ในแต่ละปีเทศกาลที่สามารถทำยอดขายอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐอเมริกาได้มากที่สุดมีอยู่ 2 ช่วงช่วงแรกคือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมเนื่องจากเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองและการให้ของขวัญ (Gift Giving Period) โดยอัญมณีและเครื่องประดับนอกจากจะเป็นของขวัญที่มีคุณค่าต่อจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับแล้ว ยังสามารถสะสมมูลค่าในตัวเองได้ ช่วงที่สองคือเทศกาลแห่งการแต่งงาน โดยในแต่ละปีมีคู่รักชาวอเมริกันแต่งงานกันราว 2.3 ล้านคู่ ทำให้มีการประมาณการไว้ว่ายอดขายอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับคู่รักไม่ว่าจะเป็น แหวนแต่งงาน สร้อยคอ จี้ ต่างหู ฯลฯ นั้นมีส่วนแบ่งตลาดถึง 35% ของยอดขายอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาที่ในปี 2016 มีมูลค่าถึง 61.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (Euromonitor, 2016)
ธุรกิจงานแต่งงานเติบโตสวนกระแสการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ การศึกษา อาชีพ ค่านิยม ฯลฯ จะส่งผลให้หนุ่มสาวชาวอเมริกันในปัจจุบัน รวมทั้งหนุ่มสาวทั่วโลกนิยมแต่งงานกันช้าลงหรืออาจเลือกที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้นก็ตาม (ติดตามบทความเจาะไลฟ์สไตล์การซื้อเครื่องประดับของเหล่าสาวโสดได้จาก https://infocenter.git.or.th ) แต่จากรายงานของ IBISWorld Report กลับพบว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานในสหรัฐอเมริกากลับขยายตัวสูงขึ้นราว 1.9% ต่อปี สวนกระแสการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ประมาณการไว้ว่าจะเติบโตลดลง 0.2% (WEO, 2017) ทั้งนี้พบว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าตลาดราว 55 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานอย่างคึกคักในตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริการาว 7.8 แสนตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจชุดแต่งงาน การจัดเลี้ยง ช่างถ่ายภาพ การจัดดอกไม้ ฯลฯ รวมไปถึงธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับคู่รัก ที่มีการประมาณการไว้ว่าคู่รักชาวอเมริกันใช้จ่ายสำหรับเครื่องประดับในการแต่งงานราว 8,000-10,000 เหรียญสหรัฐ โดย 5 อันดับแบรนด์ของแหวนแต่งงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ Cartier, Bulgari, Charles & Colvard, Michael B และ Harry Winston
ในสหรัฐอเมริกากลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดคือหนุ่มสาว “วัยได้ฤกษ์แต่งงาน” คือมีอายุระหว่าง 18-34 ปี หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มมิลเลนเนียล” ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีอัตราการแต่งงานสูงที่สุด โดยในปี 2015 ประชากรกลุ่มนี้มีสูงถึง 75.5 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 81 ล้านคน ในอีก 21 ปีข้างหน้า หากจินตนาการไม่ถูกว่ามีจำนวนมากแค่ไหน ขอให้นึกภาพเปรียบเทียบว่ายังมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศที่มีราว 67 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานในสหรัฐอเมริกาจึงได้ขยายตัวสวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยที่ร้านค้าปลีกเครื่องประดับ (Specialty Jewelry Retailer) ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่คู่รักชาวอเมริกัน แม้ว่าปัจจุบันจำนวนร้านค้าจะลดลงและแทนที่ด้วยการขายออนไลน์มากขึ้นก็ตาม
อัญมณีสำหรับคู่รักสามารถเจาะตลาดได้ทั้งกลุ่ม “มิลเลนเนียล” และ “เบบี้บูม”
แม้ว่า “มิลเลนเนียล” จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของอัญมณีสำหรับคู่รักแต่ “เบบี้บูม” ก็เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญไม่แพ้กันโดยทั่วไปแล้วกลุ่มมิลเลนเนียลจัดเป็นกลุ่มที่จับจ่ายซื้อเครื่องประดับสำหรับคู่รักสูงที่สุด โดยแต่ละคู่จะใช้เงินราว 8,000-10,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับเครื่องประดับ แต่นอกจากกลุ่มมิลเลนเนียลแล้ว กลุ่มเบบี้บูมหรือประชากรที่อายุระหว่าง 51-69 ปี ซึ่งถูกประมาณการไว้ว่าจะมีจำนวนราว 65 ล้านคนในปี 2028 ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะแม้ว่าจะเลยวัยแรกแย้มแห่งการแต่งงานไปแล้ว แต่อัญมณีและเครื่องประดับก็สามารถใช้เป็นของขวัญในวันครบรอบสำหรับวันสำคัญได้ (Milestone Anniversaries) และที่สำคัญคนกลุ่มนี้ยังกระเป๋าหนักกว่ากลุ่มมิลเลนเนียลอีกด้วย!!
ตอบสนองคู่รักรุ่นใหม่ด้วย “เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้” เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคเจนเนอเรชั่นใหม่ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับคู่รักต้องปรับตัวให้เป็นมากกว่าสิ่งของแทนใจ โดยการเป็นทั้งเครื่องประดับและการเป็นเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ และเน้นดีไซน์ที่เก๋ เท่ สวยงาม
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที