khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 10 ม.ค. 2017 22.34 น. บทความนี้มีผู้ชม: 90704 ครั้ง

ในบรรดาหนังสือประเภท How to ที่ฉันได้อ่านมา ไม่สามารถเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ได้รับจากอ่านหนังสือ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เลย ที่ผ่านมาฉันอยู่ในภาวะใกล้เกลือกินด่าง ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี จนกระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ปวงชนชาวไทยได้สูญเสีย กษัตริย์ผู้ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ
การเริ่มต้นศึกษาถึงเรื่องราว ชีวประวัติ และคำสั่งสอนของพระองค์ท่านอย่างจริงจัง ทำให้ฉันค้นพบว่า เราไม่จำเป็นต้องหา How to ที่ไหนเลย เพราะ How to ที่แท้จริงอยู่ในจิตใจของคนไทยทั้งประเทศอยู่แล้ว พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้กับคนไทยทุกด้านทั้งการ คิด พูด ทำ ....แต่ทำไมตัวฉันถึงไม่ทำ
คนโง่ คือ คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน เพราะถ้าไม่รู้ว่าเราบกพร่องตรงไหน เราก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
คนฉลาด คือ คนที่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน และพยายามแก้ไขข้อบกพร่องหรือพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น
คนทุกคนเคยผ่านความโง่มาก่อนที่จะเป็นคนฉลาด ที่ผ่านมาฉันเคยโง่มาก่อน ไม่รู้ว่าคุณค่าที่แท้จริงที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้กับประชาชนมีคุณค่ามหาศาลมากมายขนาดไหน ศาสนาพุทธสอนไว้ว่า “ธรรมใดก็ไร้ค่า ถ้าไม่ลงมือทำ”
การเริ่มต้นเดินทางของฉันนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ใคร่ขออุทิศตนในการศึกษาเรื่องราว วิธีคิด การดำเนินชีวิตของพระองค์ท่าน ผ่านการจัดทำหนังสือส่วนตัวภายใต้ชื่อ “เรียงร้อยพันเรื่องราวรอยพระบาท” โดยมีเป้าหมายทำ ‘10 เล่ม เล่มละ 100 เรื่องราวรอยพระบาทที่พระองค์ทรงทำ’ โดยใช้ความเพียรที่พระองค์ท่านสอน และเป็นแบบอย่างให้ดูตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่รู้จุดจบที่แน่นอน แต่มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน และทำทุกวันเพื่อถวายแด่องค์ราชันย์มหาราชของคนไทยทุกคน

Website เจ้าของผลงาน www.2b2train.com
Facebook: https://www.facebook.com/ebook4ookbee/
Storylog: https://storylog.co/khwanjai/book/581a5bfd9d526ab1781f27ba

ท่านใดต้องการติดต่อให้เป็นนักเขียนประจำคอลัมภ์ หรือลงวารสาร
ติดต่อได้ที่ email: linpootsm3@gmail.com หรือ Tel 0897333790 (หลิน)


แหวกว่ายอยู่ในน่านน้ำ: Process Innovation

        หัวใจหลักของกลยุทธ์ของ น่านน้ำสีคราม คือการสร้างนวัตกรรม เป็นการสร้างสิ่งใหม่หรือการสร้างความต้องการใหม่ๆให้กับลูกค้าหรือเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าที่มีอยู่

”จบแล้วหรือครับ เร็วจัง...” เสียงผู้ชายคนหนึ่งพูดขึ้นในห้องประชุมหลังจากที่ฉันบรรยายไปได้ เกือบ 2 ชั่วโมงเท่ากับเวลาที่เขามีให้

“เป็นยังไงบ้างค่ะ เกิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นบ้างมั้ย” ฉันถามเพื่อประเมินผลการสอนของฉัน ซึ่งฉันได้นำกลยุทธ์น่านน้ำสีครามมาสอนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังจากที่เพิ่งเรียนจบหลักสูตร Mini MBA in Heath จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน

“ผมเกิดความคิดใหม่ๆมากเลยครับ เดี๋ยวจะเอาทำในแผนก ถ้ามีสอนเรื่องนี้อีก บอกด้วยนะครับจะมาฟัง” พนักงานคนหนึ่งตอบพร้อมกับเผยรอยยิ้มออก ให้กับแผนการพัฒนาของตนเองที่อยู่ในใจ

        หัวใจหลักของการสอนเรื่องนวัตกรรม คือ ผู้เรียนต้องเกิดความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องต่างๆ นวัตกรรมไม่ใช่เพียงแต่สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระบวนการใหม่ๆด้วย คนญี่ปุ่นกล่าวว่า

“ผลลัพธ์ ไม่สำคัญเท่ากับ กระบวนการเรียนรู้ที่ได้มาซึ่งผลลัพธ์”

          ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอย่างมาก เราเรียกว่า กระบวนการนวัตกรรมหรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘process innovation’ คนญี่ปุ่นจึงได้ชื่อว่า เป็นพวก ‘Slow but sure’

          พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้กระบวนการนวัตกรรม ในการสร้างสิ่งใหม่เพื่อปวงชนชาวไทยมากมาย กว่าจะได้มาซึ่งฝนหลวง ที่ภาษานวัตกรรมเรียกว่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘product  innovation’ ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ สร้างกระบวนการนวัตกรรมต่างๆมานานนับสิบปี ทุกครั้งที่ล้มเหลวก็ปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ๆอยู่นาน จนในที่สุดก็ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ

        ครั้งหนึ่งในหลวงต้องการเปลี่ยนชีวิตของชาวเขาที่ปลูกฝิ่นเป็นอาชีพ ให้เปลี่ยนเป็นพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น ชา สตอเบอร์รี่ แอปเปิ้ล แนวคิดในตอนนั้นคือ ‘การปลูกอย่างอื่นก็สามารถสร้างรายได้ไม่แพ้การปลูกฝิ่นหรือมากกว่าฝิ่นด้วยซ้ำ’  ในครั้งแรกในหลวงนำพันธุ์พืชเหล่านี้ให้ชาวปลูก พอปลูกได้ผลผลิต ก็จะนำไปขาย แต่ปัญหายิ่งใหม่ที่ตามมาหลังจากสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดชาวเขาได้แล้วคือ ไม่มีตลาดรองรับและไม่มีใครรับซื้อ ท่านทรงรับซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวเขาไว้ทั้งหมด แม้ว่าจะไม่สามารถระบายสินค้าได้ ท่านทรงคิดแต่เพียงว่า ถ้าเขาปลูกได้เราจะรับไว้ทั้งหมดแม้ว่าจะเสียพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มากมาย เพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือ การเปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวเขา และนั่นก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า....

“ขาดทุน คือกำไร”

         ถ้าเราคนไทยจะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ดีขึ้นในชีวิต การหัวใจหลักของการพัฒนา คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เหมือนที่พระองค์ท่านทำความเข้าใจ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา คลุกคลีกับชาวเขา จนทรงทราบว่าปัญหาคืออะไร และนำมาซึ่งการคิดกระบวนการต่างๆเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา และในที่สุดก็สามารถเปลี่ยนภูเขาทุกลูกที่ปลูกฝิ่นในประเทศไทย ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ...

“การพัฒนาสิ่งใด ขอให้ทำด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”-พระราชดำรัสฯ-

         ดังนั้น ถ้าเราจะพัฒนาในเรื่องใด เราก็ต้องเริ่มพัฒนาโดยปรับเปลี่ยนที่ความคิดเราก่อน เราจะเดินไปสู่จุดไหน จะทำอะไร และหลักจากนั้นเราก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ก่อน และจุดเล็กนั่น ก็จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหม่

“Change something , Something is changed”-khwanjai-

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที