khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 10 ม.ค. 2017 22.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 90361 ครั้ง

ในบรรดาหนังสือประเภท How to ที่ฉันได้อ่านมา ไม่สามารถเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ได้รับจากอ่านหนังสือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เลย ที่ผ่านมาฉันอยู่ในภาวะใกล้เกลือกินด่าง ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี จนกระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้สูญเสีย กษัตริย์ผู้ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ
การเริ่มต้นศึกษาถึงเรื่องราว ชีวประวัติ และคำสั่งสอนของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง ทำให้ฉันค้นพบว่า เราไม่จำเป็นต้องหา How to ที่ไหนเลย เพราะ How to ที่แท้จริงอยู่ในจิตใจของคนไทยทั้งประเทศอยู่แล้ว พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้กับคนไทยทุกด้านทั้งการ คิด พูด ทำ ....แต่ทำไมตัวฉันถึงไม่ทำ
คนโง่ คือ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน เพราะถ้าไม่รู้ว่าเราบกพร่องตรงไหน เราก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
คนฉลาด คือ คนที่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน และพยายามแก้ไขข้อบกพร่องหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น
คนทุกคนเคยผ่านความโง่มาก่อนที่จะเป็นคนฉลาด ที่ผ่านมาฉันเคยโง่มาก่อน ไม่รู้ว่าคุณค่าที่แท้จริงที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้กับประชาชนมีคุณค่ามหาศาลมากมายขนาดไหน ศาสนาพุทธสอนไว้ว่า “ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ลงมือทำ”
การเริ่มต้นเดินทางของฉันนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ใคร่ขออุทิศตนในการศึกษาเรื่องราว วิธีคิด การดำเนินชีวิตของพระองค์ท่าน ผ่านการจัดทำหนังสือส่วนตัวภายใต้ชื่อ “เรียงร้อยพันเรื่องราวรอยพระบาท” โดยมีเป้าหมายทำ ‘10 เล่ม เล่มละ 100 เรื่องราวรอยพระบาทที่พระองค์ทรงทำ’ โดยใช้ความเพียรที่พระองค์ท่านสอน และเป็นแบบอย่างให้ดูตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่รู้จุดจบที่แน่นอน แต่มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน และทำทุกวันเพื่อถวายแด่องค์ราชันย์มหาราชของคนไทยทุกคน

Website เจ้าของผลงาน www.2b2train.com
Facebook: https://www.facebook.com/ebook4ookbee/
Storylog: https://storylog.co/khwanjai/book/581a5bfd9d526ab1781f27ba

ท่านใดต้องการติดต่อให้เป็นนักเขียนประจำคอลัมภ์ หรือลงวารสาร
ติดต่อได้ที่ email: linpootsm3@gmail.com หรือ Tel 0897333790 (หลิน)


เราเรียนไปเพื่ออะไร

      เราเรียนไปเพื่ออะไร? คำถามนี้ได้ผุดเกิดขึ้นในโสตประสาทของความคิด ในช่วงเช้าวันหนึ่งที่แสนจะวุ่นวายของเหตุการณ์ในห้องฉุกเฉิน ที่เป็นเหมือนเดิมในทุกๆวัน แต่วันนี้แตกต่างจากวันอื่นๆ เพราะวันนี้ฉันได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าทีมที่ปฏิบัติการเองในห้องฉุกเฉิน หรือที่ใครๆในบุคคลากรทางการแพทย์รู้จักกันในนาม Incharge แต่คำถามนั้นยังไม่มีคำตอบ พลันเหตุการณ์เหล่านี้ก็ผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ด

       “เฮ้ฮ! วันนี้ทุกคนขยันผิดหูผิดตา วันอื่นไม่เคยเห็นเป็นอย่างนี้เลย”  เสียงหมอในห้องฉุกเฉินดังขึ้น

       “เช็คของกันยังไง ของขาดเยอะขนาดนี้ ทั้งๆที่เช็ค OK ของกันทุกวัน” เสียงฉันดังขึ้นขณะที่ทำหน้าที่เช็คอุปกรณ์ในรถฉุกเฉินด้วยตัวเอง

       “พี่....อันนั้นขาด!...อันนี้ขาด!......”เสียงประสานดังขึ้น เพื่อบอกให้ฉันทราบ ถึงเหตุการณ์นี้ คิดในใจเป็นยังงี้ได้ไงวะเนี่ย เจอกันอยู่ทุกวัน มาโวยวายเรื่องของขาดในวันนี้

       “ก็บอกแล้ว บอกทุกวัน ไม่เห็นมีใครทำอะไร” เสียงพี่ดาหวัน ดังขึ้นแบบรำคาญ เพื่อบอกให้รู้ถึงสถานการณ์ได้แจ้งของขาดทุกวันแต่ไม่เห็นมีใครทำอะไร

       “วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ของขาด พี่หวันจดมาให้หมด วันนี้จะหามาให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ฉันบอกพี่หวัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสิ่งที่แกโวยวายจะมีคนจัดการให้ ฉันดำเนินการโทรประสานงานหน่วยงานงานต่างๆขอสนับสนุนอุปกรณ์ที่ขาด พร้อมทั้งออกเงินที่มีของหน่วยงานให้ ไปจัดซื้อมาให้ครบ ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ในช่วงบ่ายของวันนั้น และไม่มีคำบ่นใดๆออกจากปากพี่หวันอีกเลย

       ช่วงบ่ายวันเสาร์เป็นช่วงเวลาที่เริ่มได้ผ่อนคลายลงบ้าง จากจำนวนผู้รับบริการที่มีไม่มากนัก วันจันทร์ที่จะถึงนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินต้องออกสอนการช่วยฟื้นคืนชีพให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล

       “น้องช่วยสอนพี่หน่อยนะ พี่ไม่ค่อยได้ลงทีม ส่งไปเรียนมาเยอะแล้ว ช่วยสอนหน่อย”

       “พี่อยากรู้อะไร ดูใน youtube ได้เลยค่ะ” เสียงน้องพยาบาลที่ฉันกำลังพูดด้วย ตอบกลับด้วยความเพิกเฉยต่อคำร้องขอ ของฉัน

       “รู้จักทุนมหิดลมั้ย” ฉันถามน้องพยาบาลคนเดิม

       “ทุนในหลวงนะเหรอ ทำไมจะไม่รู้” เขาตอบกลับเหมือนไม่คิดอะไรมาก

       “ถ้ารู้ช่วยบอกหน่อย ก่อนที่เด็กนักเรียนที่ได้รับทุนเหล่านั้นจะไปเรียน ในหลวงตรัสว่าอะไร” ฉันถามเผื่อว่าเขาจะคิดได้บ้างว่าที่เขารับทุน หรือที่โรงพยาบาลให้งบประมาณเพื่อให้เขาไปเรียน ไปฝึกอบรมพัฒนาความรู้ เพื่อให้เขาเก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น เพื่ออะไร

       “โอ๊ย! ไม่รู้หรอกพี่” เขาตอบกลับเหมือนเริ่มจะรู้สึกรำคาญ

       “ฟังนะ! ในหลวงบอกว่า ‘ทุนของฉันไม่ต้องชดใช้ แต่เมื่อเรียนจบแล้วขอให้นำความรู้ได้มาช่วยเหลือผู้อื่น และพัฒนาบ้านเมือง’..... ไม่ใช่นำความรู้ที่ได้มายกตนเหนือคนอื่น ถือว่าไปเรียนมาแล้วเก่งกว่าคนอื่น ไม่ยอมสอนหรือช่วยเหลือคนอื่น… เวลาเพื่อนขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่พูดว่า ‘ทำไมไม่รู้อีกเหรอ’ ที่พี่ส่งคนหลายๆคนในห้องฉุกเฉินเพื่อไปเรียน จะได้นำความรู้กลับมาเพื่อพัฒนาเพื่อน พัฒนาแผนก และช่วยเหลือคนไข้ ไม่ใช่นำความรู้มายกตนข่มท่าน เก่งอยู่คนเดียว จำไว้ด้วย!”

       ความเงียบบังเกิดขึ้นในห้องฉุกเฉิน หลังจากสิ้นเสียงของฉันที่ดังขึ้น และวินาทีนี้เองที่ฉันสามารถค้นหาคำตอบได้ว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร?

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที