khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 10 ม.ค. 2017 22.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 90371 ครั้ง

ในบรรดาหนังสือประเภท How to ที่ฉันได้อ่านมา ไม่สามารถเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ได้รับจากอ่านหนังสือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เลย ที่ผ่านมาฉันอยู่ในภาวะใกล้เกลือกินด่าง ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี จนกระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้สูญเสีย กษัตริย์ผู้ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ
การเริ่มต้นศึกษาถึงเรื่องราว ชีวประวัติ และคำสั่งสอนของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง ทำให้ฉันค้นพบว่า เราไม่จำเป็นต้องหา How to ที่ไหนเลย เพราะ How to ที่แท้จริงอยู่ในจิตใจของคนไทยทั้งประเทศอยู่แล้ว พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้กับคนไทยทุกด้านทั้งการ คิด พูด ทำ ....แต่ทำไมตัวฉันถึงไม่ทำ
คนโง่ คือ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน เพราะถ้าไม่รู้ว่าเราบกพร่องตรงไหน เราก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
คนฉลาด คือ คนที่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน และพยายามแก้ไขข้อบกพร่องหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น
คนทุกคนเคยผ่านความโง่มาก่อนที่จะเป็นคนฉลาด ที่ผ่านมาฉันเคยโง่มาก่อน ไม่รู้ว่าคุณค่าที่แท้จริงที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้กับประชาชนมีคุณค่ามหาศาลมากมายขนาดไหน ศาสนาพุทธสอนไว้ว่า “ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ลงมือทำ”
การเริ่มต้นเดินทางของฉันนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ใคร่ขออุทิศตนในการศึกษาเรื่องราว วิธีคิด การดำเนินชีวิตของพระองค์ท่าน ผ่านการจัดทำหนังสือส่วนตัวภายใต้ชื่อ “เรียงร้อยพันเรื่องราวรอยพระบาท” โดยมีเป้าหมายทำ ‘10 เล่ม เล่มละ 100 เรื่องราวรอยพระบาทที่พระองค์ทรงทำ’ โดยใช้ความเพียรที่พระองค์ท่านสอน และเป็นแบบอย่างให้ดูตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่รู้จุดจบที่แน่นอน แต่มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน และทำทุกวันเพื่อถวายแด่องค์ราชันย์มหาราชของคนไทยทุกคน

Website เจ้าของผลงาน www.2b2train.com
Facebook: https://www.facebook.com/ebook4ookbee/
Storylog: https://storylog.co/khwanjai/book/581a5bfd9d526ab1781f27ba

ท่านใดต้องการติดต่อให้เป็นนักเขียนประจำคอลัมภ์ หรือลงวารสาร
ติดต่อได้ที่ email: linpootsm3@gmail.com หรือ Tel 0897333790 (หลิน)


เวลาใกล้รุ่ง

            กลางคืนที่เงียบสงัด มีเพียงแสงไฟสลัวๆจากถนนที่อยู่หน้าบ้านสาดส่องเข้ามาในห้องนอนเพียงเล็กน้อย ช่วงเวลานี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่ากาลเวลาและวัยจะล่วงเลยไปมากเท่าใด แต่เวลาใกล้รุ่งก็ยังเป็นเวลาที่ใครหลายๆยังคงนอนหลับไหลอยู่ในนินทาอย่างเป็นสุข...

            เป็นเวลาเกือบ 4 ปี แล้ว ที่บรรยากาศใกล้รุ่งยังคงเป็นมิตรแท้ของฉันอยู่เกือบทุกๆวัน ในทุกๆเช้าเวลาประมาณ 4 นาฬิกาเป็นสัญญาณเตือนให้ฉันลุกขึ้นจากเตียงโดยไม่ต้องใช้เสียงของนาฬิกาปลุก อาจเป็นเพราะเป็นความคุ้นชินที่ทำต่อเนื่องกันมาทุกๆวัน นับตั้งแต่ฉันเริ่มเรียนปริญญาเอกสาขาปรัชญาการจัดการในปี 2556 ที่เป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในการลาออกจากงานเสียสละเงินเดือน เกือบ 3 หมื่นเพื่อมาเรียนเต็มเวลา ทั้งๆที่วัตถุประสงค์ในครั้งนั้นไม่ได้มีทุนจากสถาบันที่ไหนมารองรับ และจบแล้วก็ไม่มีงานที่คอยรับรอง วัตถุประสงค์เดียวที่เรียนคือ ‘เพื่อการเรียนรู้ที่แตกต่าง’ โดยก้าวข้ามจากการเรียนในระดับปริญญาโทสาขาการพยาบาล มาเรียนในระดับปริญญาเอกสาขาการจัดการ ของคณะวิทยาการจัดการ ซึ่งตอนที่เรียนหลายคนเคยถามว่าเรียนไปทำไม ฉันแค่ตอบเค้าว่า ‘อยากเรียน’ แต่ลึกๆในใจแล้ว อย่างรู้ว่า ‘ปริญญาเอกสาขาอื่นเขาเรียนอะไรกัน’

            ‘เวลาใกล้รุ่ง’ เป็นเวลาที่ฉันจัดให้กับการเรียนในระดับปริญญาเอก โดยตั้งปฏิญาณว่า ’อย่าขโมยเวลาของฉันไป’ เพราะช่วงเวลา 4.00 - 6.00 น. เป็นเวลาที่ฉันอุทิศให้กับการทำงานวิจัย ปริญญาโทใครๆก็บอกว่าสาหัส แต่ปริญญาเอกต้องบอกว่า ‘ถึงขั้นปางตาย’  ฉันมีเป้าหมายว่าต้องสามารถสอบวิทยานิพนธ์ จบจนเสร็จสิ้นภายใน 3 ปี ซึ่งระยะเวลาตามหลักสูตร 3.5 ปี สาเหตุที่ 3 ปี เพราะกู้เงินธนาคารมาเรียน ค่าเทอมปีละ 150,000 บาท กู้มา 450,000 บาท รายเดือนก็ไม่มีเงินเก็บแต่มีเงินที่ต้องจ่าย ทั้งค่าบ้าน ค่าเลี้ยงลูก รายได้มาจากการขายของออนไลน์ และรับจ้างทำรายงานเล็กน้อยๆ พอประทังชีวิตไปวันๆ

            ‘เวลาใกล้รุ่ง’ เป็นเสมือนเพื่อนแท้ และเป็นกำลังใจให้ฉันสามารถไปถึงจุดหมายที่ต้องการ ตอนที่เรียบเรียงรายงานวิทยานิพนธ์ในเวลาใกล้รุ่ง ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่า ‘แค่ทำมันทุกใกล้รุ่ง และสักวันหนึ่งภาระกิจนี้จะเสร็จสิ้นกันเสียที’ ฉันมีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน แต่ก็ไม่คำนึงถึงว่าอนาคตว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดมีแต่เพียงภาพเป้าหมายที่ดูเลือนลางเท่านั้น เพราะคิดว่าเพียงแค่เราใส่ใจกับมันทุกๆวัน ความสำเร็จที่เป็นภาพอนาคตของเราคงจะมาถึงเอง

            เสียงเข็มนาฬิกาที่บอกเวลาเป็นนาที เดินตามปกติของมันทุกๆวัน พร้อมๆกับเสียงของแป้นพิมพ์ที่สั่นพลิ้วตามความคิดที่พลิ้วไหวในเวลาใกล้รุ่ง ตลอดระยะเวลา 2.5 ปีที่สอบวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้น ไม่มีคำอื่นใดบรรยายนอกจากจะบอกว่า ‘สิ้นสุดกันเสียที’ กับภาระที่มีมานาน 

            เสียงแป้นพิมพ์ยังคงดังขึ้น พร้อมๆกับเสียงนาทีของนาฬิกาที่ดัง ติ๊ก-ตอก-ติ๊ก-ตอก ในเวลาใกล้รุ่ง แม้ว่าภารกิจจะเสร็จสิ้นแล้ว หลายคนยังนอนหลับ แต่ฉันยังนอนไม่หลับ ช่วงเดือนแรกหลังจบภารกิจมานั่งเหม่อลอยอยู่หน้า โน้ตบุ๊คตัวเก่า ที่ถูกใช้งานอย่างโชกโชนมาเกือบ 10 ปี…

                        เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง ดังขึ้นมาในภวังค์บอกถึงช่วงเวลาของความสุขสดชื่นในตอนใกล้รุ่ง

“ ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ ไกล ไกล… ชุ่มชื่นฤทัย… หวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลง ขับเพลงประสาน
…….”

                   ใช่แล้ว! ความสุขในช่วงเวลาใกล้รุ่ง .... คือ ความสุขในการทำตามความฝันของตัวเองที่เคยทิ้งไประหว่างทาง ในช่วงเวลาเกือบ 30 ปี

                        ‘เธอจะ เอ็นทรานซ์สาขาอะไร?’ เพื่อนของฉันคนหนึ่งถามตอนที่เรียนในชั้น ม.6 ขณะที่พวกเรากำลังจะเตรียมตัวเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย

                        ‘สาขาบรรณารักษ์’ ฉันตอบอย่างภาคภูมิใจ

                        ‘…5555… สาขานี้มีด้วยเหรอ’ เพื่อนของฉันถามด้วยความสงสัย

                        ‘ไม่รู้ที่ มอ.มีมั้ย’ ฉันตอบด้วยความงงๆเหมือนกัน รู้แต่เพียงว่าอยากทำงานเป็นบรรณารักษ์ เพราะตั้งแต่เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเทศบาล 1 จ.สงขลา อาสาสมัครทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์กับ อ.สมหมาย มาตลอด

                        …หน้ากระดาษ ที่ระบุสาขาที่เปิดให้สามารถเอ็นทรานซ์ได้ในมอ. ถูกบรรจงอ่านอย่างละเอียด แทบทุกบรรทัด ไม่มีแม้แต่คำว่า ’บรรณารักษ์’..มหาวิทยาลัยอื่นไม่ต้องพูดถึงรู้แต่ว่าต้องเข้ามอ. สถานเดียวเท่านั้น เพราะพ่อคงไม่มีเงินส่ง

                        ‘สอบเข้าพยาบาลแล้วกัน ชุดสวยดี’ และในที่สุดก็ได้เรียนพยาบาล….

                        ‘รับสมัครพนักงานบรรณารักษ์มั้ยค่ะ เสียงฉันดังขึ้น..เพื่อถามเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ในห้องสมุดคณะแพทย์ของมอ.’ ตามแบบฉบับเสียงเจื้อยแจ้วไร้เดียงสา ของเด็กผู้หญิงหน้าตาใสซื่อ

                        ‘ไม่มีเหรอกค่ะ’ เสียงเจ้าหน้าที่ดังขึ้น

                        .......จบแล้ว อนาคตคงเป็นพยาบาล.....

 

‘’ ใกล้ยามเมื่อแสง ทอง ส่อง…ฉันคอยมองจ้อง ฟ้าเรืองรำไร…ลมโบกโบยมา หนาว ใจ..รอช้าเพียงไร ตะวันจะมา

         

                   ‘ใกล้รุ่ง’ แล้ว เสียงแป้นพิมพ์ดีด ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความคิดที่โลดแล่นในห้วงภวังค์ ช่วงเวลาของความสุขในอดีตได้ถูกถ่ายทอดลงบนตัวอักษร อย่างต่อเนื่องในทุกๆห้วงเวลา ‘ใกล้รุ่ง’

 

“ เพลิดเพลินฤทัย ฟังไก่ประสานเสียงกัน….ดอกมะลิวัลย์ อวลกลิ่นระคนมณฑา…โอ้ในยามนี้ เพลิน หนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา แสนเพลินอุราสำราญ….

                   ความสุขของฉันในช่วงเวลา ‘ใกล้รุ่ง’ ยังคงมีอยู่ในทุกๆวัน หวังว่าเรื่องราวที่ถูกเรียงร้อย และบทความที่ถูกเรียบเรียง คงส่งถึงผู้อ่านอย่างมีความสุขเช่นกัน

 

“หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่ รัง นอน..เฝ้าเชยชิดช้อน ลิ้มชมบัวบาน…ยินเสียงบรรเลง ดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวาน ซาบซ่านจับใจ

-บทเพลงพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช-


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที