แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ในด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประชาชนภายในประเทศนั้น ถือว่ากาตาร์อยู่ในระดับแนวหน้า ด้วยมูลค่ารายได้ต่อคนต่อปีที่สูงที่สุดในโลกหรือเท่ากับ 132,098.69 เหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง โดยคาดว่าปี 2559 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.401 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศในกลุ่ม GCC รายได้ส่วนใหญ่ของกาตาร์มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกรวม และคิดเป็นกว่ากึ่งหนึ่งของรายได้ในภาครัฐ ปัจจุบันกาตาร์มีปริมาณน้ำมันสำรองกว่า 25 พันล้านบาร์เรล ซึ่งคาดว่าจะสามารถขุดเจาะได้อีกราว 56 ปี และปริมาณก๊าซธรรมชาติกว่า 25 ล้านล้านคิวบิกเมตร หรือประมาณร้อยละ 13 ของปริมาณสำรองทั่วโลก และมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน ตามลำดับ
ทั้งนี้ กาตาร์ได้เพิ่มบทบาทในภาคธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการพึ่งพาภาคธุรกิจด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อาทิ ภาคการลงทุนและการบริการด้านการเงิน โดยลงทุนผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Qatar Sovereign Wealth Fund) ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีขนาดใหญ่กว่า 1.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกองทุนนี้ได้กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ และนำความมั่นคงทางการเงินมาสู่กาตาร์ได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลกาตาร์สามารถบริหารจัดการความมั่งคั่งของประเทศได้อย่างยั่งยืนและยังสามารถจัดสรรสวัสดิการที่ดีเยี่ยมไปสู่ประชาชนได้อย่างถ้วนหน้า
ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในกาตาร์
กาตาร์เป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่มีความสำคัญสำหรับไทย โดยปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศในแถบตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล ตามลำดับ ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่ม GCC โดยครึ่งปีแรกของปี 2559 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังกาตาร์กว่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 15.50 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปยังกลุ่ม GCC และมีแนวโน้มเติบโตได้เป็นอย่างดี คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 32.84 โดยเกือบทั้งหมดเป็น การส่งออกเครื่องประดับทอง จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญในตลาดตะวันออกกลางให้ข้อมูลว่า เครื่องประดับจากไทยส่งไปกาตาร์นั้น ส่วนมากมีลักษณะเป็นเซตขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่าหลายกะรัต จึงมักเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นไปตามรสนิยมและความชอบของชาวกาตาร์ซึ่งมีฐานะดี ที่แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีศักยภาพในการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ในกาตาร์ ทั้งนี้ เครื่องประดับสำหรับกลุ่มดังกล่าวมีทั้งเครื่องประดับรูปแบบเป็นเครื่องประดับทองสไตล์อาหรับ 21 กะรัต มักใช้ในพิธีแต่งงาน ส่วนเครื่องประดับสําหรับสวมใส่ประจําวันมักเป็นเครื่องประดับทอง 18 กะรัต ที่มีรูปแบบทันสมัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคที่มีบทบาทสำคัญที่สุด คือ สตรี โดยผู้ชายจะไม่นิยมสวมใส่เครื่องประดับเฉกเช่นชายอาหรับโดยทั่วไป แต่อาจจะมีเพียงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวที่ตกแต่งด้วยอัญมณี เช่น ปากกาและนาฬิกาฝังเพชร เป็นต้น
แม้ชาวกาตาร์ที่มีฐานะอันมั่งคั่งจะชื่นชอบการเดินทางไปพักผ่อนและเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับด้วย แต่ภายในประเภทศเองก็มีร้านจำหน่ายเครื่องประดับที่ทั้งเป็นแบรนด์ของกาตาร์ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าและเครื่องประดับแบรนด์เนมอื่นๆ ด้วย ถือว่าได้รับความนิยมจากผู้ซื้อภายในประเทศไม่แพ้กัน โดยตัวอย่างของร้านจำหน่ายหรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวในกาตาร์ ได้แก่ บริษัท Ali Bin Ali และ Al Fardan ซึ่งทั้งสองรายนี้ถือเป็นผู้จำหน่ายที่มีบทบาทสูงสุดในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของกาตาร์ ทั้งนี้ เนื่องจากค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับสูง บริษัทผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งรายเล็กและรายใหญ่จึงมักที่จะนำเข้าหรือสั่งผลิตสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ หรือบางรายอาจจะมีเพียงส่วนเวิร์คชอปเล็กๆ เพื่อทำการประกอบตัวเรือน หรือ ซ่อมแซมตัวเรือนสินค้าเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการบริการลูกค้าของตนเท่านั้น ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ผลิตเครื่องประดับในระดับบนของไทยที่น่าจะผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อในกาตาร์และมีศักยภาพในการเข้าตลาดนี้ได้
ทำอย่างไร หากสนใจตลาดกาตาร์
หากผู้ประกอบการไทยเล็งเห็นศักยภาพของกาตาร์และสนใจที่จะขยายโอกาสและลู่ทางธุรกิจในตลาดกาตาร์ด้วยแล้ว ควรหาโอกาสไปเยือนงานแสดงสินค้า Doha Jewellery & Watches Exhibition (http://www.djwe.qa) ซึ่งปกติจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ณ Doha Exhibition and Convention Center งานดังกล่าวนี้จะเป็นการจัดแสดงสินค้าในระดับไฮเอนด์และมีแบรนด์เนมต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก รวมถึงผู้ประกอบการชาวกาตาร์ โดยผู้ประกอบการไทยอาจเข้าไปร่วมชมงานและหาโอกาสทางธุรกิจไปด้วย รวมถึงหากมีโอกาสควรไปสำรวจตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในกรุงโดฮา โดยเฉพาะในตลาดค้าทอง (Gold Souk) และห้างสรรพสินค้าที่สำคัญ อาทิ ห้าง Villaggio, City Center และ Landmark Shopping Center เป็นต้น เพื่อได้ทราบถึงสภาพตลาดการค้าปลีกและพฤติกรรมการบริโภคที่แท้จริงของชาวกาตาร์ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบสินค้าและต่อยอดทางธุรกิจต่อไปได้
การที่จะเข้าไปทำธุรกิจในกาตาร์ได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นคนกาตาร์ท้องถิ่นที่ดี เนื่องจากประเทศกาตาร์ยังไม่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการต่างชาตินัก นอกจากนี้ การดำเนินงานจะต้องดำเนินการผ่านชาวกาตาร์หรือระบบSponsorship เท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมีพาร์ทเนอร์หรือคู่ค้าที่ไว้ใจได้ โดยก่อนการเดินทางไปยังกาตาร์ ควรที่จะศึกษาและเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติประเพณี แนวปฏิบัติทางศาสนา และวิถีชีวิตของชาวกาตาร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของคนตะวันออกกลางโดยทั่วไป อาทิ ควรแต่งกายให้สุภาพและมิดชิด โดยเฉพาะกรณีของสตรี รวมถึงไม่ควรถ่ายรูปในสถานที่ที่ห้ามถ่ายรูปหรือสตรีท้องถิ่น รวมทั้งผู้อาวุโส เป็นต้น ทั้งนี้ หากได้พบพาร์ทเนอร์ชาวกาตาร์ที่เหมาะสมและมีความพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว ควรธำรงรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจไว้ให้ดีที่สุด เพราะสิ่งนั้นหมายถึงความสำเร็จในระยะยาว และเขามักจะไม่เปลี่ยนใจจากคุณไปหาคู่ค้าใหม่ๆ โดยง่าย ซึ่งเป็นสไตล์ในการดำเนินธุรกิจของชาวกาตาร์หรือชาวอาหรับในแถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่นั่นเอง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับกาตาร์ § แม้เป็นประเทศที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเพียง 45 ปี (นับตั้งแต่ปี 2514) แต่ถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนามาอย่างก้าวกระโดดภายใต้การนำของกษัตริย์องค์ก่อน ต่อมาได้ทรงสละราชบัลลังก์เปิดทางให้พระราชโอรส (กษัตริย์องค์ปัจจุบัน) ซึ่งขณะนี้ทรงมีพระชนมายุ 36 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์แทน จึงถือเป็นกษัตริย์ที่อายุน้อยที่สุดของประเทศในแถบตะวันออกกลาง § การที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2565 ทำให้ปัจจุบันต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งน่าจะนำพาความเจริญต่างๆ มาสู่ประเทศมากขึ้น § ภายในประเทศมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ โดยเป็นการถมทะเลบริเวณที่ไม่ห่างจากแผ่นดินใหญ่เท่าใดนัก (คล้ายกับ The Palm ของดูไบ) เรียกว่า “The Pearl Qatar” มีพื้นที่กว่า 4 ล้านตารางเมตร ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองได้ร้อยเปอร์เซนต์ ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จบางส่วน และน่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบราวปี 2561 สะท้อนการเตรียมพร้อมที่จะเปิดประเทศมากขึ้นของกาตาร์ในอนาคตอันใกล้นี้ § ปกติชาวกาตาร์จะเคร่งครัดศาสนาและอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง จึงมักเป็นนักธุรกิจที่มีความรอบคอบ มีความละเอียดพิถีพิถันในการเจรจาต่อรอง ดังนั้น ควรเตรียมรายละเอียดแผนงานโครงการที่เป็นรูปธรรมไปนำเสนอด้วย |
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2559
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที