GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 18 ต.ค. 2016 04.23 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1783 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอ "เครื่องประดับแท้ของไทยยังแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้หรือไม่?" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


เครื่องประดับแท้ของไทยยังแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้หรือไม่?

ไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับแท้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศมานาน ด้วยจุดเด่นของชิ้นงานที่มีความประณีตซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นจากฝีมือช่างทักษะสูง การรักษาคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมอันเป็นจุดเด่นของผู้ประกอบการไทย ทำให้เครื่องประดับแท้ของไทยไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงินหรือเครื่องประดับทอง สามารถทำรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยตลาดสำคัญที่มีความต้องการนำเข้าเครื่องประดับแท้จากไทยเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออก รายใหญ่อันดับ 1 สำหรับการส่งออกเครื่องประดับเงิน และเป็นอันดับ 2 สำหรับการส่งออกเครื่องประดับทองของไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบหลายประการที่เกื้อหนุนต่อการเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับแท้รายใหญ่ของโลกมานาน แต่หากสังเกตตัวเลขการส่งออกเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับของไทยไปสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลับมีทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีสัญญาณการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่ง โดยเฉพาะอินเดีย ที่ขึ้นแซงหน้าไทยมาเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินรายใหญ่ของโลกได้ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้มีข้อกังวลว่าไทยจะยังคงความสามารถในการส่งออกไปยังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้เช่นที่ผ่านมาหรือไม่ และผู้ประกอบการไทยควรจะปรับตัวอย่างไรในภาวะที่ไม่แน่นอนเช่นนี้
 
ไทยยังคงตำแหน่งเบอร์ 1 แหล่งนำเข้าเครื่องประดับเงินในสหรัฐฯ...แต่มูลค่าเริ่มชะลอลง 

ไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเงินสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ และสามารถครองความเป็นผู้นำในตลาดสหรัฐฯ มาตลอดตั้งแต่ปี 2552 อีกทั้งไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับเงินสหรัฐฯ ได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 44 และร้อยละ 47 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญอย่างจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 2 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 19 ในปี 2558 และร้อยละ 16 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 หากแต่ในช่วงที่ผ่านมา จีนมีความสามารถในการทำตลาดเครื่องประดับเงินในสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านอินเดียซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 เป็นที่น่าสังเกตว่ามีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับแม้จะยังมีสัดส่วนไม่มากนัก จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 8 ในปี 2549 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 16 ในปี 2558 และร้อยละ 14 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 สะท้อนความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่วนอิตาลีซึ่งมีความโดดเด่นของสินค้าแบรนด์เนมที่มีดีไซน์ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 4 ของสหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลจากการอุปสงค์ต่อเครื่องประดับเงินราคาสูงชะลอลงตามสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ซบเซา โดยส่วนแบ่งตลาดของอิตาลีลดลงจากร้อยละ 15 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 7 ในปี 2558 และเท่ากันกับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 ด้านอินโดนีเซียซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 5 มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 2 และมีสัดส่วนค่อนข้างคงที่มาตลอด
 

 

    

แผนภาพที่ 1 สัดส่วนการนำเข้าเครื่องประดับเงินของสหรัฐฯ จากแหล่งนำเข้าสำคัญ ปี 2549-2559
ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


 
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันไทยยังครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเงินอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ไว้ได้ แต่ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากการส่งออกที่ราวครึ่งหนึ่งเป็นของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ขณะที่การส่งออกอีกครึ่งหนึ่งเป็นของผู้ประกอบการไทยเอง หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการไทยจะพบว่า  มีสัดส่วนมากกว่าคู่แข่งอย่างจีนและอินเดียไม่มากนัก อีกทั้งสถานะผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังตลาดโลกของไทยก็กำลังถูกสั่นคลอนจากอินเดียที่สามารถก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 แทนไทยได้ในปี 2557-2558 เนื่องจากอินเดียมีกลยุทธ์รุกตลาดเครื่องประดับเงินอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการเข้าไปเทคโอเวอร์และร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ เช่น Frederick Goldman และ Sandberg & Sikorski ทำให้อินเดียมีข้อได้เปรียบด้านช่องทางการตลาด อีกทั้งอินเดียยังเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในการส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังสหรัฐฯ ผนวกกับภาครัฐของอินเดียเองก็สนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับทุกรายที่ออกไปร่วมงานและหาลูกค้าในงานแสดงสินค้าทั่วโลก ภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังเผชิญการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น หากไม่เร่งปรับตัวก็มีโอกาสจะถูกโค่นตำแหน่งแหล่งนำเข้าเครื่องประดับเงินอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ได้ในไม่ช้า

หากพิจารณาภาวะการส่งออกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ทิศทางการส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยไปยังสหรัฐฯ กลับชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกเครื่องประดับเงินเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปี 2557 มูลค่าการส่งออกได้หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ (ยกเว้นปี 2551 ที่สหรัฐฯ เริ่มประสบปัญหาวิกฤติซับไพรม์) อยู่ที่ร้อยละ 6.92 และยังหดตัวต่อเนื่องถึงร้อยละ 11.03 ในปี 2558 และ 12.32 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อการส่งออกเครื่องประดับเงินไปสหรัฐฯ ประกอบไปด้วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและชะลอการซื้อเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยลง อีกทั้งการที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ทำให้ผู้นำเข้าเครื่องประดับเงินจากไทยต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 5 จากเดิมที่เคยได้รับยกเว้น ส่งผลให้ไทยสูญเสียข้อได้เปรียบทางด้านภาษีลงไป ขณะเดียวกันราคาวัตถุดิบทองคำและแพลทินั่มที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงปี 2558 ฉุดให้ราคาเครื่องประดับทองและเครื่องประดับแพลทินั่มต่ำลงมาจนใกล้เคียงกับเครื่องประดับเงินระดับพรีเมี่ยม ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงหันไปเลือกซื้อเครื่องประดับทองและเครื่องประดับแพลทินัมซึ่งสามารถสะสมเป็นสินทรัพย์ได้แทน นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออกเครื่องประดับเงินในไทยยังได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการค้ากับบรรดาตัวแทนการค้าในตลาดสหรัฐฯ มีการยกเลิกการวางจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลีกถึง 450 แห่งในสหรัฐฯ และ 130 แห่งในแคนาดา ยิ่งซ้ำเติมให้มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง

   
แผนภาพที่ 2 มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2554-2559
ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 
ความสามารถในการแข่งขันเครื่องประดับทองไทยในตลาดสหรัฐฯ ลดลงเรื่อยๆ

ไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องประดับทองอันดับ 5 ของสหรัฐฯ รองจากอินเดีย จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี ตามลำดับ ซึ่งส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับทองของไทยลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5 ในปี 2558 ขณะเดียวกันเครื่องประดับทองระดับไฮเอนด์ของฝรั่งเศสและอิตาลีมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าจากประเทศทั้งสองนี้มีจุดเด่นด้านดีไซน์ที่สวยงามมีเอกลักษณ์ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ผนวกกับผู้ประกอบการต่างมีกลยุทธ์รุกตลาดสหรัฐฯ รูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าของตน โดยในปี 2558 ฝรั่งเศสและอิตาลีมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11 และ 8 ตามลำดับ ขณะที่อินเดียยังครองความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในการส่งออกเครื่องประดับทองไปสหรัฐฯ มาโดยตลอด จากศักยภาพของอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีการพัฒนามายาวนาน พร้อมปรับรูปแบบสินค้าให้มีความทันสมัยตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น และมีกลยุทธ์รุกตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้อินเดียมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23 ในปี 2558 สำหรับจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 สามารถรุกตลาดสหรัฐฯ ได้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความได้เปรียบที่สามารถออกตัวได้เร็วเมื่อมีคำสั่งซื้อจำนวนมาก ผลจากการมีวัตถุดิบที่ครบครันและราคายังถูกกว่า อีกทั้งจีนยังได้พัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์และมุ่งทำการตลาดระดับกลางและบนมากขึ้น ทำให้ในปี 2558 จีนมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 1 

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 อินเดียยังคงเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯ แม้จะมีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20 แต่เป็นผลมาจากอินเดียมีการส่งออกเครื่องประดับทองมากในช่วงปลายปี โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับทองของอินเดียไปยังสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 40 จะกระจุกตัวในช่วงเดือน กย.-ธค.ของทุกปี ทำให้คาดว่าส่วนแบ่งตลาดรวมทั้งปี 2559 ของอินเดียจะเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนและฝรั่งเศสมีส่วนแบ่งตลาดเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 12 อิตาลีมีสัดส่วนร้อยละ 9 และไทยมีสัดส่วนร้อยละ 7
 

 

 แผนภาพที่ 3 สัดส่วนการนำเข้าเครื่องประดับทองของสหรัฐฯ จากแหล่งนำเข้าสำคัญ ปี 2549-2559

ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


ด้านการส่งออกเครื่องประดับทองของไทยไปยังสหรัฐฯ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ น้อยลงจากช่วงก่อนหน้าที่ไทยเคยส่งออกได้ราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากพิจารณาในแง่ปริมาณการส่งออกพบว่าไทยส่งออกได้น้อยลงเป็นลำดับ สาเหตุสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ประกอบกับราคาทองคำที่ผันผวนอยู่ในระดับสูงมาตั้งแต่ปี 2554ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อเครื่องประดับทองของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เบาบางลงไป หากไม่นับรวมกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเครื่องประดับทองเพื่อการลงทุนที่ยังคงมีอยู่ในช่วงที่ราคาทองคำสูง แต่พฤติกรรมการบริโภคเครื่องประดับของชาวอเมริกันก็มี การเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยหันมานิยมเครื่องประดับทองที่มีกะรัตต่ำลง อีกทั้งให้ความสนใจเครื่องประดับจากโลหะประเภทอื่นแทน ซึ่งในภาวะเช่นนี้ประเทศผู้ส่งออกต่างพากันแย่งชิงพื้นที่ส่วนแบ่งตลาดในตลาดสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ยิ่งกดดันการส่งออกเครื่องประดับทองของไทยเพิ่มขึ้นด้วย
 

แผนภาพที่ 4 มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับทองของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2554-2559
ที่มา: Global Trade Atlas ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 
แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย

ด้วยสถานภาพการส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งรายต่างๆ ในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวในปี 2559 แต่ก็เป็นไปอย่างเปราะบาง ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของตน พัฒนาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและการออกแบบสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า อีกทั้งการหันไปเน้นการทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงหรือ Niche Market มากขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้บริโภคเดิมที่ปัจจุบันมีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ การทำตลาดเชิงรุกที่เน้นการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่หลายแบรนด์สินค้าให้ความสำคัญ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพสูงในการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนเป็นช่องทางที่ช่วยให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถค้นหาสินค้าใหม่ๆ ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าโดยตรงเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงรูปแบบสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย ช่องทางออนไลน์นี้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันรุ่นใหม่ที่สนใจการจับจ่ายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการสินค้าที่มีความแตกต่าง มักให้ความสนใจกับเรื่องราวและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า โดยผู้ประกอบการไทยอาจฝากขายสินค้าของตนในเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวสินค้าให้มีความน่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวและนำกลยุทธ์เหล่านี้ไปพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ ความหวังที่เครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองของไทยจะยังสามารถครองตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืนก็คงเป็นไปได้ไม่ยาก
 
* ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์คุณวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ในคอลัมน์ “ผ่าทางตัน...อนาคตเครื่องประดับเงินในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง”
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที