GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 07 ธ.ค. 2016 03.26 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1759 ครั้ง

เครื่องประดับเงินยังเปล่งประกายสดใสไม่เสื่อมคลาย
เครื่องประดับเงินยังคงเดินหน้าต่อไปสู่การเป็นเครื่องประดับหรูอย่างแท้จริง ปัจจัยที่ช่วยรับรองว่าเครื่องประดับเงินจะยังมีอนาคตที่สดใสต่อไปติดตามได้ในบทความ "เครื่องประดับเงินยังเปล่งประกายสดใสไม่เสื่อมคลาย" ฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/OPp7kK หรือติดตามบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ http://infocenter.git.or.th


เครื่องประดับเงินยังเปล่งประกายสดใสไม่เสื่อมคลาย

เครื่องประดับเงินยังคงเดินหน้าต่อไปสู่การเป็นเครื่องประดับหรูอย่างแท้จริง บทความนี้จะนำเสนอปัจจัยที่ช่วยรับรองว่าเครื่องประดับเงินจะยังมีอนาคตที่สดใสต่อไป 
 
หลายปีที่ผ่านมา เครื่องประดับเงินเป็นที่กล่าวถึงซ้ำๆ มากมาย เริ่มจากการเป็นโลหะยอดนิยมในเม็กซิโกเมื่อช่วงทศวรรษปี 1920 ไปจนถึงกระแสหลักในช่วงยุคเฟื่องฟูของเทศกาลดนตรีและศิลปะ Woodstock ในทศวรรษปี 1960 และปี 1970 และล่าสุดคือปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยบริษัทชื่อดังที่ยกให้เครื่องประดับเงินเป็นสินค้าช่วยกู้สถานการณ์ในช่วงวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) 
 
กระแสต่างๆ เหล่านี้ได้มีบทบาทในเรื่องราวการเดินทางของโลหะเงินเสมอมา แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่กำลังชัดเจนขึ้น โลหะเงินกำลังได้สถานะใหม่และไต่อันดับขึ้นไปในแวดวงเครื่องประดับ 
 
ในปี 2013 รายงานเรื่องเครื่องประดับเงินของนิตยสาร Jeweller ระบุว่าโลหะสีขาวชนิดนี้ได้ก้าวพ้นกิตติศัพท์การเป็น ‘ทองคำคนยาก’ มานานแล้ว และพัฒนาอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสินค้าหรูหราในหมู่ผู้ค้าปลีกและผู้บริโภค แม้จะผ่านมาแล้วสามปีแต่ทัศนคติที่มีต่อโลหะเงินยังคงแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
 
Pastiche
 
 
Amy Bradley กรรมการของ Pastiche กล่าวว่า “ใช่ เราเห็นด้วยที่ว่าเครื่องประดับเงินมีสถานะความเป็นเครื่องประดับหรูอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะราคาโลหะเงินที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2011 โดยเมื่อตอนที่ราคาโลหะเงินขยับตัวอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ราคาของเครื่องประดับเงินก็ถูกบีบให้สูงขึ้นไปด้วย”  
 
Bradley กล่าวว่า ราคาที่ขยับตัวสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันไปหาสินค้าประเภทเครื่องประดับเทียมและโลหะที่มีราคาย่อมเยากว่า เช่น ทองเหลือง และโลหะพื้นฐานต่างๆ เธออธิบายว่า “ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาราคาโลหะเงินลดลงมาโดยตลอด ทำให้เครื่องประดับเงินมีราคาย่อมเยามากขึ้นสำหรับผู้บริโภค แต่ก็ยังรักษาสถานะสินค้าหรูหราเอาไว้ได้”

Thomas Sabo
 
 
Phil Edwards กรรมการผู้จัดการของ Duraflex Group Australia ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายของ Thomas Sabo เห็นด้วยว่าโลหะเงินมีคุณค่าในการสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมนี้
 
เขากล่าวว่า “จุดยืนของแบรนด์ในคอลเลกชั่นเงินสเตอร์ลิงของ Thomas Sabo คือ ความหรูหราในราคาที่เอื้อมถึง” และเสริมว่า “เนื่องจากในตลาดมีสินค้าเครื่องประดับเทียมที่ผลิตในปริมาณครั้งละมากๆ และผลิตตามกระแสความนิยมเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคจึงเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของเครื่องประดับเงินสเตอร์ลิงที่มีคุณภาพ ซึ่งผลิตโดยช่างฝีมือมากยิ่งขึ้น” 
 
บริษัทชั้นนำอย่าง Georg Jensen และ Tiffany & Co มีส่วนช่วยให้โลหะเงินมีสถานะเป็นสินค้าหรูหราด้วยเช่นกัน โดย Sue Campbell กรรมการของ Aztec Gold and Silver กล่าวว่า “Tiffany & Co และ Georg Jensen ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้ผู้คนโหยหาสิ่งพิเศษบางอย่างในโลหะเงินและสินค้าที่มีแบรนด์” 
 
Jo Tory ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของเครื่องประดับเงินแบรนด์ Najo มีความเห็นต่างออกไป โดยไม่เชื่อว่าผู้ผลิตเครื่องประดับชั้นนำเหล่านี้ได้ช่วยยกระดับชื่อเสียงของโลหะสีขาวชนิดนี้แต่อย่างใด 
 
เธอกล่าวว่า “เครื่องประดับเงินระดับสูงที่ผลิตด้วยฝีมืออันงดงามนั้นอยู่ในสถานะสินค้าหรูหรามาตลอดอยู่แล้ว เครื่องประดับเงินของ Tiffany & Co และ Georg Jensen มีสถานะเป็นสินค้าหรูเพราะการออกแบบ ความเป็นแบรนด์เนมมีชื่อเสียง และความละเอียดประณีต นอกจากนี้พวกเขายังผลิตเครื่องประดับเงินมาตั้งแต่ทศวรรษปี 1800 แล้ว” 
 
Tory เชื่อว่าสถานะความเป็นสินค้าหรูมีอยู่แล้วในหมู่แบรนด์เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น Monica Vinader นักออกแบบจากสหราชอาณาจักร ซึ่งออกแบบเครื่องประดับตัวเรือนเงินประดับเพชรและอัญมณีต่างๆ อย่างไรก็ตาม Tory เสนอความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงให้ตรงจุดมากขึ้นอยู่ที่การเพิ่มความต้องการ เธอกล่าวว่า “พูดแบบทั่วๆ ไป โลหะเงินได้กลายเป็นสินค้าที่ทันสมัยมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยแถมยังได้รับการยอมรับมากขึ้นอีกด้วย” 
 
ในทางกลับกัน Peter Jakobsen หุ้นส่วนผู้จัดการของ Nordic Jewellery ระบุว่า การวางจุดยืนเครื่องประดับเงินให้เป็นสินค้าหรูหราไม่ใช่แค่ดำเนินต่อไปแต่กำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่นานมานี้ Nordic Jewellery เพิ่งได้รับสิทธิ์ในการกระจายสินค้าในประเทศให้กับไลน์เครื่องประดับเงินสเตอร์ลิงของ Waterford Crystal ซึ่งเป็นการเข้าสู่ตลาดเครื่องประดับอย่างเป็นทางการครั้งแรกของแบรนด์ดังกล่าว 
 
Jakobsen เชื่อว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากสองเหตุผลหลัก “เหตุผลแรกคือผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคยอมรับและตระหนักว่าเงินเป็นโลหะมีค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องประดับในทันที เหตุผลข้อที่สองคือ การเปิดตัวของแบรนด์ใหม่ๆ ที่มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ส่งผลให้จำเป็นต้องยกระดับการออกแบบเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับแบรนด์” 
 
Jakobsen กล่าวว่า แบรนด์เครื่องประดับเงินในตลาดนั้นมีอยู่ดาษดื่น และหนึ่งในข้อได้เปรียบของเงินเมื่อเทียบกับโลหะอื่นๆ เช่น ทองคำ ก็คือ อิสระในการออกแบบของโลหะเงิน
 
ความนิยมล้นหลาม 
 
การออกแบบแนวไหนที่นิยมกันอยู่ในเวลานี้? แม้จะไม่มีสไตล์ใดสไตล์หนึ่งที่ได้รับความนิยมแบบเป็นเอกฉันท์อย่างจริงจัง แต่แนวทางหนึ่งที่ต้องจับตามองคือการประดับเพชร 
 
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Thomas Sabo เปิดตัวไลน์ Glam & Soul Diamonds อันประกอบด้วยเครื่องประดับใช้รูปแบบเส้นสายลวดลายในแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหูประดับเพชรเม็ดกลมเพื่อ ‘ยกระดับ’ 
 
Edwards กล่าวว่า ตอนที่ประกาศข่าวดังกล่าวออกไป ได้มีการกำหนดระดับราคาคอลเลกชั่นนี้ไว้สูงกว่าสินค้าทั่วไปที่แบรนด์จำหน่ายแต่ยังอยู่ภายใน “กลุ่มสินค้าหรูราคาย่อมเยา” เมื่อถามถึงการตัดสินใจที่จะนำเพชรเข้ามาใช้กับเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ผลิตเครื่องประดับ Edwards กล่าวว่า “ทำได้อยู่แล้ว ผู้บริโภคนั้นต้องการสินค้า ‘หรูราคาสบายกระเป๋า’ ในเมื่อเงินเป็นโลหะที่แข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อและเพชรถือเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของความหรูหรา นี่จึงเป็นส่วนผสมที่สมบูรณ์แบบ”  
 
Tory อธิบายว่า Najo ได้ทดลองใช้เพชรมาแล้วเช่นกันในอดีต “Najo เคยมีคอลเลกชั่นเล็กๆ ที่เป็นเครื่องประดับเพชรเมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่เธอคิดว่ามันคงเร็วเกินไป เธอคิดว่าตอนนี้น่าจะเป็นเวลานำเสนอพลอยเนื้อแข็งในคอลเลกชั่นเครื่องประดับเงินของเราให้มากขึ้น” 
 
สิ่งที่ปฏิบัติกันแพร่หลายมากกว่าคือการผสมผสานเงินสเตอร์ลิงกับอัญมณีและคิวบิกเซอร์โคเนีย แม้ Tory จะตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องประดับส่วนใหญ่ในแบรนด์ของเธอเป็นเงินขัดเงาโดยไม่ประดับอัญมณี แต่ Tory กล่าวว่า คอลเลกชั่นที่มีธีมของ Najo ก็ยังประดับอัญมณีอยู่บ้าง 
 
Tory อธิบายว่า “ในคอลเลกชั่นฤดูกาลใหม่นี้ เรานำลาพิสลาซูลี มูนสโตน คาลซิโดนี และอะพาไทต์มาประดับบนตัวเรือนเงิน” 
 
Pastiche เป็นผู้จัดหาสินค้าอีกรายหนึ่งที่ได้นำอัญมณีเข้ามาใช้ในคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน Bradley กล่าวว่า “Inca Collection ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากชนเผ่าพื้นเมืองนั้นมีการนำฮาวไลต์สีขาวและสีฟ้ามาใช้ด้วย ส่วน Evoke Collection ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ จึงนำเสนอโรสควอตซ์ มุกน้ำจืดและคิวบิกเซอร์โคเนีย รวมทั้งยังเสริมด้วยแลบราโดไรต์ โอนิกซ์สีดำ และควอตซ์ใสอีกเล็กน้อย” 
 
เธอกล่าวเสริมว่า “ผิวที่มีการขัดเงาของเงินสเตอร์ลิงทำให้ได้ผิวที่แวววาวสดใสซึ่งช่วยส่งเสริมอัญมณีธรรมชาติได้อย่างไม่มีที่ติ ขณะที่เงินรมดำสร้างลักษณะตัดกันผ่านรายละเอียดของลวดลาย” 
 
Campbell เห็นว่าเพชรเข้ากับเครื่องประดับทองคำได้ดีกว่า โดยอธิบายว่าในกรณีเครื่องประดับเงินนั้น คิวบิกเซอร์โคเนียจะทำให้ “เงินของคุณแวววาวเป็นประกายมากกว่า” แต่ในประเด็นเรื่องคุณค่า เธอเสริมว่า 
 
“ผู้ค้าปลีกเองก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อนำราคาของเครื่องประดับเงินชิ้นใหญ่น้ำหนักมากมาเปรียบเทียบกับราคาเครื่องประดับทองคำชิ้นที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ดังนั้นในฐานะผู้ผลิตเครื่องประดับคุณต้องมองให้ขาด” 
 
จากกระแสนิยมการประดับพลอยสีตลอดจนการเคลือบหรือชุบด้วยทองคำและทองสีกุหลาบที่เพิ่มมากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่เสน่ห์ของเงินล้วนกำลังลดลง? 
 
“กระแสนิยมการผสมผสานงานเคลือบทองสีกุหลาบและทองคำกับเงินคือการนำเสนอสิ่งใหม่ให้กับลูกค้าของเรา แต่ไม่ใช่การทิ้งเครื่องประดับเงินล้วนไปเสียทีเดียว” Campbell กล่าว “ไม่มีอะไรมาแทนที่กำไลเงินหนาที่ผลิตขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตได้”  
 
Tory มีความเห็นคล้ายคลึงกัน โดยอธิบายว่าเธอสังเกตเห็นผู้บริโภคสองกลุ่มที่มีความต้องการตรงข้ามกัน “มีลูกค้าที่ต้องการเครื่องประดับเงินล้วนขัดเงาแบบร่วมสมัยและอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเครื่องประดับเงินเคลือบด้วยทองที่มีอัญมณีประดับ” 
 
สำหรับผู้ผลิตเครื่องประดับแล้วตัวเลือกนั้นมีไม่จำกัด และ Campbell เชื่อว่าความท้าทายในปัจจุบันสำหรับผู้ค้าปลีกที่เก็บสำรองเครื่องประดับเงินไว้ในคลังสินค้าคือการมองหาแหล่งเครื่องประดับที่มีคุณภาพ มีการออกแบบที่แตกต่าง และตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภค 
 
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการเครื่องประดับเงิน 
 
เป็นธรรมดาที่ผู้ผลิตเครื่องประดับมีโอกาสใช้ประโยชน์จากความต้องการเครื่องประดับเงิน Chris Sherwin ช่างเงินและช่างทำเครื่องประดับจาก Sherwin Design Studio ใน Geelong รัฐ Victoria กล่าวว่า เขาสังเกตเห็นกระแสนิยมเครื่องประดับเงินอย่างชัดเจนตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกและราคาทองคำสูงขึ้น
 
“งานออกแบบเครื่องประดับส่วนใหญ่ของเราเป็นทองคำและแพลตินัม แต่สังเกตเห็นว่ายอดขายเครื่องประดับเงินที่ผลิตในช่วงไม่กี่ปีมานี้เพิ่มขึ้น” เขาอธิบายโดยเสริมว่า “โลหะเงินอาจจะเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 25 ของยอดขายทั้งหมด” 
 
Sherwin เตือนว่าการขยายตัวของเครื่องประดับเงินอาจส่งผลในเชิงลบต่อผู้ผลิตขนาดเล็ก “ผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการตื่นตัวมากขึ้นและยอดขายเครื่องประดับเงินของผู้ผลิตเครื่องประดับทองคำดั้งเดิมขนาดเล็กคือความเสี่ยงจริงๆ ที่กำไรจาก ‘การเพิ่มมูลค่า’ อาจตกลงไป” เขาอธิบาย “การคิดค่าแรงรายชั่วโมงในการผลิตเครื่องประดับเงินที่สมเหตุสมผลเป็นเรื่องยาก และการประดับอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของคุณแล้วทำให้การคิดราคาซึ่งบวกต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นยุติธรรมต่อลูกค้าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน” 
 
อย่างไรก็ตาม Sherwin กล่าวว่าเขายินดีที่เครื่องประดับเงินมีส่วนตลาดและตลาดเฉพาะที่คู่ควร 
 
John Miller แห่ง John Miller Design ในรัฐ Western Australia เป็นผู้ผลิตเครื่องประดับรายหนึ่งที่ได้สร้างตลาดเฉพาะของตนเอง Miller เริ่มผลิตเครื่องประดับเงินในปี 1973 เป็นช่วงเวลาที่ “อุปสงค์นั้นล้ำหน้าอุปทานอย่างมากและสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตจะขายได้ก่อนที่จะผลิตเสร็จด้วยซ้ำ และแท้จริงนั้น เขาคิดราคาได้สูงยิ่งกว่าทุกวันนี้มากทีเดียว”
 
สาเหตุที่ทำให้กิจการของ Miller ดำเนินมาได้อย่างยาวนานนั้นคือการนำเสนอสินค้า “ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์จดจำได้” เขากล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องประดับของเขาว่า “เขาให้ความสนใจในเครื่องประดับของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่ารวมไปถึงชิ้นงานอันน่าทึ่งของชาวอียิปต์โบราณอย่างมากมาโดยตลอด” 
 
นอกจากนี้ Art Nouveau และ Art Deco ซึ่งเป็นกลุ่มกระแสทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจเสมอมาเช่นกัน แต่การที่ผู้คนซึ่งนั่งยองๆ อยู่ในบ้านดินสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่งดงามเหนือกาลเวลาอย่างแท้จริงได้นั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาหลงใหล 
 
Miller จึงเริ่มใช้เทคนิคแบบยุคโบราณ เช่น การแกะสลักด้วยมือ การตีขึ้นรูปด้วยค้อน การสร้างลวดลายและการเจาะ เทคนิคเหล่านี้ทำให้เขามีจุดที่แตกต่าง ชิ้นงานที่ใช้ความร้อนหลอมเข้าด้วยกันก็มีลักษณะที่แตกต่างจากชิ้นงานหล่อขี้ผึ้ง ดังนั้นเขาก็เลยใช้เทคนิคนั้นเยอะทีเดียว Miller เสริมว่า “ชิ้นงานเกือบทั้งหมดที่เขาผลิตเป็นโลหะดัดด้วยมือที่มีเพียงชิ้นเดียว” 
 
ข้อคิดที่ได้จากข้อมูลทั้งหมดนี้คือ เราไม่สามารถจัดเครื่องประดับเงินตามแบบหลักรังนกพิราบ (Pigeonhole) ได้ด้วยการจัดให้อยู่แค่ในกลุ่ม รูปแบบ หรือกลุ่มประชากรเดียวได้ นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตเครื่องประดับ และไม่ว่าเครื่องประดับเงินจะเป็นส่วนสำคัญของเทศกาลดนตรีและศิลปะ Woodstock สินค้ากู้วิกฤติของเครื่องประดับแบรนด์เนมให้พ้นจากวิกฤติการเงินโลก หรือเครื่องตอบสนองความต้องการสินค้าหรูหรา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นโอกาสสำหรับผู้ค้าปลีกในการทำกำไรจากยอดขายเครื่องประดับเงินอย่างต่อเนื่อง 
 
 
------------------------------------------
ที่มา: “Silver hot streak.” by Emily Mobbs. JEWELLER. (October 2016: pp. 15-19).

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที