มุมมอง Sharing Economy กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
โดย รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส*
“Sharing Economy” เป็นแนวโน้มการบริโภคที่กำลังมาแรงมากในช่วงนี้ คำจำกัดความง่ายๆ ของ “Sharing Economy” ก็คือ การนำสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ (Underutilized) ออกมาแบ่งปันกันใช้เพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยผู้บริโภคไม่ต้องซื้อหรือครอบครองสินทรัพย์นั้นด้วยตนเอง หรือเรียกว่าผู้บริโภคยุคใหม่สนใจในการบริโภคประสบการณ์ (Experience) มากกว่าการได้ครอบครองสินทรัพย์นั้น ตัวอย่างธุรกิจใน Sharing Economy ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ธุรกิจ Uber หรือที่ในบ้านเรา Grab จะเป็นที่นิยมกว่า นั่นคือผู้บริโภคมองว่าสิ่งที่เขาซื้อคือบริการการเดินทางซึ่งก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งนั่นเอง Airbnb ก็เป็นอีกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก โดย Airbnb จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางหรือแพลตฟอร์มให้ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องพักหรือบ้านที่ไม่ได้มีคนอยู่ตลอดออกมาปล่อยให้คนอื่นเช่า ลักษณะที่เด่นของ Airbnb คือการสร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของบ้าน (Host) กับผู้พักอาศัย โดย Host มักจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และเรื่องอื่นๆ กับแขกที่มาพักอาศัย โดย Host อาจมาพบกับลูกค้าผู้มาเข้าพักด้วยตนเอง หรืออาจติดต่อผ่านทางออนไลน์ก็ได้
ธุรกิจใน Sharing Economy ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในกลุ่มผู้บริโภคที่เรียกว่ากลุ่ม Millennials (คำจำกัดความของคนกลุ่มนี้มีแตกต่างกันไป เช่น เป็นกลุ่มคนที่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในช่วงประมาณ ค.ศ. 2000 บ้างก็จำกัดความตามปีเกิดคือผู้ที่เกิดประมาณช่วงปี 1980 ถึง 2000 นั่นแปลว่าอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 16 ปี ถึง 30 ต้นๆ) ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองการใช้ชีวิตต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ที่ทำงานเก็บเงินเพื่อมีบ้าน รถ ข้าวของ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นของตนเอง พวก Millennials กลับมองว่าการมีบ้าน รถ และสินทรัพย์ต่างๆ เป็นของตนเองเป็นสิ่งไม่จำเป็นสำหรับพวกเขา อย่างเช่น รถยนต์ คนรุ่นพ่อแม่จะมองว่ารถยนต์เป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคม แต่พวกเขากลับมองว่ารถยนต์เป็นเพียงแค่ยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางเท่านั้น ถ้าพวกเขาอยากมีประสบการณ์ขับรถสปอร์ตในช่วงวันหยุด เขาก็แค่ไปเช่ามาขับแค่วันสองวันก็พอแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาเก็บเงิน หรือต้องจ่ายค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา และอื่นๆ อีกมากมายอีกด้วย
นอกจากนี้ ในโลกที่คนมีการศึกษามากขึ้น คุณภาพชีวิต (Quality of Life) นับว่ามีความสำคัญมากกว่าการมีวัตถุสิ่งของ (Materialism) หรือที่เรียกว่าลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) จะมีความสำคัญน้อยลง สัดส่วนการบริโภคสินค้าจะลดลง แต่การบริโภคบริการ (หรือที่เรียกว่าประสบการณ์) กลับจะสูงขึ้น
ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นแค่เหตุผลบางประการที่ทำให้ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตในยุค Sharing Economy ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หลักการพื้นฐานที่สำคัญของการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่นี้คือ ความเชื่อใจ (Trust) ซึ่งทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน อย่างในกรณีของ Airbnb ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการตรวจสอบข้อมูลของผู้ซื้อหรือผู้เข้าพัก และในขณะเดียวกันก็ต้องมีการตรวจสอบว่าห้องพักหรือบ้านที่จะปล่อยเช่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งโลกออนไลน์ในปัจจุบันมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น เพราะผู้ที่เคยใช้บริการมักจะมีการเขียนรีวิวหรือคอมเมนท์ ถือเป็นการช่วยทำให้เจ้าของบ้านที่หลอกลวงผู้เข้าพักไม่มีโอกาสที่จะได้กลับเข้ามาอยู่ในธุรกิจได้อีก หรือถ้าหากคิดจะหลอกลวงก็จะไม่กล้าทำ และหากโยงกับ Trust ที่แปลเป็นภาษาไทยได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ หรืออะไรก็ตาม ธุรกิจที่จะเติบโตตามขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือธุรกิจประกัน เพราะหากมีการใช้สินค้าหรือบริการแล้วเกิดปัญหาหรือมีอันตรายเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือมีการสูญหาย ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งผู้ขายควรมีการเขียนเงื่อนไขในสัญญาไว้อย่างชัดเจน ถึงการประกันภัยหรือประกันชีวิตด้วย
ในกรณีของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ถึงแม้จะยังไม่มีธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy มากนัก (น่าจะเนื่องมาจากเป็นสินค้าราคาแพงและผู้ขายอาจเกรงกลัวในเรื่องการสูญหายหรือสินค้าถูกเปลี่ยนเมื่อนำมาคืน) แต่ในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีธุรกิจประเภทนี้ให้เห็นบ้างแล้ว เช่น Rocksbox ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องประดับที่มีราคาแพง Renttherunway และ Vinted ที่เป็นธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับแฟชั่น ที่มีราคาไม่สูงนัก
ธุรกิจเช่าเครื่องประดับจาก Rocksbox
ธุรกิจเช่าเครื่องประดับจาก Renttherunway
สำหรับแง่คิดต่อผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยนั้น ก็อาจลงมาเล่นในธุรกิจรูปแบบใหม่นี้เสียเองก็ได้ เหมือนกับบริษัท BMW ที่มีหน่วยธุรกิจให้เช่ารถยนต์ของตนเอง แต่ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับนั้น อาจมีการขยายเป็นเครือข่ายที่รวมผู้ประกอบการหลายรายเข้าด้วยกัน หรืออาจเป็นการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่ครอบครองเครื่องประดับอยู่แล้ว แต่ต้องการที่จะนำเครื่องประดับของตนออกมาหารายได้ในช่วงที่ไม่ได้ใช้ก็สามารถทำได้เช่นกัน ผู้เขียนมองว่าหากผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับลงมาเล่นในช่องทางการทำธุรกิจใหม่นี้เสียเอง จะสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจต่อผู้ที่จะนำเครื่องประดับของตนมาเข้าสู่แพลตฟอร์มนี้มากกว่า
ในอีกมุมหนึ่งนั้น ผู้ประกอบการอาจมองว่าช่องทางการทำธุรกิจรูปแบบใหม่นี้จะส่งผลให้ยอดค้าปลีกสินค้าของตนลดลง เพราะผู้บริโภคจะไม่ต้องการครอบครองเครื่องประดับเป็นของตนเอง แต่หากมองในทางกลับกัน ในธุรกิจใหม่นี้มีทั้งผู้ขาย (เจ้าของเครื่องประดับ) และผู้ซื้อ (ผู้เช่า) หากธุรกิจนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเจ้าของเครื่องประดับ ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าต้องมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมองเห็นผลตอบแทนตรงนี้ และคิดว่าการลงทุนซื้อเครื่องประดับก็ถือเป็นการลงทุนทางธุรกิจอย่างหนึ่ง และก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าพวกเขาจะกล้าลงทุนซื้อเครื่องประดับในจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และในราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
*Special Contributor : รศ.ดร. สมชนก (คุ้มพันธุ์) ภาสกรจรัส อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก University of South Carolina มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับให้กับ GIT หลายโครงการ ดร.สมชนก เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ไต้หวัน จีน และเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีประสบการณ์มากมายที่จะมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน ผลงานเขียนล่าสุดของเธอคือ “อาเซียน เซียนธุรกิจ” หนังสือที่เจาะลึกการทำธุรกิจในอาเซียนได้อย่างถึงแก่น
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : มุมมอง Sharing Economy กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ