khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 10 ม.ค. 2017 22.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 90363 ครั้ง

ในบรรดาหนังสือประเภท How to ที่ฉันได้อ่านมา ไม่สามารถเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ได้รับจากอ่านหนังสือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เลย ที่ผ่านมาฉันอยู่ในภาวะใกล้เกลือกินด่าง ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี จนกระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้สูญเสีย กษัตริย์ผู้ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ
การเริ่มต้นศึกษาถึงเรื่องราว ชีวประวัติ และคำสั่งสอนของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง ทำให้ฉันค้นพบว่า เราไม่จำเป็นต้องหา How to ที่ไหนเลย เพราะ How to ที่แท้จริงอยู่ในจิตใจของคนไทยทั้งประเทศอยู่แล้ว พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้กับคนไทยทุกด้านทั้งการ คิด พูด ทำ ....แต่ทำไมตัวฉันถึงไม่ทำ
คนโง่ คือ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน เพราะถ้าไม่รู้ว่าเราบกพร่องตรงไหน เราก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
คนฉลาด คือ คนที่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน และพยายามแก้ไขข้อบกพร่องหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น
คนทุกคนเคยผ่านความโง่มาก่อนที่จะเป็นคนฉลาด ที่ผ่านมาฉันเคยโง่มาก่อน ไม่รู้ว่าคุณค่าที่แท้จริงที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้กับประชาชนมีคุณค่ามหาศาลมากมายขนาดไหน ศาสนาพุทธสอนไว้ว่า “ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ลงมือทำ”
การเริ่มต้นเดินทางของฉันนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ใคร่ขออุทิศตนในการศึกษาเรื่องราว วิธีคิด การดำเนินชีวิตของพระองค์ท่าน ผ่านการจัดทำหนังสือส่วนตัวภายใต้ชื่อ “เรียงร้อยพันเรื่องราวรอยพระบาท” โดยมีเป้าหมายทำ ‘10 เล่ม เล่มละ 100 เรื่องราวรอยพระบาทที่พระองค์ทรงทำ’ โดยใช้ความเพียรที่พระองค์ท่านสอน และเป็นแบบอย่างให้ดูตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่รู้จุดจบที่แน่นอน แต่มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน และทำทุกวันเพื่อถวายแด่องค์ราชันย์มหาราชของคนไทยทุกคน

Website เจ้าของผลงาน www.2b2train.com
Facebook: https://www.facebook.com/ebook4ookbee/
Storylog: https://storylog.co/khwanjai/book/581a5bfd9d526ab1781f27ba

ท่านใดต้องการติดต่อให้เป็นนักเขียนประจำคอลัมภ์ หรือลงวารสาร
ติดต่อได้ที่ email: linpootsm3@gmail.com หรือ Tel 0897333790 (หลิน)


ความคุ้มค่าของปริญญาที่ได้รับ

        ครั้งหนึ่งที่ฉันได้มีโอกาสไปศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย เห็นว่าถึงเทศกาลรับปริญญาของมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งที่ในประเทศนี้และประเทศอื่นๆ ที่เพื่อนชาวต่างชาติเล่าให้ฟังว่าเป็นอะไรที่เรียบง่ายมากๆ บางครั้งบัณฑิตแต่ละคน เพียงแค่เดินแถวหยิบใบปริญญาที่วางอยู่ในตะกร้าเท่านั้น และที่สำคัญ คือ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่พระมหากษัตริย์จะลงมามอบใบรับปริญญาด้วยตัวพระองค์เอง

         พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหนังสือเรื่องสมาธิ ไว้ว่า “…พระองค์ทรงนั่นอยู่บนเก้าอี้ที่ประทับได้เป็นเวลานานติดต่อกันประมาณ 2-3 ชั่วโมง ทรงรับปริญญาบัตรที่เจ้าหน้าที่ทูลเกล้าถวายแล้วพระราชทานให้แก่บัณฑิตเหล่านั้น คนแล้วคนเล่า บางครั้งรวมเป็นจำนวน 2,000 ถึง 3,000 คน โดยไม่ทรงมีพระกิริยาที่ส่อความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า หรือเบื่อหน่าย พระวรกายอยู่ในท่าตรงเช่นนั้น จนเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจ”

         ตลอดช่วงปี 2493 -2541 ได้พระราชทานปริญญาบัตรกว่า 5 แสนฉบับใช้เวลากว่า 2 หมื่นชั่วโมง เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรจำนวนกว่า 770,000 คน น้ำหนักประมาณ 220 ตัน เท่ากับ รถบรรทุกสิบล้อถึง 10 คัน คันละ 22 ตัน

        มีหลายคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่าทำไมเพราะองค์ถึง ทำเช่นนั้น ท่านอาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้ที่ทำงานถวายพระองค์ท่านได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการทรงงานของพระองค์ท่าน ที่เคยตรัสไว้ว่า

 

“…สิ่งไหนที่ทำแล้วคุ้ม ให้ทำ...”

 

         ความหมายของพระองค์ท่านเกี่ยวกับคำว่า คุ้ม คือ คุ้มค่า ไม่ใช่คุ้มทุน คนอื่นๆเวลาจะทำอะไรเขาต้องคิดถึงความคุ้มทุน ความหมายของความคุ้มทุน คือ ทำแล้วได้กำไร แต่สำหรับพระองค์ท่านทำแล้วต้องคุ้มค่า ความหมายของความคุ้มค่า คือ ทำสิ่งไหนแล้วประชาชนมีความสุข สิ่งนั้นคือความคุ้มค่า

 

และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไม พระองค์ท่านจึงต้องลำบากพระวรกายเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรเอง  ครั้งหนึ่งได้มีผู้กราบบังคมทูลให้ทรงลดการเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรลงบ้าง ให้คงลดเหลือเพียงระดับปริญญาโทเท่านั้น พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งตอบว่า

 

“พระองค์เสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาทีเท่านั้น แต่ผู้นั้นได้รับความสุขเป็นปีๆ เปรียบกันไม่ได้เลย”

         มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2528 ในขณะที่พิธีพระราชทายปริญญาบัตร...เกิดไฟฟ้าดับ ทำให้มีบัณฑิต 6 คนไม่ได้รับพระราชทางปริญญาบัตรจากฝีพระหัตถ์ไว้เป็นที่ระลึก...สิ่งที่ไม่คาดคิดก็บังเกิดขึ้น เมื่อเสร็จพระราชพิธี พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่า

 

“.ให้ไปตามบัณฑิต 5-6 คนนั้น ขึ้นมารับปริญญาใหม่อีกครั้ง”

 

          และนี่คือเหตุผลว่าทำไมที่พระองค์ท่าน ทรงให้ความสำคัญกับการพระราชทานปริญญาบัตรเพราะพระองค์ท่าน คงมีความหวังในใจลึกๆว่า ขอให้บัณฑิตที่ได้รับไปทำงานเพื่อประเทศชาติ  เพื่อความคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้เรียนมา และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที