ไม่เคยมีใครในโลกนี้ที่ไม่เคยสูญเสีย โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทุกครั้งที่เกิดความสูญเสีย น้ำตาแห่งความทุกข์ที่กลั่นจากความรู้สึกจะไหลรินออกจากนัยน์ตาจนยากที่จะควบคุม
ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องเล่าอยู่ว่า บ้านหลังหนึ่งต้องสูญเสียบุตรชายที่เพิ่งคลอดออกมาได้ไม่นาน ผู้เป็นแม่มีความโศกเศร้า และกลายเป็นบ้า จึงอุ้มร่างลูกชายที่ตายแล้ว ตระเวนไปทั่วเมือง จนเจอกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้กล่าวว่า ถ้าต้องการให้ลูกชายฟื้น ให้ไปหาเมล็ดผักกาดมาจากบ้านที่ไม่มีคนตายเลยมาให้พระองค์ จนแล้วจนรอดนางก็ไม่สามารถหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายได้เลย และตระหนักรู้ได้ว่าทุกๆ บ้านล้วนแต่เคยมีคนตายมาแล้วทั้งนั้น จนในที่สุดนางจึงได้ทิ้งลูกของนางไว้ที่ป่าช้าและได้ขอบวชเป็นภิกษุณี จนกลายเป็นพระโสดาบันในท้ายที่สุด
วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตบางครั้งเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ โดยเฉพาะในเรื่องสัจจะธรรมของชีวิตที่ว่าด้วยเรื่อง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครเลยที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย
ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ไทยครั้งหนึ่งในอดีต มีบันทึกเล่าว่า
“วันนั้นในหลวงเฝ้าสมเด็จย่า อยู่จนถึงตีสี่ตีห้า เฝ้าแม่อยู่ทั้งคืน จับมือแม่ กอดแม่ ปรนนิบัติแม่ จนกระทั่ง แม่หลับจึงเสด็จกลับ พอไปถึงวังมีโทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์ ในหลวงรีบเสด็จกลับไปโรงพยาบาลศิริราช เห็นสมเด็จย่านอนหลับตาอยู่บนเตียง”
“ในหลวงตรงเข้าไปคุกเข่า กราบลงที่หน้าอกแม่ พระพักตร์ในหลวงตรงกับหัวใจแม่ ซบหน้านิ่งอยู่นานแล้วค่อยๆเงยพระพักตร์ขึ้น ในวินาทีนั่นเองที่น้ำพระเนตรไหลนอง”
“ในหลวงเงยพระพักตร์เห็นหวีปักอยู่ที่ผมแม่ ในหลวงจับหวี ค่อยๆหวีผมให้แม่….หวี...หวี…หวี...หวี...หวี...หวี....ให้แม่สวยที่สุด...แต่งตัวให้แม่....ให้แม่สวยที่สุด...ในวันสุดท้ายของแม่”
ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ประเทศไทยต้องน้ำตาไหลนองทั่วทั้งแผ่นดิน ความโศกาอาดูรได้อุบัติขึ้นในใจคนไทยทั้งประเทศ จนหลายคนบอกว่าได้เข้าใจความรู้สึกของหัวอกแม่พลอย ในเรื่อง
ในวันสุดท้ายที่พระองค์จากไป หลายคนมองแหงนขึ้นไปบนท้องฟ้า มองเห็นก้อนเฆม จนเกิดจินตภาพ มองเห็นสมเด็จย่ามารับในหลวงเสด็จกลับสู่สวรรคาลัย
ชีวิตหลังความตายจะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครที่ทราบได้เพราะหลายคนที่จากไปมิอาจกลับมาเล่าถึงประสบการณ์นั้นได้ ความเป็นจริงความตายไม่ใช่สิ่งไกลตัว เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่าสิ่งนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ดังนั้นความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจะตายเมื่อไหร่ แต่อยู่ที่ว่า ณ ปัจจุบัน เราทำตัวอย่างไร ในหลวงได้ตรัสถึงเรื่องราวเหล่านี้ให้ชาวไทยฟังว่า
“ระลึกถึงความตายวันละ 3 ครั้ง ชีวิตจะมีสุข มีอภัย มีให้...
ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อไปก็ผิดหมด...
ทุกชิ้นงานจะต้องกำหนดวันเวลาแล้วเสร็จ...
จงเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดชีวิต เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอด...
ดาวและเดือนที่อยู่สูง อยากได้ต้องปีนบันไดสูง”
ไม่ว่าเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ไม่สำคัญเลย ที่สำคัญ คือ ณ เวลาปัจจุบัน เราสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง คนรอบข้าง สังคม และประเทศชาติเหมือนกับที่ในหลวงได้เพียรสร้างมาแล้วหรือยัง...
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที