม่มากนัก แต่จากจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คนเหล่านี้มีความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น เพื่อแสดงออกถึงฐานะที่ดีขึ้น ดังนั้น ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในสองประเทศดังกล่าวจึงมีแนวโน้มเติบโตได้สูงขึ้น
 
สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซียเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูง มีกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย จึงอาจพิจารณาดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทเพื่อเปิดเป็นร้านค้าปลีกเครื่องประดับในห้างสรรพสินค้าหรือย่านการค้า โดยการเข้าไปเปิดบริษัทในประเทศข้างต้น ผู้ประกอบการควรศึกษา สำรวจตลาด และปรึกษาผู้มีประสบการณ์ หรือหน่วยงานราชการที่ส่งเสริมด้านการค้าการลงทุน เพื่อขอรับการสนับสนุนข้อมูลและทำความเข้าใจพฤติกรรมหรือรสนิยมการบริโภค รวมถึงกฎเกณฑ์ กฎระเบียบการดำเนินกิจการในประเทศดังกล่าวให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุนเพื่อลดปัญหา อุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้
 
ประเทศที่เหมาะกับการจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับ
 
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานช่างเจียระไนและช่างผลิตเครื่องประดับ ด้วยอาจเป็นเพราะว่าคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจทำอาชีพนี้ ขณะที่ช่างฝีมือรุ่นเก่ามีอายุมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรหาแรงงานทดแทนโดยอาจพิจารณาไปจัดตั้งโรงงานเจียระไนและผลิตเครื่องประดับในประเทศอาเซียนเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานจำนวนมาก และค่าจ้างที่ต่ำ รวมถึงสิทธิ์ GSP ในการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ดี การเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ยังมีข้อจำกัดที่จะต้องศึกษาลึกลงไปอีก อย่างเช่น อินโดนีเซียเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% แต่เมื่อเปิดกิจการไปแล้ว 15 ปี บริษัทจะต้องขายหุ้นให้ชาวอินโดนีเซียไม่น้อยกว่า 5% หรือการลงทุนในเวียดนาม หากลงทุนโดยตรงในเขต Industrial Zone หรือ Special Economic Zone ต่างชาติจะสามารถถือหุ้นได้ 100% แต่อาจจะต้องเผชิญกับการเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงของลูกจ้างที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ส่วนการลงทุนในเมียนมานั้น มีข้อดีที่คนเมียนมาขยัน และพัฒนาฝีมือการเจียระไนและผลิตเครื่องประดับได้ง่าย แต่การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในเมียนมานั้นจะต้องร่วมทุนกับคนท้องถิ่นหรือรัฐบาล เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ในบางประเทศยังมีความน่าสนใจเปิดบริษัทจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับควบคู่ไปด้วย อย่างเช่นเมียนมา ที่แม้ว่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับยังมีขนาดเล็กอยู่ หากแต่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้กลุ่มผู้มีกำลังซื้อเกิดขึ้นจำนวนมาก และกลุ่มเหล่านี้ก็มีความต้องการสินค้าดีมีคุณภาพ จึงทำให้มีชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อยเดินทางเข้ามาซื้อเครื่องประดับในไทย เพราะชื่นชอบสินค้าไทยทั้งในเรื่องคุณภาพและรูปแบบที่สวยงามทันสมัย ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพิจารณาเข้าไปเปิดบริษัทจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับในเมียนมา โดยในปัจจุบันมีคนไทยได้ร่วมทุนกับรัฐบาลเมียนมาเปิดบริษัท Myanmar VES Joint Venture Co., Ltd. ซึ่งทำการผลิตและจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเมียนมาแล้ว
 
สำหรับท่านที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียน ควรจะต้องศึกษาข้อมูลในเชิงลึกครอบคลุมทุกมิติ อาทิ เงื่อนไขการลงทุน เงินลงทุน กฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายประกอบธุรกิจรวมถึงต้นทุนแฝงต่างๆ และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน หากตัดสินใจได้ว่าจะเข้าไปลงทุนแล้วก็ควรหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ดีในการร่วมทุน โดยบุคคลเหล่านี้จะทราบกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ตลอดจนช่องทางการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าไปลงทุนได้สำเร็จราบรื่น
 
------------------------------------------------------------------------------- 
ข้อมูลอ้างอิง:
1) ศูนย์อาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2) 10 ชาติอาเซียน การันตี ไม่ปิดกั้นการลงทุน, www.thai-aec.com

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที