นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระหว่างวันที่ 14-16 กันยายนที่ผ่านมา และได้เข้าพบกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล และนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ หลายราย โดยได้มีการหารือประเด็นสิทธิมนุษยชน และการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเมียนมาเพิ่มเติม หลังจากนั้นผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศเตรียมยกเลิกการคว่ำบาตรให้แก่เมียนมาในเร็วๆ นี้ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประเทศของเมียนมาที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมทั้งจะเพิ่มเมียนมาเข้าไปในบัญชีประเทศกำลังพัฒนาที่ได้สถานะพิเศษทางการค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าจากเมียนมาส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้ากว่า 5,000 รายการ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเมียนมามากว่า 20 ปี ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาได้ยกเลิกมาตรการบางส่วนไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในเรื่องใดบ้าง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกกฎหมาย Jade Act 2008 ที่ได้บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญห้ามนำทับทิมและหยกจากเมียนมารวมถึงเครื่องประดับที่มีทับทิมและหยกจากเมียนมาเข้ามายังสหรัฐฯ ทั้งจากเมียนมาโดยตรงและผ่านประเทศที่สาม เนื่องจากธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของเมียนมาถูกมองว่าเป็นแหล่งระดมทุนของรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศแบบเผด็จการ และมีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ แต่หลังจากเมียนมาได้มีการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ทำให้สหรัฐฯ เริ่มกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเมียนมาและส่งสัญญาณปลดล็อคมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่เมียนมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเมียนมาอาจจะต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามที่จะทำให้ไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิ-มนุษยชนในประเทศ โดยการทำให้ธุรกิจเหมืองอัญมณีมีความโปร่งใส และกำจัดปัญหายาเสพติดและการกดขี่แรงงานในเหมือง จึงจะนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรซึ่งรวมถึงกฎหมาย Jade Act ฉบับนี้ได้เร็วขึ้น
ก่อนที่สหรัฐฯ จะบังคับใช้กฎหมาย Jade Act 2008 การซื้อขายทับทิมส่วนใหญ่ในโลกเป็นทับทิมที่มาจากเมียนมา แต่หลังจากสหรัฐฯ ใช้กฎหมายนี้แล้ว ยังชักชวนประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ให้ต่อต้านการนำเข้าทับทิมและหยกจากเมียนมาด้วย ซึ่งส่งผลให้ทับทิมเมียนมาในตลาดโลกลดลง และไทยในฐานะคู่ค้าอัญมณีที่สำคัญของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออกทับทิมเจียระไนไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยมูลค่าการส่งออกทับทิมเจียระไนไปสหรัฐฯ
ปีก่อนหน้าบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ มีมูลค่าสูงสุดราว 1,000 ล้านบาท แต่ปรับลดลงเหลือราว 200 ล้านบาทในปี 2552 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ทดแทน
แม้ว่าสหรัฐฯ จะใช้กฎหมาย Jade Act กับเมียนมา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว นักธุรกิจสหรัฐฯ ก็ยังคงติดต่อซื้อขายพลอยสีกับพ่อค้าเมียนมา หรือซื้อจากบุคคลที่สามผ่านฮ่องกงและนำกลับเข้าไปยังสหรัฐฯ กรณีสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดกับเมียนมารวมถึง Jade Act นอกจากจะส่งผลให้พ่อค้าเมียนมาสามารถขายอัญมณีกับสหรัฐฯ ได้อย่างเปิดเผยแล้ว ยังน่าจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกพลอยสีจากไทยอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากตามกฎหมายเมียนมาปัจจุบันกำหนดให้การส่งออกทับทิมและหยกของเมียนมานั้นเป็นแบบก้อนที่ผ่านการตัดหรือโกลนเท่านั้น ห้ามส่งออกพลอยสีและหยกที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน อีกทั้งเมียนมายังมีจุดอ่อนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอัญมณีไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพ การเจียระไน การออกแบบ และการผลิตเครื่องประดับที่ล้าหลังอยู่มาก จึงถือเป็นโอกาสของไทยที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีฝีมือในการเผาพลอย การเจียระไน และการผลิตเครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยนำเข้าทับทิมจากเมียนมาเพื่อมาเผาและเจียระไนใหม่ให้สวยงาม รวมถึงผลิตเครื่องประดับตกแต่งทับทิมที่มีดีไซน์ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ก็จะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทับทิมเมียนมามีข้อจำกัดในเรื่องของการนำวัตถุดิบออกจากเหมือง จึงทำให้มีปริมาณทับทิมในตลาดน้อย ส่งผลให้ทับทิมของเมียนมามีราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะทับทิมคุณภาพต่ำถึงปานกลางมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับทับทิมจากโมซัมบิก ซึ่งมีผลทำให้ตลาดต้องการทับทิมคุณภาพต่ำถึงปานกลางจากเมียนมาน้อยลง ขณะที่ทับทิมจากโมซัมบิกได้รับความนิยมมากขึ้น ในส่วนของทับทิมคุณภาพสูงของเมียนมานั้นยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่ ซึ่งแม้มีราคาแพงก็ยังสามารถขายได้ ฉะนั้น ในส่วนของการทำตลาดทับทิมจากเมียนมานั้น ไทยจึงควรเก็บทับทิมคุณภาพต่ำถึงปานกลางไว้ก่อนและรอขายเมื่อมีราคาใกล้เคียงกับทับทิมโมซัมบิก และหันมามุ่งเน้นการทำตลาดระดับบนแทน
นอกจากนี้ การยกเลิก Jade Act ของสหรัฐฯ ก็จะยิ่งทำให้ทั้งจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ เร่งรุกเข้าถึงวัตถุดิบอัญมณีเมียนมามากขึ้น โดยปัจจุบันทั้งสองประเทศนี้ก็ได้เข้าไปติดต่อซื้อขาย อัญมณีถึงหน้าเหมืองในเมียนมาโดยตรงอยู่แล้ว ฉะนั้น หากไทยไม่รีบเข้าไปในเมียนมา ก็จะทำให้ได้ทับทิมคุณภาพดีมาอยู่ในมือน้อยลง อย่างไรก็ตาม ทับทิมของเมียนมาบางส่วนต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ รวมถึงการเจียระไนให้สวยงาม ซึ่งทั้งจีนและอินเดียยังต้องพึ่งพาไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ นอกจากจีนและอินเดียจะพยายามช่วงชิงวัตถุดิบเมียนมากับไทยแล้ว ยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในการผลิตเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีอีกด้วย โดยภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศต่างพัฒนาการผลิตจนสามารถผลิตเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับบน อีกทั้งยังมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าไทย ส่งผลให้สินค้าในระดับเดียวกันมีราคาถูกกว่า ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ได้
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้และ/หรือหลังสหรัฐฯ ยกเลิก Jade Act เมียนมาอาจจะออกนโยบายส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัญมณีมากขึ้น ทั้งเรื่องการเจียระไนพลอยสีก่อนการส่งออก และการผลิตเครื่องประดับตกแต่งอัญมณี เพื่อจะได้สร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมอัญมณีไทยในการได้มาซึ่งวัตถุดิบพลอยสี ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นคู่ค้าอัญมณีกับชาวเมียนมามาอย่างยาวนาน เร่งแสวงหาพันธมิตรเมียนมาที่ดีหรือร่วมทุนในการทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในเมียนมา ก็อาจมีส่วนช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบในเมียนมาได้ง่ายขึ้น ทำให้มีอัญมณีหลากหลายไหลเข้ามายังประเทศไทย เกิดเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2559
--------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิงจาก:
1) โอบามาเปิดทำเนียบขาวรับซูจี, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (15 กันยายน 2559)
2) สหรัฐอเมริกาเตรียมยกเลิกคว่ำบาตรเมียนมา, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ (วันที่ 15 กันยายน 2559)
3) กฎหมายห้ามนำเข้าทับทิมและหยกจากพม่าไปยังสหรัฐอเมริกา (JADE ACT 2008), สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
4) การปฏิรูปในพม่า...ผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมพลอยสีไทย, สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที