โอกาสการค้าและการลงทุนอัญมณีและเครื่องประดับในเวียดนาม
เวียดนามนับเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจรุกเจาะตลาดเครื่องประดับ เนื่องด้วยเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 94 ล้านคน อีกทั้งเศรษฐกิจขยายตัวสูงต่อเนื่องแม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ตาม โดยในปี 2558 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตถึงร้อยละ 6.68 และไอเอ็มเอฟคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.10 ในปี 2559 ส่งผลให้ชาวเวียดนามมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จำนวนชนชั้นกลางและเศรษฐีขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยชาวเวียดนามมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวราว 6,036 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนถึงร้อยละ 37 แม้ว่าปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบอัญมณีโดยเฉพาะทับทิมและแซปไฟร์ในแหล่งผลิตต่างๆ ของเวียดนามจะลดน้อยลง รวมถึงตลาดเครื่องประดับในเวียดนามจะยังมีขนาดไม่ใหญ่นัก หากแต่มีศักยภาพขยายตัวได้สูงในอนาคต ดังนั้น เวียดนามจึงเป็นตลาดที่ไทยไม่ควรมองข้าม และควรเร่งหาช่องทางเจาะตลาดขยายฐานลูกค้า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านตัวแทนจำหน่าย/ผู้นำเข้า/คู่ค้าไปยังเวียดนาม ก็น่าจะทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งนอกอาเซียนไม่น้อยทีเดียว
1) แหล่งวัตถุดิบพลอยสีในเวียดนาม
ในอดีตเวียดนามเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบอัญมณีนานาชนิดกระจายอยู่ทั่วประเทศ การสำรวจแร่เพื่อทำเหมืองพลอยสีในเวียดนามเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2531 ในจังหวัดเหงะอาน และเขตลุกเยน จังหวัดเยนไบ ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งทับทิมแหล่งใหญ่อันดับต้นๆ ของเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นแหล่งไพลินและพลอยเนื้ออ่อน เช่น สปิเนล เบริล และโทแพซอีกด้วย ต่อมาได้มีการค้นพบแหล่งอัญมณีอีกหลายแหล่งกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ อาทิ เมืองเว้ ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ เป็นแหล่งพลอยเนื้ออ่อนจำพวกอะความารีน เพทาย เพริดอต และแอเมทิสต์ เมืองดักนอง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเป็นแหล่งแซปไฟร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะไพลิน รวมถึงพลอยเนื้ออ่อน เช่น ควอตซ์ แอเมทิสต์ และโทแพซ เป็นต้น โดยคาดว่าในเวียดนามมีเหมืองพลอยสีไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเท่าที่ควร ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนบริษัทเอกชนต่างชาติที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาสำรวจและทำเหมืองในเวียดนามเพิ่มขึ้นแทน หากแต่ปัจจุบันเหมืองพลอยสีในเวียดนามมีปริมาณการผลิตลดน้อยลง รวมถึงคุณภาพพลอยสีก็ลดต่ำลงด้วยเช่นกัน
สำหรับเขตลุกเยนนั้นยังเป็นศูนย์กลางการซื้อขายวัตถุดิบพลอยสี โดยมีตลาดค้าอัญมณีที่มีชื่อว่า Luc Yen Gem Market ซึ่งผู้ซื้อสามารถเข้ามาเลือกซื้อพลอยสีจากผู้ขายที่ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นที่ทำเหมืองในแหล่งนี้ได้โดยตรง ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเยนไบประมาณ 100 กิโลเมตร โดยอยู่ในบริเวณ Yen The Town และมีขนาดพื้นที่ราว 1,000 ตารางเมตร ตลาดนี้เปิดขายทุกวันในช่วงเช้าระหว่างเวลา 7.00 - 10.00 น. โดยเฉพาะในวันอาทิตย์จะมีการซื้อขายอัญมณีคึกคักกว่าวันอื่นๆ อัญมณีที่นำมาวางขายส่วนใหญ่เป็นทับทิม สปิเนล โอปอล และหยก เมื่อถึงเวลาเปิดตลาดผู้ขายจะนำอัญมณีออกมาขายโดยวางบนโต๊ะไม้เล็กๆ มีจำนวนประมาณ 30 – 40 โต๊ะ ทั้งนี้ อัญมณีที่จำหน่ายมีทั้งแบบเจียระไนแล้วและยังไม่ได้เจียระไน และบางครั้งช่างฝีมือยังผลิตเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีวางจำหน่ายด้วย สำหรับราคาขายขึ้นอยู่กับชนิดของอัญมณี ราคาเริ่มตั้งแต่ 1,000 ดองไปจนถึงหลายร้อยล้านดอง โดยลูกค้ามักจะตรวจประเมินอัญมณีอย่างคร่าวๆ และจะต่อรองราคาซื้อขายตามความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามจากฮานอยและโฮจิมินห์ และมีลูกค้าจากต่างชาติบ้างเล็กน้อย เช่น ไทยและประเทศอื่นๆ
ภาพบรรยากาศในตลาดลุกเยน จาก http://www.tiranthotel.com/travel-news/luc-yen-gem-market/p113.html
นอกจากนี้ บริเวณตลาดแห่งนี้ยังมีการจำหน่ายภาพศิลปะตกแต่งจากอัญมณีแท้เม็ดเล็กสีสันต่างๆ ได้แก่ โกเมน ทับทิม สปิเนล ไพลิน เพริดอต คาลซิโดนี ฟลูออไรท์สีม่วง และแอเมทิสต์ ซึ่งกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นอย่างมาก แต่ละภาพมีราคาหลายร้อยล้านดอง ทั้งนี้ มีโรงงานผลิตภาพประดิษฐ์ตกแต่งอัญมณีแท้ราว 100 แห่งตั้งอยู่โดยรอบ ซึ่งสร้างงานให้แก่แรงงานหลายพันคนเมื่อเทียบกับโรงผลิตไม่กี่แห่งในช่วงเริ่มประกอบอาชีพนี้ และทำการจำหน่ายสินค้าไปยังส่วนต่างๆ ของเวียดนาม โดยเฉพาะร้านค้าในฮานอยและโฮจิมินห์
โรงงานผลิตภาพประดิษฐ์จากอัญมณีและตัวอย่างภาพตกแต่งด้วยอัญมณีแท้ที่วางขายในตลาดลุกเยน
จาก http://www.tiranthotel.com/travel-news/luc-yen-gem-market/p113.html
แม้ว่าในอดีตเขตลุกเยนจะเป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงามและคุณภาพสูง ประกอบกับมีราคาไม่แพงนักเมื่อเทียบกับราคาวัตถุดิบในประเทศอื่น ส่งผลให้ตลาดแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายวัตถุดิบพลอยสีที่สำคัญในเวียดนาม โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการชาวไทยที่เข้ามาบุกเบิกทำเหมืองอัญมณีในเวียดนามและเป็นนายหน้ากว้านซื้อวัตถุดิบพลอยสี โดยรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการรับซื้อผลผลิตทับทิมของเวียดนามเพื่อส่งกลับไปปรับปรุงคุณภาพในประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังจากปี 2543 การทำเหมืองและการค้าขายพลอยสีในเวียดนามเริ่มซบเซาลง เนื่องจากพ่อค้าชาวไทย
ส่วนใหญ่ที่ควบคุมตลาดการซื้อวัตถุดิบพลอยสีในเวียดนามต่างย้ายไปรับซื้อในประเทศมาดากัสการ์แทนหลังจากที่มีการค้นพบอัญมณีที่แหล่ง Ilakaka ในปี 2542 รวมถึง แหล่ง Vatomandry และ Andilamena ในปี 2543 ขณะเดียวกันผลผลิตจากการทำเหมืองพลอยสีในเวียดนามก็ลดน้อยลงมาก และคุณภาพของพลอยสีโดยเฉพาะทับทิมก็ลดต่ำลง เรียกได้ว่าแทบไม่มีพลอยน้ำงามที่มีคุณภาพหลงเหลืออยู่เลย ส่วนคุณภาพของพลอยเนื้ออ่อนที่ได้จากแหล่งผลิตในเวียดนามก็เทียบกับคุณภาพพลอยจากแอฟริกาหรืออเมริกาใต้ไม่ได้ ดังนั้น ปัจจุบันเวียดนามจึงไม่มีศักยภาพในด้านแหล่งวัตถุดิบอัญมณีเท่าใดนัก และไม่มีความน่าสนใจในการเข้าไปแสวงหาวัตถุดิบพลอยสีหรือลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ในเวียดนามอีกต่อไป
2) ตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเวียดนาม
เวียดนามเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 94 ล้านคน ประชาชนมีรายได้และกำลังซื้อสูงตามการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งขยายตัวอย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีค่านิยมในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น รวมถึงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อแสดงออกถึงฐานะที่ดีขึ้น ปัจจุบันตลาดเครื่องประดับเวียดนามยังมีขนาดไม่ใหญ่นัก โดยมีมูลค่าราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องประดับ-ทองถือเป็นส่วนตลาดที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเครื่องประดับทุกประเภท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในตลาดเครื่องประดับเวียดนามประมาณการไว้ว่าชาวเวียดนามใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องประดับทองในแต่ละปีมากกว่า 3.5 พันล้านเหรียญ-สหรัฐ และตลาดยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นได้อีกจากการเพิ่มจำนวนของชนชั้นกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองเพื่อสะท้อนฐานะทางสังคมและเพื่อสะสมเป็นสินทรัพย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
2.1) พฤติกรรมการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับ
ชาวเวียดนามมีความนิยมทองคำและเครื่องประดับทองโทนสีเหลืองมาช้านาน โดยส่วนใหญ่แล้วการตัดสินใจเลือกซื้อทองคำของชาวเวียดนามมักมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสินทรัพย์สะสมความมั่งคั่งอย่างหนึ่งแทนการออมเงิน โดยผู้บริโภคชาวเวียดนามจะมีรสนิยมแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค
ภูมิภาคทางตอนใต้ ภูมิภาคทางตอนใต้อันเป็นที่ตั้งของนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของประเทศ เป็นภูมิภาคที่มีระดับความเจริญทางเศรษฐกิจสูงกว่า ทำให้ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้มีระดับรายได้เฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อแบรนด์และดีไซน์ของสินค้ามากขึ้น สำหรับสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง คือ เครื่องประดับทองโทนสีเหลืองขนาด 24 กะรัต ลวดลายดั้งเดิมและมีกลิ่นอายสไตล์ท้องถิ่นแฝงอยู่ รวมทั้งเครื่องประดับทองขาว 18 กะรัตที่ประดับตกแต่งด้วยเพชรตามสไตล์ตะวันตก นอกจากนี้ เครื่องประดับกึ่งสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้ประดับตกแต่งอัญมณีบริเวณหัวแหวน หรืออัญมณีเม็ดหลักสำหรับจี้หรือต่างหู เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของผู้มีรายได้สูง ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะเลือกซื้ออัญมณีตามความต้องการของตนเองเพื่อให้ทางร้านทำการฝังลงบนตัวเรือน
แบรนด์ PNJ ของเวียดนาม
ภูมิภาคทางตอนเหนือ ผู้บริโภคในภูมิภาคตอนเหนือมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างประหยัดและรสนิยมค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม จึงให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยและความคงทนของสินค้ามากกว่าความสวยงาม โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงในตลาดนี้ คือ เครื่องประดับทองโทนสีเหลืองที่มีค่าความบริสุทธิ์ 8, 10, 14, 18 และ 24 กะรัต โดยเฉพาะลวดลายดอกกุหลาบที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมของเครื่องประดับเวียดนาม รวมถึงลายดอกบัว ใบไม้ ผลไม้ และอาจประดับด้วยพลอยสีเม็ดใหญ่
โอกาสสำคัญที่ชาวเวียดนามนิยมหาซื้อเครื่องประดับมักอยู่ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเทศกาลเต็ด (Tet) หรือตรุษเวียดนาม ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ งานวันเกิด ซึ่งชาวเวียดนามนิยมหาซื้อเครื่องประดับเพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่กัน รวมทั้งงานมงคลสมรสที่นิยมจัดขึ้นในฤดูหนาว ยังเป็นอีกโอกาสสำคัญในการเลือกซื้อเครื่องประดับสำหรับบ่าวสาวชาวเวียดนาม โดยเฉพาะแหวนแต่งงานสองวงสำหรับคู่บ่าวสาวแลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งเครื่องประดับสำหรับเจ้าสาวประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู ซึ่งตามประเพณีแต่งงานของชาวเวียดนามครอบครัวฝ่ายชายจะเป็นผู้มอบเครื่องประดับเหล่านี้เป็นของหมั้นหมายเจ้าสาวในพิธีแต่งงานในช่วงเช้า
2.2) สถานการณ์การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย-เวียดนาม
นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ไทยและเวียดนามมีมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างกันเฉลี่ยกว่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2559 ไทยส่งออกไปเวียดนามคิดเป็นมูลค่า 7.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 4.88 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.07 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยสินค้าส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องประดับเงิน (+9.39%) เพชรเจียระไน (-23.46%) และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน (+405%) ตามลำดับ สำหรับบริษัทผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังเวียดนาม 3 อันดับแรก ได้แก่ บจก.แพนดอร่า เซอร์วิสเซส บจก.บราวน์ เดียม และบมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่ ตามลำดับ
ด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากเวียดนามเป็นมูลค่า 4.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 64.31 โดยสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน (+6,007.50%) เครื่องประดับเทียม (+3.86%) เครื่องประดับเงิน (-17.78%) และไข่มุก (+2.30%)
3) โอกาสขยายการค้าและการลงทุนในเวียดนาม
ภายใต้กรอบการเปิดเสรีอาเซียนทำให้นักธุรกิจอาเซียนเข้าไปทำการค้าและการลงทุนในเวียดนามได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยการเข้าสู่ตลาดเวียดนามทำได้หลายรูปแบบทั้งการเข้าร่วมออกบูธงานแสดงสินค้า ซึ่งปัจจุบันเวียดนามมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับปีละ 2 ครั้ง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นงาน International Jewelry+Watch Vietnam (IJV Show) มีบริษัท World Trade Fair (International) Ltd ของฮ่องกง และ VCCI Exhibition Service Co. Ltd ของเวียดนามเป็นผู้จัดงาน ส่วนช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นงาน Vietnam International Jewelry Fair จัดงานโดย Saigon Jewelry Company (SJC) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใหญ่ของเวียดนาม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย/ผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าชาวเวียดนามได้ ทั้งนี้ เวียดนามไม่มีข้อกีดกันการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และปัจจุบันภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับในเวียดนามภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนก็ลดลงเป็นร้อยละ 0 แล้ว หากแต่ผู้ส่งออกไทยจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงนี้ได้ก็ต่อเมื่อผลิตสินค้าได้ตามกฎเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียน และจะต้องขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D จากกรมการค้าต่างประเทศเพื่อแสดงต่อศุลกากรของเวียดนาม โดยรายละเอียดว่าด้วยเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้ามีดังนี้
1) เกณฑ์การผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศผู้ส่งออกทั้งหมด (Wholly Obtained: WO) ซึ่งสินค้าที่จะผ่านเกณฑ์นี้ได้จะต้องใช้วัตถุดิบและผ่านกระบวนการผลิตภายในประเทศไทยเท่านั้น
2) เกณฑ์กระบวนการผลิตที่ผ่านการแปรสภาพอย่างเพียงพอในประเทศตามเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัด (Change in Tariff Classification) ในระดับ 4 หลัก หมายถึง เมื่อนำเข้าวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการผลิตแล้วมีการเปลี่ยนจากพิกัดหนึ่งไปเป็นสินค้าในประเภทพิกัดอื่น
3) เกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าสะสมจากประเทศสมาชิกอาเซียน (Regional Value Content: RVC) หมายถึง สินค้าส่งออกที่ผลิตขึ้นโดยมิได้ใช้วัตถุดิบของประเทศผู้ส่งออกทั้งหมด แต่มีสัดส่วนของต้นทุนวัตถุดิบและการเพิ่มมูลค่าจากประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของราคาสินค้าตาม FOB จึงจะถือได้ว่าสินค้านั้นมีแหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศอาเซียน
ตารางอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเวียดนาม
ในแง่การลงทุน เวียดนามนับเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจลงทุน เนื่องด้วยมีแรงงานจำนวนมากที่มีทักษะฝีมือสูงแต่ค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำ นโยบายภาครัฐที่เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงการเมืองที่มีเสถียรภาพจากการที่ประเทศเวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมและมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามยังสามารถใช้ประโยชน์จากสถานะประเทศด้อยพัฒนา (Least Developed Countries: LDCs) ซึ่งเวียดนามได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preference: GSP) ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศพัฒนาแล้วได้อีกด้วย
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานช่างเจียระไนและช่างผลิตเครื่องประดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพิจารณาเข้าไปดำเนินกิจการในเวียดนามจากประโยชน์ดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยการลงทุนในเวียดนามมี 2 รูปแบบคือ 1) การเปิดบริษัทเพื่อเปิดร้านค้าปลีกเครื่องประดับในย่านการค้าหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งในกรณีนี้จะต้องร่วมทุนกับคนท้องถิ่น 2) การตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับ หากลงทุนโดยตรงในเขต Industrial Zone หรือ Special Economic Zone ต่างชาติจะสามารถถือหุ้นได้ 100% อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงบ่อย อีกทั้งระเบียบกฎเกณฑ์การลงทุนของจังหวัดต่างๆ ในเวียดนามมีความแตกต่างกัน โดยอำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ หรือการเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงของลูกจ้างที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย เป็นต้น ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงต้องศึกษาพิจารณาปัญหาและอุปสรรคควบคู่ไปด้วย
ตัวอย่างแบรนด์เครื่องประดับต่างชาติในเวียดนาม
As-Me Estelle (ญี่ปุ่น) Dione (เกาหลีใต้) Pandora (เดนมาร์ก) Prima Gold (ไทย) Tomie (มาเลเซีย)
บริษัทไทยที่เข้าไปจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องประดับในเวียดนาม
Prima Gold และ Marigot Jewelry (บริษัทผลิตเครื่องประดับเทียมในเครือบริษัท Swarovski)
โอกาสและอุปสรรคการค้าและการลงทุนในเวียดนาม
ที่มา: ศูนย์อาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังเวียดนามไม่มีข้อจำกัดใดๆ และจะไม่เสียภาษีนำเข้าหากสินค้าเป็นไปตามเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียน แต่ในทางตรงกันข้ามเครื่องประดับนำเข้าจากเวียดนามมายังไทยส่วนใหญ่ยังต้องเสียภาษีนำเข้า เนื่องด้วยไม่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียน เพราะเวียดนามนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าได้สูงตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียน ทั้งนี้ สินค้าเครื่องประดับแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันทั้งในด้านกระบวนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ จึงอาจทำให้สินค้าบางประเภทได้แหล่งกำเนิดตามเกณฑ์ที่กำหนดค่อนข้างยาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีส่วนประกอบหลักเป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากประเทศอื่นๆ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถผลิตสินค้าได้ตามเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กอาจไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า อีกทั้งอาจยังไม่ทราบถึงการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องการใช้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้อีกทางหนึ่งด้วย
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที
- ตอนที่ 1 : โอกาสการค้าและการลงทุนอัญมณีและเครื่องประดับในเวียดนาม