ตัวหนังสือบนหน้ากระดาษถูกเปิดอ่านแต่ละหน้าด้วยความรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ กับการได้รับความรู้ใหม่ๆมาใช้ในชีวิตประจำวันที่ซื้อมาอ่าน...เมื่อราคาหุ้นเริ่มขึ้นแล้วให้รีบซื้อ จะสามารถกำไรได้ ในขณะที่หนังสืออีกเล่มหนึ่งบอกว่า จงซื้อหุ้นเมื่อราคาตก หนังสืออีกเล่มบอกว่า จงซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี....และหนังสืออีกหลายๆเล่ม บอกว่า................แต่คนที่ตัดสินใจซื้อหุ้น คือ ตัวคุณเอง ไม่ใช่คนที่ขายหุ้น
การตัดสินว่าหนังสือเล่มไหนที่น่าเชื่อถือ และนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้นั้น บางครั้งเราจำเป็นต้องมองในหลายๆมุม บางครั้งต้องนำมาทดลองปฏิบัติ ถ้าเราอ่านหนังสือเพียงเล่มใดเล่มหนึ่งและเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นจริง ก็ไม่ต่างอะไรจากคำพูดที่ว่า “โง่แล้วอวดฉลาด” เพราะคนโง่จะไม่วิเคราะห์สิ่งที่เข้ามาทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย แต่คนฉลาดจะวิเคราะห์ก่อนว่า สิ่งหน้าน่าเชื่อถือหรือไม่และค่อยมาตัดสินอีกครั้ง
คนโง่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการติดกับดักความคิดของคนอื่น ถูกชักจูงได้ง่ายจากความคิดของคนอื่น การติดกับดักความคิดเป็นสิ่งที่น่ากลัว ดังนั้น ถ้าเราจะตัดสินใจเชื่ออะไรสักอย่าง จงมองอย่างรอบด้าน ถ้าต้องการเป็นเซียนหุ้น ประเภทหุ้นคุณค่า (value investment: VI) จงอ่านหนังสือทุกเล่มเกี่ยวกับ VI เพราะจะทำให้เราได้แง่มุมที่เยอะมาก อย่าเชื่อเพราะว่าเขาคือ วอเรน บัฟเฟ็ต อย่าเชื่อเพราะว่า เขาคือ ดร. นิเวศร์ แต่จงเชื่อเพราะว่าเราได้อ่านและทดลองมาแล้ว
กับดักความคิดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เพราะกับดักความคิดได้ถูกสร้างให้กับเยาวชนไทยมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน
“แม่! ทำไมต้องให้ผมอ่านหนังสือทบทวน ทั้งๆที่ youtube มีทั้งภาพและคำอธิบาย ในหนังสือครูก็สอนมาแล้ว ทำไมต้องมาให้อ่านอีก” ลูกชายของฉันร้องเสียงดังเมื่อถูก บังคับให้อ่านหนังสือที่ไร้ซึ่งภาพ และคำพูดที่มาบรรยายให้ฟัง
“งั้นลูกต้องทบทวนเรื่องนี้จาก youtube อย่างน้อย 5 link VDO ” ฉันบอกเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เขาคิดว่าทำไมต้องดูถึง 5 link youtube
“โอ๊ยแม่! ดูเรื่องเดียวกันถึง 5 link เนี้ยนะ ดูไปทำไม” ลูกชายถามด้วยความสงสัย
“แล้วลูกจะเห็นความแตกต่างของความรู้ แค่เรื่องเดียวกันมีคนให้ความรู้แก่เราถึง 5 แบบ เมื่อเปรียบเทียบกับการอ่านหนังสืออย่างเดียว, ดู youtube 1 link VDO และดู youtube 5 link VDO ลูกคิดว่าอย่างไหนจะทำให้เรามีความรู้มากกว่าคนอื่น” ฉันถามเพื่อให้เขาคิดเอง
“น่าจะ 5 link นะ” ลูกชายตอบเหมือนจะเริ่มคิดออก
“งั้นก็ลองดู ว่าจะทำให้ลูกมีความรู้เพิ่มขึ้นมั้ย”
ในบรรดาการเรียนที่ทำให้เราไม่ติดกับดักความคิดของผู้อื่นคือ รูปแบบการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียน เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีการทดลอง เพื่อให้เกิดการค้นพบวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวผู้เรียนเอง ซึ่งมักจะพบการเรียนรู้นี้ในสายวิศวกรรม สายอาชีวะ ที่เมื่อเรียนจบสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที ดังนั้น
หนังสือที่เราอ่าน....
จงอย่าเชื่อเพราะเราได้อ่าน แต่จงเชื่อเพราะเราได้ทดลองแล้ว
หนังสือที่เราอ่าน....
จงอย่าเชื่อเพราะเราได้อ่าน และคิดว่าเป็นหนังสือที่สุดยอด
แต่จงเชื่อเพราะเราได้ศึกษาเปรียบเทียบกับหนังสือเล่มอื่นๆแล้ว และได้ทดลองแล้ว
หนังสือที่เราอ่าน....
จงอ่าน คิด เปรียบเทียบ ศึกษาจากหลายที่ และทดลองก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อในสิ่งนั้น
เพราะจะทำให้เราไม่ติดในกับดักความคิดของผู้อื่น
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที